svasdssvasds

อุดรธานี เมืองหลวงเสื้อแดง แห่งแดนอีสาน ในวันที่ส้มต้องการปักธง

อุดรธานี เมืองหลวงเสื้อแดง แห่งแดนอีสาน ในวันที่ส้มต้องการปักธง

อุดรธานี เมืองหลวงเสื้อแดง ไข่แดงทักษิณ แห่งแดนอีสาน ในวันที่ส้มต้องการปักธง การเมืองดุเดือดสะเทือนท้องถิ่นถึงประเทศ

SHORT CUT

  • ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี ครั้งนี้ต้องวัดกันแล้วระหว่างส้มกับแดง ใครจะอยู่หรือใครจะไป
  • เพราะฝ่ายส้มก็หวังปักธง อบจ. อุดรธานี สานฝันโชว์ศักยภาพบริหารท้องถิ่น
  • ส่วนฝ่ายแดงก็สู้ไม่ถอยเพราะต้องรักษาเมืองหลวงเสื้อแดงในจังหวะที่ตนเองเป็นรัฐบาล

อุดรธานี เมืองหลวงเสื้อแดง ไข่แดงทักษิณ แห่งแดนอีสาน ในวันที่ส้มต้องการปักธง การเมืองดุเดือดสะเทือนท้องถิ่นถึงประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งวันวาน อุดรธานี ได้รับขนานนามว่า เมืองหลวงเสื้อแดง จังหวัดที่พรรคไทยรักไทย จนถึงเพื่อไทย" ชนะเลือกตั้งมากว่า 2 ทศวรรษที่ โดย "พรรคทักษิณ" กวาดชัยชนะครบทุกเขต-ยกจังหวัด เรียกได้ว่าเป็นไข่แดงของ ทักษิณ ในพื้นที่อีสานก็ว่าได้

อุดรธานีเองเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยหวงแหน ถึงขนาดมีขุนพลเลือกตั้งคอยประจำการ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เจ้าของฉายาอินทรีอีสาน คอยจับมือแท็กทีมดูแลควบคู่กับ วิเชียร ขาวขำ อดีต สส. อุดรธานี 5 สมัย และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี อีก 2 สมัย

 

แต่แล้วสมการการเมืองก็เปลี่ยนไปเพราะการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 กระแสส้มมาแรงแซงทางโค้ง เมืองหลวงเสื้อก็ไม่อาจทำให้สะดุดหยุดไม่อยู่ ถูกพลพรรคส้มในนามของพรรคก้าวไกล ตีแตกคว้า สส. ไปได้ 1 คน ขณะที่ไทยสร้างไทยได้ สส. ไป 2 ที่นั่ง

และล่าสุด วิเชียร ขาวขำ ได้วางมือจากตำแหน่งนายก อบจ. เปิดทางให้ ศราวุธ เพชรพนมพร ลูกเขย พล.ต.อ.ประชา ลงรับสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามของพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคส้มเองพร้อมท้าชน เตรียมส่งผู้สมัครนายก อบจ. อุดรธานี เช่นเดียวกัน การเลือกตั้ง นายก อบจ. อุดรธานี จึงน่าจับตา เป็นการวัดกันระหว่างพลังส้มและพลังแดง และยังเป็นศึกชี้ชะตาว่าพรรคทักษิณ ยังได้ใจคนในอุดรธานีอยู่หรือไม่

 

อุดรธานีพื้นที่แห่งความหลากหลายทางอุดมการณ์

ในอดีตอุดรธานีเคยเป็นที่ตั้งฐานทัพของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยมีฐานทัพที่ชื่อว่า ฐานทัพอากาศอุดร (Udorn Royal Thai Air Force Base) ของหน่วยทหารสหรัฐ: กองบินลาดตระเวนทางยุทธวิธีที่ 432 (432nd Tactical Reconnaissance Wing)

เพราะพื้นที่ดังกล่าวติดกับประเทศลาว ขณะนั้นกำลังจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ อยู่คนละขั้วกับสหรัฐอเมริกาและไทยที่อยู่ในขั้วโลกเสรีประชาธิปไตย

อุดรธานีจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการตั้งสนามบินเพื่อขนส่ง รวมถึงทิ้งระเบิดในพื้นที่ประเทศลาว

แน่นอนว่าในยุคดังกล่าวคนอุดรธานีบางกลุ่มไม่ได้มีจิตสำนึกความเป็นชาติร่วมกับคนกรุงเทพฯ และในบางครั้งพวกเขามีความผูกพันกับคนฝั่งประเทศลาวมากกว่า เพราะมีทั้งญาติ รวมถึงวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงมีความผูกพันกับเวียดนามเพราะมีคนเวียดนามอาศัยอยู่ในอุดรจำนวนมาก

ทำให้ในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขามีความหลากหลายมาก ได้ยึดติดกับรัฐไทยเท่าไหร่ เห็นได้จาก โฮจิมินห์ เองเคยมาอาศัยอยู่ในอุดรธานี ณ บ้านหนองฮาง เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการขอการสนับสนุนจากชาวเวียดนาม

 อุดรธานีเคยมี สส. จากพรรคสังคมนิยม

เมื่ออุดรธานีเป็นพื้นที่ที่ติดกับประเทศลาว และมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ ทำให้เป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ประชาชนเองก็ไม่ได้ฝักใฝ่ระบอบทุนนิยมทั้งหมด

เห็นได้จาก ก่อนการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยอุดรธานีมี สส. จากหลากหลายพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก

และพื้นที่อุดรธานีเอง เป็นพื้นที่ที่เคยมี สส. จากพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยด้วย คนคนนั้นก็คือ พ.ต.อ.สมคิด ศรีสังคม หัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และมี ไขแสง สุกใส เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งต่อมา ไขแสง ต้องหนีเข้าป่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ขณะที่ เลขาธิการพรรคอย่าง บุญสนอง บุณโยทยาน ถูกลอบสังหารในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากฝ่ายขวาไทยกลัวภัยคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก

ขณะที่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกมองว่าเป็นพรรคก้าวหน้าและมีอุดมการณ์เอียงซ้าย ทำให้ถูกจับตาโดยเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขวาของไทย

 อุดรธานียุคกลุ่มทุนเจริญศรี-ทุนเก่า

เมื่อเหตุการณ์คอมมิวนิสต์และเหตุการณ์การกลัวฝ่ายซ้ายของฝ่ายขวาไทยเริ่มจางลงไป บวกกับนโยบาย 66/2523 ที่เกิดขึ้นในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่หลากหลายมาตั้งแต่อดีต เกิดการเลือกตั้งต่อเนื่องหลายครั้ง และมี สส. หลายหน้าหลายตาจากหลากหลายพรรคการเมือง

แต่ก็มีกลุ่มทุนอีสานคอยอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งแถบอุดรธานีและอีสานคอยให้การสนับสนุนอยู่ กลุ่มนั้นมีชื่อว่ากลุ่มทุนเจริญศรี ของตระกูล ทีฆธนานนท์ 

ตระกูลทีฆธนานนท์ เป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นระดับแถวหน้าของภาคอีสานในนาม อุดรเจริญศรี ที่มี เสี่ยเล้ง-เจริญ ฑีฆธนานนท์ เป็นผู้ก่อตั้ง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

โดยธุรกิจในเครือข่ายอุดรเจริญศรี มีทั้ง ศูนย์การค้า โรงแรม และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มิตซูมิชิ, ฟอร์ด และมาสด้า มีสาขาอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ ขอนแก่น มุกดาหาร สกลนคร และอุบลราชธานี 

ทายาทตระกูลเจริญศรี ได้เข้าสู่งานด้านการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นหลายคนเช่น หาญชัย ฑีฆธนานนท์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี อดีตนายก อบจ.อุดรธานี, โกมุท ฑีฆธนานนท์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสกลนคร และโกเมศ ฑีฆธนานนท์ อดีต สว.ขอนแก่น

เมื่อการเลือกตั้งนายกเทศมตรีนครอุดรธานี ปี พ.ศ. 2564 ศราวุธ เพชรพนมพร จับมือ วิเชียร ขาวขำ สนับสนุน ธนดร พุทธรักษ์ กลุ่มรักษ์เมืองอุดร ฟาดแข้งเอาชนะ อิทธิพนธ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ อดีตนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กลุ่มนครหมากแข้ง 

หลายคนทราบกันดีว่ากลุ่มนครหมากแข้ง ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ ทั้งกลุ่ม อุดรเจริญศรี และกลุ่มศรีรุ่ง ทุนท้องถิ่นเมืองอุดรธานี

ชัยชนะของกลุ่มเพื่อไทยอุดรธานี ในสนามนายกเล็ก ก็แทบจะปิดฉากกลุ่มทุนเก่าที่ผูกขาดการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน

ขณะเดียวกันวิเชียรขาวขำยังเคยโค่นแชมป์ ตระกูล ฑีฆธานนท์ ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี อย่าง หาญชัย ทีฆธนานนท์ มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2555 มาแล้ว ทำให้บทบาทของตระกูล ฑีฆธานนท์ ในสนามการเมืองอุดรธานีค่อยๆ ลดลงไป

อุดรธานีสมัยเมืองหลวงเสื้อแดง

ภายหลังนักธุรกิจหน้าใหม่ไฟแรงนามว่า ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่สนามการเมืองการเมืองในอุดรธานีก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนขั้วอำนาจไปด้วย จากเดิมมีกลุ่มทุนเจริญศรีเคยเรืองอำนาจแต่เมื่อ ทักษิณ ลงสนามการเมืองอะไรๆ ก็เปลี่ยนไป

นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 - 2550 พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย กวาด สส. ในอุดรธานีได้เกือบทั้งจังหวัด และในปี พ.ศ. 2554 - 2562 พรรคเพื่อไทยสามารถกวาด สส. อุดรธานี ได้ยกจังหวัด เป็นภาพสะท้อนว่าอิทธิพลของพรรคทักษิณ สามารถเจาะไปครอบครองอุดรธานีอย่างเบ็ดเสร็จโดยสมบูรณ์จนได้รับขนานนามว่า “เมืองหลวงเสื้อแดง”

โดยมีขุนพลที่นำทัพชนะเลือกตั้งอย่าง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก คอยประสานทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น และตระกูล พรหมนอก ยังดองกับตระกูล เพชรพนมพร ตั้งแต่ยังไม่สังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อสังกัดพรรคไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยก็พร้อมใจกันผลักดันเพื่อไทยในอีสาน รวมถึงอุดรธานีกันอย่างเต็มที่ ในการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 ศราวุธ เพชรพนมพร ก็เป็นแม่ทัพหลักจัดทัพ สส. ในสังกัดค่ายเพื่อไทย ชิงพื้นที่อุดรธานีมาแล้ว แถมยังมีขุนพลเสื้อแดงอุดรธานีมากมายที่เคยต่อสู้เพื่อทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น ขวัญชัย ไพรพนา ขจิตร ชัยนิคม คอยให้การสนับสนุน

ขณะที่สนามท้องถิ่น วิเชียร ขาวขำ ก็คอยประสานกับ ศราวุธ เพชรพนมพร รวมถึง พล.ต.อ.ประชา คอยหนุนหลัง สามารถคว้า สส. ให้พรรคเพื่อไทยได้ 7 คนจากทั้งหมด 10 เขต

อุดรธานีในวันที่ถูกส้มท้าทาย

ถึงแม้เพื่อไทยจะคว้า สส. ได้ทั้งหมด 7 คนแต่กระนั้นพลังส้มซึ่ง ณ ขณะนั้นคือพรรคก้าวไกล สามารถฝ่าดงแดงปักธงได้ 1 เขตโดย ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ชนะ ศราวุธ เพชรพนมพร แชมป์เก่าไปด้วย เสมือนเจาะไข่แดงทะลวงเข้าไปในดงบ้านใหญ่ก็ว่าได้ เรียกได้ว่าพรรคส้มไม่ธรรมดาเป็นม้ามืดที่บทจะโผล่มาก็เขย่าดงเพื่อไทยอย่างน่ากลัว 

และล่าสุด วิเชียร ขาวขำ ได้ประกาศวางมือโดยมี พล.ต.อ.ประชา นั่งข้างๆ เป็นสักขีพยาน และชี้แจงว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ เปิดโอกาสให้ ศราวุธ เพชรพนมพร ลงสนามเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายก อบจ. อุดรธานี ขณะที่พรรคส้มในนามของพรรคประชาชน ก็ไม่ยอมน้อยหน้าเปิดหน้าส่ง “ทนายแห้ว” คณิศร ขุริรัง สู้ศึกนายก อบจ. อุดรธานี เช่นเดียวกัน

ขณะที่ ทนายแห้ว ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะเคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี (พ.ศ. 2547-2551) สมาชิกสภา อบจ. อุดรธานี (พ.ศ. 2551-2552) และรองนายก อบจ.อุดรธานี (พ.ศ. 2552-2555) เรียกได้ว่ามีดกรีไม่ธรรมแลยังคงมีสายสัมพันธุ์กับกลุ่มเจริญศรีอยู่

และการมากด้วยคอนเน็กชั่นแถมเป็นมือประสานทุนท้องถิ่น ทำให้เขาได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมัย คสช.

ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี ครั้งนี้ต้องวัดกันแล้วระหว่างส้มกับแดง ใครจะอยู่หรือใครจะไป เพราะฝ่ายส้มก็หวังปักธง อบจ. อุดรธานี สานฝันโชว์ศักยภาพบริหารท้องถิ่น ส่วนฝ่ายแดงก็สู้ไม่ถอยเพราะต้องรักษาเมืองหลวงเสื้อแดงในจังหวะที่ตนเองเป็นรัฐบาล

อ้างอิง

BBC / คมชัดลึก / มหาวิทยาลัยขอนแก่น / กรุงเทพธุรกิจ / PostToday / คมชัดลึก1 / คมชัดลึก 2 / 

 

related