svasdssvasds

เปิด 4 ข้อโต้แย้งปม "เขากระโดง" หลังอนุทินไล่การรถไฟฯ ไปฟ้องรายแปลง

เปิด 4 ข้อโต้แย้งปม "เขากระโดง" หลังอนุทินไล่การรถไฟฯ ไปฟ้องรายแปลง

เขากระโดงการละคร? เปิด 4 ข้อสงสัยโต้แย้งคำให้สัมภาษณ์ “อนุทิน” หลังอ้างกรมที่ดินไม่ใช่คู่พิพาท คมนาคมยุคศักดิ์สยามไม่ฟ้องไล่ที่ แต่มหาดไทยยุคอนุทินบอกให้รถไฟมาฟ้องรายแปลง

SHORT CUT

  • เนชั่นทีวี เปิด 4 ข้อโต้แย้งคำให้สัมภาษณ์ของ มท.หนู อนุทิน ชาญวีรกูล
  • การที่การรถไฟฯ ฟ้องศาลปกครอง แทนที่จะไปฟ้องไล่ที่ประชาชนเองเหมือนที่ทำแล้วทั่วประเทศ เกิดในยุค ศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม
  • จับตาว่าจะเป็น "เขากระโดงการละคร" หรือไม่ เพราะกระบวนการที่เอื้อให้เกิดการประวิงเวลา

เขากระโดงการละคร? เปิด 4 ข้อสงสัยโต้แย้งคำให้สัมภาษณ์ “อนุทิน” หลังอ้างกรมที่ดินไม่ใช่คู่พิพาท คมนาคมยุคศักดิ์สยามไม่ฟ้องไล่ที่ แต่มหาดไทยยุคอนุทินบอกให้รถไฟมาฟ้องรายแปลง

เนชั่นทีวี เปิด 4 ข้อสงสัยโต้คำให้สัมภาษณ์ “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวไว้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ประเด็นที่กรมที่ดินมีมติไม่เพิกถอนโฉนดในพื้นที่เขากระโดง ที่มีข้อพิพาทว่าออกทับสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา และศาลปกครองมีคำสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยสรุปประเด็นข้อโต้แย้งมาดังต่อไปนี้

1.คำอ้างที่ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ผูกพันเฉพาะคู่ความ หรือคู่พิพาทในคดี ระหว่างการรถไฟฯ กับเอกชนรายที่ยื่นฟ้องเพียงเท่านั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ก็รับรองเอาไว้แล้วว่า “คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี (การรถไฟฯ) ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้

 

นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ยังมีข้อความในวรรค 2 อนุมาตรา 2 บัญญัติว่า “คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า” 

 

2.คำอ้างที่ว่า “ที่ดินเขากระโดงมี 900 กว่าแปลง ถ้าเอาให้ชัดก็ฟ้องทีละแปลงไปเลย” มีข้อสังเกตว่า ในรัฐบาลที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็น รมว.คมนาคม กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ป.ป.ช.เคยมีความเห็นให้การรถไฟฯ ฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองในที่ดินแปลงอื่นๆ แต่ การรถไฟฯ​ในยุคนั้นกลับไม่ฟ้อง โดยอ้างว่า “การรถไฟฯ ไม่ฟ้องร้องประชาชน” แต่ในรัฐบาลปัจจุบันที่นายอนุทิน มีอำนาจกำกับดูแลกรมที่ดิน กลับเรียกร้องให้มีการฟ้องรายแปลง ซึ่งหากฟ้องรอบนี้จะต้องใช้เวลามากเพราะติดข้ออุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน

3. “การฟ้องไล่ที่ประชาชน” ที่บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ เป็นสิ่งที่การรถไฟฯ ทำกับประชาชนทั่วประเทศ ไม่เคยมีกรณีใดที่ไปร้องให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด ซึ่งกรณีเขากระโดงถือเป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดคำถามว่าทำเพื่อ “เอื้อใครหรือไม่” เพราะดำเนินการในยุคที่พรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงคมนาคม

 

นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญคดีแพ่ง ให้ข้อมูลว่า คดีเขากระโดง การรถไฟฯสามารถใช้คำพิพากษาศาลฎีกา และศาลปกครอง ฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินทุกแปลง กว่า 900 แปลงในบริเวณเขากระโดงได้เลย โดยสามารถ “ฟ้องแบบกลุ่ม” เพื่อป้องกันข้อครหาการเลือกปฏิบัติ ฟ้องแปลงไหนก่อน แปลงไหนทีหลัง 

 

4.แหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐในจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า ข้ออ้างของคุณอนุทิน และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ว่า ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ มีที่ดินของตระกูลการเมืองเพียง 200 กว่าไร่ ส่วนบริเวณส่วนใหญ่เป็นของประชาชนทั่วไปนั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะในเนื้อที่ดังกล่าว กรมทางหลวงและหน่วยราชการต่างๆ ได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์สาธารณะจากการรถไฟฯ ทั้งสร้างถนนและโรงพยาบาล จำนวนหลายร้อยไร่

 

ส่วนที่ดินในความครอบครองของเอกชน เป็นของตระกูลใหญ่ 2 ตระกูล ตัวย่อ จ.จาน กับ ช.ช้าง แค่สองตระกูลนี้ก็เกือบ 1,000 ไร่เข้าไปแล้ว หากรวมกับที่ดินที่หน่วยราชการขอใช้ อาจกินพื้นที่ถึงเกือบครึ่งของพื้นที่ทั้งหมด ฉะนั้นคำอ้างว่าประชาชนทั่วไปจะเดือดร้อนมากถ้าเกิดการฟ้องขับไล่ ไม่เป็นความจริง

 

related