SHORT CUT
ในบทความนี้จะยกตัวอย่าง 2 ผู้นำ ใน 3 หตุการณ์ที่ได้รับคำชื่นชมในห้วงเวลาวิกฤต คือ จาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย
‘ผู้นำ’ มีความสำคัญอย่างยิ่งในบทบาทการนำในเรื่องนโยบาย การสื่อสาร และการทำความเข้าใจให้กับคนในองค์กร ผู้นำประเทศมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศที่มีประชาชนอีกหลายล้านคนอาศัยอยู่
การสื่อสารของผู้นำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สารจากผู้นำไปถึงแบบไม่ขาดหาย และเป็นเข็มทิศของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤต ที่อาจจะมีความเปราะบางขอสถานการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ผู้นำจึงจำเป็นต้องมีท่าที่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา
ในบทความนี้จะยกตัวอย่าง 2 ผู้นำ ใน 3 เหตุการณ์ที่ได้รับคำชื่นชมในห้วงเวลาวิกฤต
จาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งผู้ที่ได้รับคำชื่นชมจากทั้งคนในประเทศ และทั่วโลกในเรื่องภาวะผู้นำ
และเมื่อปี 2021 เธอได้รับเลือกจากนิตยสาร Fortune ให้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จากการจัดอันดับผู้นำทั้งหมด 50 คน
เหตุการณ์ที่ทำให้ จาซินดา อาร์เดิร์น ได้รับคำชื่นชมมากที่สุดครั้งหนึ่งในฐานะผู้นำ คือ เหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ชในนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน
ทันทีที่เกิดเหตุการณ์เธอออกมาแถลงด้วยท่าที่ที่ไม่เลือกข้าง ตรงไปตรงมา และตอกย้ำว่าจะไม่เอ่ยชื่อผู้กระทำผิด เพื่อไม่ให้เป็นที่สนใจ แต่เลือกที่จะขอให้ทุกคนเอ่ยถึงชื่อผู้เสียชีวิตมากกว่าคนที่คร่าชีวิตผู้อื่น อีกทั้งยังสวมผ้าคลุมฮิญาบในการเดินทางไปแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสียที่เป็นชาวมุสลิม
ถัดมาไม่กี่ชั่วโมงยังได้ประกาศแก้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนเพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต และเธอก็ทำสำเร็จภายในเวลาเพียง 6 วัน
ในช่วงเวลาที่ประเทศมืดมน ผู้คนอยู่ในความสับสน จาซินดา อาร์เดิร์น คือผู้ที่นำพาให้ประชาชนในประเทศผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ผ่าน 2 วิกฤตสำคัญที่ได้รับคำชื่นชมจากประชาชน คือ ไข้หวัดนกในปี 2546 และ สึนามิในปี 2547
โรคไข้หวัดนก เริ่มระบาดราวตั้งแต่ธันวาคม 2546 เป็นโรคที่สามารถระบาดจากสัตว์ สู่ คน และสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ หากอยู่ใกล้ชิดไก่ และสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค
รัฐบาลในขณะนั้น ต้องหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะคนไทยไม่กล้ากินไก่ ซึ่งรวมถึงไก่ปรุงสุก หรือแม้กระทั่งไข่ไก่ปรุงสุก กระทบความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ
ต้นปี 2547 รัฐบาลจัด มหกรรมกินไก่ไทยปลอดภัย 100 % ที่ท้องสนามหลวง โดย โดยทักษิณนำคณะรัฐมนตรี และ นักร้องนักแสดงอีกหลายคน โชว์การกินไก่ปรุงสุกเพื่อสร้างความมั่นใจว่าไก่ปรุงสุกกินได้ ไม่ตาย
“เราไม่สนใจว่าต่างประเทศจะซื้อไก่เราหรือไม่ ผมสนใจอย่างเดียวว่าคนไทยต้องไม่ถูกทำให้ตกใจโดยใช่เหตุ และไก่ที่ขายในประเทศไทยต้องปลอดภัย ถ้าเราทำอย่างถูกต้อง ปรุงเกิน 70 องศาไปแล้วปลอดภัย ไม่ใช่ 100% แต่ล้านเปอร์เซ็นต์”
อีกเหตุการณ์คือ สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางคือบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ตของประเทศไทยประมาณ 580 กิโลเมตร
คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งหลายประเทศตั้งแต่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และทวีฟแอฟริการ รวมถึงประเทศไทยใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล
ภัยพิบัติครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวมทุกประเทศราว 230,000 คน เฉพาะประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตราว 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้ กว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ
นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก รุนแรงติดอันดับ 5 นับแต่ปี 1900
ในขณะนั้น ทักษิณ กำลังเดินทางปราศรัยหาเสียการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2548 ที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม กระโดดลงจากเวทีปราศรัย สั่งหยุดคาราวานหาเสียงชั่วคราว ตัดสินใจบินไปจังหวัดภูเก็ตทันที พร้อมให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ด่วนเพื่อให้พร้อมสำหรับการตัดสินใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำชับไม่ต้องการข้าราชการยืนต้อนรับให้เสียกำลังพลและการทำงาน
เหตุการในครั้งนั้น รัฐบาลตั้ง ‘วอร์รูม’ ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ระดมสัพกำลังจากทุกภาคส่วน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่ไทยไม่เคยได้เผชิญมาก่อน และจัดการฟื้นฟูพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ รวมถึงการหาแนวทางป้องกันในอนาคต นำมาสู่การตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นครั้งแรกของไทยในปี 2548
รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้รับคำชื่นชมอย่างมากในวิกฤตนี้ นอกจากตัวนายกรัฐมนตรี ยังมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ลงไปอยู่ในพื้นที่นานนับเดือน แสดงออกด้วยท่าที่ที่เหมาะสม มีแผนงานในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า การฟื้นฟู และการหาแนวทางป้องกันในอนาคต เหล่านี้คือการแสดงออกถึงความเข้าอก เข้าใจ และการแสดงตัวว่าอยู่เคียงบ่า เคียงไหล่ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ไม่ให้ประชาชนต้องรู้สึกโดดเดี่ยว