svasdssvasds

ย้อนรอยรัฐสภาเกาหลีใต้ ปลดประธานาธิบดี 3 คน 1 ในนั้นคือ ยุน ซอกยอล

ย้อนรอยรัฐสภาเกาหลีใต้ ปลดประธานาธิบดี 3 คน 1 ในนั้นคือ ยุน ซอกยอล

ย้อนรอยรัฐสภาเกาหลีใต้ ปลดประธานาธิบดี 3 คน 1 ในนั้นคือ ยุน ซอกยอล ลูกผู้นำเผดฌจการก็โดน อีกคนมือสะอาดแต่ภรรยาและหลานเอี่ยวคดี

SHORT CUT

  • การเมืองเกาหลีใต้มีความผันผวนสูง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึง 3 คนโดยรัฐสภาปลด
  • ยุน ซอก-ยอล ถูกถอดถอน 2 ครั้ง พัค กึน-ฮเย ถูกจำคุกจากคดีทุจริต ส่วน โน มูฮยอน ฆ่าตัวตายหลังถูกสอบสวนคดีรับสินบน
  • ทั้ง พัค กึน-ฮเย และ โน มูฮยอน ต่างถูกกล่าวหาในคดีทุจริต คดีความเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบการเมือง

ย้อนรอยรัฐสภาเกาหลีใต้ ปลดประธานาธิบดี 3 คน 1 ในนั้นคือ ยุน ซอกยอล ลูกผู้นำเผดฌจการก็โดน อีกคนมือสะอาดแต่ภรรยาและหลานเอี่ยวคดี

การเมืองเกาหลีใต้ระอุอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 นับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ที่เผชิญกับการถอดถอน เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก หลังจากประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม

โดยประธานาธิบดีเกาหลีที่เคยรัฐสภาปลดมีรายชื่อดังต่อไปนี้ คือ

ยุน ซอก-ยอล 

ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนเป็นครั้งที่สอง โดยได้รับเสียงสนับสนุน 204 ต่อ 85 เสียง กระบวนการถัดไปคือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับประวัติ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีคนที่ 20 ของเกาหลีใต้ มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ ตั้งแต่การเป็นอัยการมือเหล็ก ผู้เปิดโปงการทุจริตของนักการเมืองระดับสูง จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ
จุดเริ่มต้นในสายกฎหมาย

ยุน ซอก-ยอล เกิดในกรุงโซล เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2503 เขาจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และเริ่มรับราชการเป็นอัยการในปี 2537 แม้จะเคยผันตัวไปเป็นทนายความช่วงสั้นๆ ในปี 2545 แต่สุดท้ายเขาก็กลับมารับใช้ชาติในสำนักงานอัยการอีกครั้ง

ชื่อของ ยุน ซอก-ยอล เริ่มเป็นที่รู้จัก ในฐานะอัยการผู้กล้าหาญ ตรวจสอบนักการเมืองระดับสูง และนักธุรกิจรายใหญ่ เขาโดดเด่นในหลายคดีสำคัญ เช่น

ปี 2556: นำทีมสอบสวนหน่วยข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ (National Intelligence Service) กรณีเจ้าหน้าที่โพสต์ความเห็นออนไลน์บิดเบือนข้อมูล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นางปาร์ค กึน-เฮ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ปี 2560: เป็นแกนนำทีมทนายความอิสระ เปิดโปงคดีทุจริตของนางปาร์ค กึน-เฮ และนางชเว ซุน-ซิล จนนำไปสู่การถอดถอนนางปาร์คออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
จากอัยการ สู่นักการเมือง

หลังจากประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ขึ้นรับตำแหน่ง ยุน ซอก-ยอล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานอัยการประจำกรุงโซล ในปี 2560 และก้าวขึ้นเป็นอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้ในปี 2562 ต่อมาในปี 2564 ยุนลาออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด และประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเข้าร่วมพรรคพีเพิล พาวเวอร์ และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 20 ของเกาหลีใต้

พัค กึน-ฮเย

พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกและคนเดียวของเกาหลีใต้ ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนในปี 2559 เนื่องจากเรื่องอื้อฉาวการทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางมิชอบ เธอถูกศาลตัดสินจำคุก 24 ปีในปี 2561 แต่ได้รับการอภัยโทษในปี 2564

โดยพัค กึน-ฮเย สตรีผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ แต่ชีวิตของเธอพลิกผันจากจุดสูงสุดของอำนาจ สู่การถูกตัดสินจำคุกจากคดีทุจริตอื้อฉาว บทความนี้นำเสนอเส้นทางชีวิตอันน่าสนใจของเธอ ตั้งแต่บทบาทบุตรีผู้นำ สู่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขของประเทศ และจุดจบอันน่าเศร้าในเรือนจำ

บุตรีผู้นำ: พัค กึน-ฮเย เกิดในครอบครัวผู้นำ เธอเป็นบุตรสาวของ พัค จุง-ฮี อดีตประธานาธิบดีผู้ทรงอิทธิพล เธอต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อมารดาของเธอถูกลอบสังหารในปี 2517 ทำให้เธอต้องรับหน้าที่สตรีหมายเลขหนึ่งเคียงข้างบิดาในวัยเพียง 22 ปี

เส้นทางการเมือง: หลังจากบิดาถูกลอบสังหารในปี 2522 พัค กึน-ฮเย ก็ห่างหายจากการเมืองไประยะหนึ่ง ก่อนจะกลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้งในปี 2541 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เธอลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2550 แต่พรรคของเธอเลือกส่งผู้สมัครคนอื่นแทน อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเธอสัมฤทธิ์ผลในที่สุด เมื่อเธอชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2555

จุดสูงสุดและจุดตกต่ำ: ชัยชนะของ พัค กึน-ฮเย ถือเป็นการทำลายเพดานแก้วทางการเมืองในสังคมเกาหลีใต้ เธอประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสร้างความปรองดองกับเกาหลีเหนือ แต่แล้วเรื่องอื้อฉาวก็เกิดขึ้นในปี 2559 เมื่อเธอถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ ชเว ซุน-ซิล เพื่อนสนิท เข้าแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน

คดีทุจริต: พัค กึน-ฮเย ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับ ชเว ซุน-ซิล ในการเรียกรับสินบนจากบริษัทต่างๆ รัฐสภาลงมติถอดถอนเธอในปี 2559 และศาลรัฐธรรมนูญรับรองมติดังกล่าวในปี 2560 เธอถูกตัดสินจำคุก 24 ปี ในข้อหาทุจริต ใช้อำนาจในทางมิชอบ และรับสินบน ต่อมาศาลลดโทษเหลือ 20 ปี และเธอได้รับการอภัยโทษในปี 2564

โน มูฮยอน

โน มูฮยอน ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนในปี 2547 แต่ศาลรัฐธรรมนูญพลิกคำตัดสิน หลังจากนั้นโนห์ถูกสอบสวนข้อหารับสินบน และตัดสินใจฆ่าตัวตายในปี 2552

โดย โน มูฮยอน เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2489  เสียชีวิต 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้คนที่ 9 ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2546–2551 เขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในภาพลักษณ์นักการเมืองมือสะอาด เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเป็นทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เขาได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายที่ภูเขาในบ้านเกิดและเสียชีวิต ขณะอายุได้ 62 ปี เนื่องจากอับอายที่ตัวเองถูกสอบสวนในคดีที่ภรรยาและหลานชายรับสินบน

ผลกระทบต่อตลาดหุ้น

การถอดถอนประธานาธิบดีทั้งสองครั้งก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ผันผวนอย่างหนัก ในกรณีของโนห์ มูฮยอน ดัชนี Kospi ร่วงลงมากกว่า 20% ในกรณีของพัค กึน-ฮเย ดัชนี Kospi พุ่งขึ้นมากกว่า 20% ในช่วง 6 เดือนหลังการถอดถอน

การถอดถอนประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดอนาคตทางการเมืองของยุนและประเทศ การเมืองเกาหลีใต้ยังคงผันผวน และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรในระยะยาว

อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ1 / กรุงเทพธุรกิจ 2 / BBC / ประชาไท /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง