SHORT CUT
ใครๆ ก็รู้ว่าเชียงใหม่คือฐานที่มั่นของทักษิณ เปรียบเสมือนบ้านที่ต้องรักษาไว้ให้มั่นคง แต่การเลือกตั้งปี 2566 พิสูจน์แล้วว่า "ส้ม" สามารถตีท้ายครัว "แดง" ได้ชัยชนะ 7 ที่นั่งของก้าวไกลในเชียงใหม่ เป็นสัญญาณเตือนว่าอำนาจของเพื่อไทยกำลังสั่นคลอน
ในอดีตยุครุ่งเรืองของทักษิณ พรรคไทยรักไทยกวาด สส. เชียงใหม่ได้เกือบทั้งหมด "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ คือ คีย์แมนสำคัญที่ช่วยให้ทักษิณครองใจชาวเชียงใหม่ได้ แต่การรัฐประหาร การแตกแยกภายใน และการถอยห่างของพันธมิตร ทำให้บารมีของทักษิณลดลง
การเลือกตั้ง นายก อบจ. เชียงใหม่ คือ ศึกวัดพลังระหว่าง "เก่า" และ "ใหม่" ทักษิณ แสดงชัดเจนว่าสนามนี้ "แพ้ไม่ได้" ขณะที่ก้าวไกลหรือพรรคประชาชนเอง ก็ต้องการพิสูจน์ว่า พวกเขาสามารถทำงานในระดับท้องถิ่นได้ดี ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองเชียงใหม่ในอนาคต
เชียงใหม่หลังบ้านทักษิณ ที่ไม่ยอมให้ใครตีท้ายครัว ในวันที่ถูกพรรคส้มท้าทายและระวังหลังพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
เชียงใหม่ เปรียบเสมือน หลังบ้าน ของทักษิณ ถ้าอุดรธานีคือ หลวง ของเสื้อแดง เชียงใหม่ก็คือ บ้าน ที่ทักษิณจะต้องรักษาไว้ให้มั่น
ก่อนยุคทักษิณ เชียงใหม่ไม่ได้มีตระกูลใดครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ มีทั้งตระกูล ณ เชียงใหม่ ตระกูลชุติมา และตระกูลชินวัตร ที่ต่างก็มีบทบาททางการเมือง
แม้แต่ในยุครุ่งเรืองของทักษิณ การเมืองเชียงใหม่ก็ยัง สลับซับซ้อน มีกลุ่มอิทธิพลย่อยๆ มากมาย
ปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์เคยครองเสียงข้างมากในเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเชียงใหม่ ผันผวน ตลอดเวลาตระกูลชินวัตร เริ่มสร้างฐานอำนาจในเชียงใหม่ตั้งแต่ยุค เลิศ ชินวัตร และสุรพันธ์ ชินวัตร
เยาวลักษณ์ ชินวัตร เคยเป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้าง เครือข่ายทางการเมือง ในพื้นที่
ยุค ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย กวาด สส. เชียงใหม่ ได้เกือบทั้งหมด โดยมี เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นบุคคลสำคัญดูแลมุ้งวังบันบาน
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกล ตีท้ายครัว ชนะการเลือกตั้งในเชียงใหม่ ถึง 7 เขต เป็นสัญญาณเตือนว่าฐานเสียงของเพื่อไทย สั่นคลอน
สนาม อบจ. เชียงใหม่ กลายเป็นสมรภูมิสำคัญ ที่ทักษิณ แพ้ไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการ รักษาอำนาจ ในพื้นที่การต่อสู้ระหว่าง "เก่า" และ "ใหม่" ในเชียงใหม่ จึงน่าจับตามอง ใครจะเป็นผู้ชนะในศึกครั้งนี้?
อันที่จริงแล้วเชียงใหม่เดิมนั้น ไม่ได้ผูกขาดโดยตระกูลชินวัตร หรือ ทักษิณ สักทีเดียว เพราะปรากฏมีถึง 3 ตระกูลใหญ่ที่ครองอำนาจมาก่อนไม่ว่าจะเป็น ณ เชียงใหม่ โดยมีนักการเมืองที่โดดเด่นของตระกูลหลายคน ได้แก่ เจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่, เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่, ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ และกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่
หรือเครือข่ายของตระกูล “ชุติมา” ที่มี สส. หลายสมัยประกอบด้วย สุวิชช พันธเศรษฐ (สกุลเดิม ชุติมา), ทองดี อิสราชีวิน (สกุลเดิม ชุติมา), ชัชวาล ชุติมา และไกรสร ตันติพงศ์ (บุตรของนางทองสุก ชุติมา) โดย ไกรสร ถือว่าเป็น สส. จากตระกูลชุติมา ที่เป็นแชมป์ครองตำแหน่ง สส. มากที่สุดในเชียงใหม่ถึง 7 สมัยเลยทีเดียว
สุดท้ายคือตระกูลชินวัตร ที่มี เลิศ ชินวัตร บิดาของ ทักษิณ ที่ค่อยๆ แผ้วถางทางการเมืองในเชียงใหม่จากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง สมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ (สจ.) และค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติได้เป็น สส. สมัยแรกในปี พ.ศ. 2512 ก่อนที่น้องชายอย่าง สุรพันธ์ ชินวัตร จะก้าวเข้าสู่สนามการเมืองได้รับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2519
จะเห็นได้ว่าเชียงใหม่ในยุคแรกๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่ได้มีตระกูลใดตระกูลหนึ่งผูกขาด ขณะเดียวกันตระกูลชินวัตรเองก็ไม่ได้เป็นตระกูลหนึ่งเดียวในเชียงใหม่ด้วยซ้ำไป ดังคำสัมภาษณ์ของ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยสัมภาษณ์กับ The Momentum ว่าด้วยเรื่องการเมืองเชียงใหม่ จากอดีตถึงปัจจุบันว่า
“เชียงใหม่มีระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่าที่จะมีใครมาผูกขาดทรัพยากรได้ทั้งหมด…ตระกูลชินวัตรเองก็พยายามที่จะเข้าไปเชื่อมกลุ่มที่มีอิทธิพลย่อย ๆ อย่างในชุมชน ก็จะมีคนผูกขาดทรัพยากรอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ผูกขาดทั้งจังหวัด แบบจังหวัดเล็กๆ ทักษิณเองก็อยากจะไปเชื่อมกับคนพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ไม่ใช่ตัวชี้ขาด นโยบายของเขาต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาดทั้งหมด”
ในปัจจุบันภาพเชียงใหม่คือเมืองของเสื้อแดงหรือพรรคไทยรักไทยถึงพรรคเพื่อไทย แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งเชียงใหม่ เคยมี สส. จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคคู่แค้นของเพื่อไทยเคยคุมพื้นที่เชียงใหม่มาก่อน
โดยในปี พ.ศ. 2518 สส. จากพรรคประชาธิปัตย์มี สส. ที่ได้รับเลือกตั้งในจังหวัดเชียงใหม่ถึง 4 คนได้แก่ ทองดี อิสราชีวิน, ไกรสร ตันติพงศ์, อารีย์ วีระพันธุ์, ส่งสุข ภัคเกษม ยุคดังกล่าวถือว่าประชาธิปัตย์มี สส. มากที่สุดในเชียงใหม่ เพราะในยุคนั้นเชียงใหม่มี สส. ทั้งหมด 6 คน ประชาธิปัตย์สามารถกวาดไปได้ถึง 4 ที่นั่ง
แต่ในเวลาต่อมาประชาธิปัตย์ก็ค่อยๆ ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากเดิมที่มี สส. มากที่สุด ก็ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ. 2455 เหลือเพียง ยงยุทธ สุวภาพ เป็นประชาธิปัตย์หนึ่งเดียวในเชียงใหม่จากทั้งหมด 10 ที่นั่ง โดยที่เหลือเป็น สส. จากพรรคไทยรักไทยทั้งหมด
ในปี พ.ศ. 2519 เลิศ ชินวัตร ประกาศวางมือจากการเมือง แต่ได้ส่งลูกสาวคนโต เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่
ขณะเดียวกัน สุรพันธ์ ชินวัตร ก็ยังโลดแล่นอยู่ในการเมืองเชียงใหม่อยู่โดยตัวเขาเป็น สส. และได้กลายเป็น รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ผลักดันคนในตระกูล ชินวัตร ให้เล่นการเมืองเรื่อยมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เยาวลักษณ์ ชินวัตร พี่สาวคนโตของ ทักษิณ ที่รับการผลักดันจากอาของเธอให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แต่ก็สอบตก
สะท้อนให้เห็นว่าตระกูลชินวัตรนั้นวนเวียนในการเมืองระดับท้องถิ่นระดับชาติ พยายามผลักดันคนในตระกูลของตัวเองเรื่อยมา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตระกูลชินวัตรจะสามารถครองใจคนเชียงใหม่ได้ตลอดเวลา
ถึงแม้รุ่นพ่อรุ่นอาของ ทักษิณ จะไม่สามารถครองใจชาวเชียงใหม่ได้ทั้งหมด แต่กระนั้นในยุคที่เขาก้าวสู่สนามการเมืองระดับชาตินโยบายที่ทันสมัย และน่าตื่นเต้นของเขาไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรคหรือนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จับต้องได้
ทำให้ปี พ.ศ. 2544 แบรนด์ ทักษิณ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากทั่วประเทศรวมถึงเชียงใหม่ด้วย โดยพรรคไทยรักไทยภายใต้ร่มธงของ ทักษิณ สามารถกวาด สส. ได้เกือบทั้งจังหวัด ขณะเดียวกันปี พ.ศ. 2548 เชียงใหม่ทั้ง 10 เขตได้กลายเป็นที่นั่ง สส. ของพรรคไทยรักไทยทั้งหมด
โดยในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นยุคที่ ทักษิณ ผงาด แต่การก้าวสู่ความสำเร็จของเขานั้นมีคีย์เกิร์ลสำคัญคือ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นแกนนำมุ้งสำคัญ อย่างมุ้งวังบัวบาน ที่คอยประสานทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติ เดินเครื่องพรรคไทยรักไทยถึงเพื่อไทยรักษาอำนาจเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือเอาไว้ได้
โดยสรุปพรรคทักษิณ ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เคยกวาด สส. ยกจังหวัดเชียงใหม่ คือ ปี พ.ศ. 2548 ,พ.ศ. 2544 และเคยกวาด สส. เกือบยกจังหวัดในปี พ.ศ. 2544 ,พ.ศ. 2550 ,พ.ศ. 2562
ในอดีตทักษิณ ชินวัตร กับ ตระกูลบูรณุปกรณ์ เดิมทีมีความใกล้ชิดกันมากในช่วงยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย ตระกูลบูรณุปกรณ์ มีบทบาทสำคัญในการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ และได้รับแรงสนับสนุนจาก เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ทำให้ ตระกูลบูรณุปกรณ์ เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว
จุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ตระกูลบูรณุปกรณ์ได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างหนัก ทำให้ต้องถอยห่างออกจาก ชินวัตร
การเลือกตั้งปี 2562 ยิ่งตอกย้ำรอยร้าวระหว่างสองฝ่าย แม้บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ จะไม่ได้ประกาศสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน แต่ก็ให้ สจ. ในเครือข่ายกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ดำเนินการทางการเมืองโดยอิสระ ขณะเดียวกัน เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้มอบหมายให้ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ระดม สส. เชียงใหม่ สนับสนุน พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ให้เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่
ความขัดแย้งเริ่มชัดเจนเมื่อเพื่อไทยตัดสินใจย้าย ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. จังหวัดเชียงใหม่ จากเขต 1 ไปเขต 3 ทั้งๆ ที่ฐานคะแนนเสียงของ ทัศนีย์ อยู่ที่เขต 1
ความขัดแย้งนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงการเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงใหม่ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สส.เชียงใหม่ เขต 1 หลานสาวของบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เลือกที่จะสนับสนุนลุงของเธอ แทนที่จะสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
รอยร้าวระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับ ตระกูลบูรณุปกรณ์ เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งผลกระทบจากรัฐประหาร ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเลือกข้างทางการเมืองที่แตกต่างกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นเชียงใหม่กลายเป็นสมรภูมิที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่แตกหักของทั้งสองฝ่าย
แต่กระนั้นเมื่อมีจุดสูงสุดก็มีจุดต่ำสุด จากปัจจัยที่ตระกูลชินวัตรไม่ใช่ตระกูลหนึ่งเดียวในเชียงใหม่ตั้งแต่ต้น ทักษิณ และตระกูลชินวัตรถูกรัฐประหารบ่อยครั้ง กลุ่มวังบัวบาน ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนเมื่อกาลก่อน ประกอบกับ พันธมิตรหลายๆ ตระกูลค่อยๆ ถอยห่างจากตระกูลชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น ‘บูรณุปกรณ์’ ที่ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ในอดีตแทบจะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตลอดกาล ขณะที่วงศาคณาญาติของบุญเลิศ ที่ดูแลเทศบาลนคร หลานสาวของเขาอย่าง กุ้ง ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ก็เคยเป็น สส. ใต้ร่มธงเพื่อไทยได้ตีจากไปอยู่กับก้าวไกล
ขณะที่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกล สามารถปักธงในเชียงใหม่ลบตำนานแชมป์ไร้พ่ายของเพื่อไทย สามารถปักธงส้มได้ถึง 7 เขตจากทั้งหมด 10 เขตเลยทีเดียว โดยหนึ่งใน สส. พรรคก้าวไกล ก็มีลูกชายของ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อย่าง ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล คนกันเองของมุ้งวังบัวบานภายใต้บ้านใหญ่เพื่อไทยอยู่ด้วย โดยพรรคก้าวไกลกวาดไปถึง 7 เขต พรรคพลังประชารัฐได้ไป 1 เขต และแบ่งให้พรรคเพื่อไทยเจ้าถิ่นเดิมไปเพียง 2 เขตเท่านั้น
สะท้อนให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้วตระกูลชินวัตร ไม่ได้มั่นคงในพื้นที่เชียงใหม่สะทีเดียว ต้องอาศัยพันธมิตรหลายฝ่าย เพราะหากไร้พันธมิตรย่อมมีวันสะเทือนหลังบ้านย่อมถูกตีท้ายครัวได้เสมอ
เมื่อ พ.ศ. 2563 'พิชัย' ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยและ ทักษิณ ที่เขียนจดหมายน้อยอ้อนวอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกนายพิชัย จนเจ้าตัวชนะ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2563
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567 พิชัย ได้ลาออกจากตำแหน่ง นายก อบจ. เชียงใหม่ เป็นการส่งสัญญาณว่าคงได้รับไฟเขียวจากต้นสังกัดและพกความมั่นอกมั่นใจมาเต็มกระเป๋า
เพราะนายใหญ่ก็ส่งสัญญาณชัดว่าเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงใหม่เต็มที่ โดยมีกำหนดการแอ่วเชียงใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 หลังจากบินไปสะออนที่อุบลราชธานีเมืองดอกบัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นับตั้งแต่หลังการเลือก สส. ปี พ.ศ. 2566 ทัศนีย์ ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และสมัครเป็นสมาชิก พรรคก้าวไกล ขณะที่ต้นปี 2568 ทัศนีย์ และ ทัศนัย ได้เข้าช่วยงานเป็นพี่เลี้ยงให้ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ พรรคประชาชน แลกกับเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติครั้งต่อไป ทัศนีย์ จะได้โควตาเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาชน
ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยยืนยันว่า ทัศนีย์ เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล และ ทัศนัย จะมาเป็น ผอ.เลือกตั้งท้องถิ่น ให้กับทีมก้าวไกลเชียงใหม่
การผันตัวของตระกูลบูรณุปกรณ์จากพรรคเพื่อไทย สู่พรรคก้าวไกล สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันระหว่าง ตระกูลชินวัตร กับ พรรคก้าวไกล การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ต้นปี 2568 จะเป็นตัวชี้วัดว่าตระกูลบูรณุปกรณ์จะสามารถช่วยให้พรรคก้าวไกล ยึดครองพื้นที่ทางการเมืองในเชียงใหม่ได้หรือไม่
ขณะที่ทักษิณหมายมั่นปั้นมือชกส้มให้ล้มในสนามท้องถิ่นให้จงได้ เรียกได้ว่าสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. เชียงใหม่นั้นดุเดือด เป็นเวทีที่วัดมนต์ขลังของทักษิณ และวัดพลังส้มหลังจากชนะเลือกตั้งสนามระดับชาติมาว่าทำงานเข้าตาประชาชนเชียงใหม่หรือไม่
"เก่าไปใหม่มา หรือจะเก่ามาใหม่ไป สนามเชียงใหม่จึงน่าจับตา"
อ้างอิง
TheMatter / TheUrbanis / InSiam / ThePeople / Nation / TheMomentum1 / TheMomentum2 / คมชัดลึก / กรุงเทพธุรกิจ /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง