svasdssvasds

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล คนโปรดของรัชกาลที่ 6 ที่ประวัติศาสตร์มิอาจมองข้ามได้

SHORT CUT

  • ก่อนที่ทำเนียบรัฐบาลจะมากลายมาเป็นศูนย์กลางอำนาจบริหารนั้น กลับไม่ใช่สถานที่ที่เอาไว้กำหนดนโยบายรัฐมาก่อน เพราะแต่เดิมเป็นเพียงบ้านของคนคนหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ 6
  • บุคคลนี้มีชื่อว่าเจ้าพระยารามราฆพ ผู้ที่ได้บรรดาศักดิ์ลำดับเจ้าพระยาตั้งแต่หนุ่มๆ และเจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นทำเนียบรัฐบาล
  • เป็นบุคคลที่อยู่มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงระบอบประชาธิปไตย ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล คนโปรดของรัชกาลที่ 6 ที่ประวัติศาสตร์มิอาจมองข้ามได้

ศูนย์กลางอำนาจฝ่ายบริหารคือทำเนียบรัฐบาล ณ ถนนพิษณุโลก สถานที่ที่หลายคนอยากลองไปสัมผัส เพราะไม่เพียงมีความสวยงามยังบ่งบอกว่าเราได้มาเยือนสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายของประเทศ

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

แต่ก่อนที่ทำเนียบรัฐบาลจะมากลายมาเป็นศูนย์กลางอำนาจบริหารนั้น กลับไม่ใช่สถานที่ที่เอาไว้กำหนดนโยบายรัฐมาก่อน เพราะแต่เดิมเป็นเพียงบ้านของคนคนหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ 6 ก็ว่าได้

 

บุคคลนี้มีชื่อว่าเจ้าพระยารามราฆพ ผู้ที่ได้บรรดาศักดิ์ลำดับเจ้าพระยาตั้งแต่หนุ่มๆ และเจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นทำเนียบรัฐบาล

ผู้ที่เคยมีชีวิตรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยผ่านทั้งระบอบเก่าอย่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้สัมผัสการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มีชีวิตที่ผกผันต้องเสียบ้านนรสิงห์ไปในที่สุด

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

เจ้าพระยารามราฆพคือใคร

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นบุตรของพระนมทัด กับ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ละม้าย พึ่งบุญ) ได้เข้าถวายตัวรับใช้รัชกาลที่ 6 แต่ครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หลังพระองค์เสด็จนิวัติกลับพระนคร

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในพระองค์ตำแหน่งสำรองราชการนายเวรขวา ดูแลเครื่องเสวยและปฏิบัติราชกิจทั่วไป

หลังจากนั้น เจ้าพระยารามราฆพ กลายเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด ตั้งแต่ตื่นบรรทมถึงเข้าบรรทม ร่วมโต๊ะเสวยแทบทุกมื้อ เป็นผู้ตามเสด็จ จนถึงแทบทุกกิจกรรมที่พระองค์ทรงริเริ่ม แม้แต่ในเวลาที่พระองค์ไม่สบพระราชหฤทัย ก็มีเจ้าพระยารามราฆพที่อยู่ข้างๆ

บันทึกของ ม.จ. พูนพิศมัย เล่าถึงการเลื่อนขั้นของเจ้าพระยารามราฆพไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถึงเวลา (รัชกาลที่ 6) เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพระยารามได้เป็นนายขันหุ้มแพรกรมมหาดเล็กหลวงเป็นคั่นแรก แล้วเลื่อนขึ้นเป็นจ่ายง-พระนายสรรเพ็ชร์-แล้วเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ ถึง พ.ศ. 2464 ได้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ อันเป็นชื่อผู้นั่งกลางช้างชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

สะท้อนถึงการเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ 6 ถึงขนาดเลื่อนตำแหน่งระดับเจ้าพระยาในขณะที่มีอายุน้อย คือ 34 ปี และตำแหน่งเจ้าพระยารามราฆพ ยังเป็นชื่อตำแหน่งที่สื่อถึงความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นกลางช้างที่นั่งอยู่ข้างหลังพระมหากษัตริย์ยามออกศึกสงคราม

และในช่วงรัชกาลที่ 6 เจ้าพระยารามราฆพถือว่าขึ้นหม้อสุดๆ ได้รับตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น เมื่อ พ.ศ. 2457 ได้เป็นอธิบดีกรมมหาดเล็ก ซึ่งปกติแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ให้เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดและไว้วางพระราชหฤทัย และยังได้เป็นองคมนตรี พ.ศ. 2460 รับราชการตำแหน่งสมุหราชองครักษ์

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2467 ยศทหารของเจ้าพระยารามราฆพ ยังขึ้นถึงตำแหน่งพลเอกกองทัพบก จากที่เริ่มต้นด้วยร้อยเอกกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. เมื่อยังอยู่ในตำแหน่งจ่ายง และในปีเดียวกันยังได้เป็นพลเรือโท ต่อมาใน พ.ศ. 2468 ยังได้เป็นผู้ช่วยราชการกระทรวงทหารเรือ

เรียกได้ว่าตำแหน่งที่ก้าวกระโดดของเจ้าพระยารามราฆพในยุคนั้นอาจพูดได้ว่าไม่มีใครเปรียบได้เลยทีเดียว

ทรงสร้างบ้านนรสิงห์ให้

ไม่เพียงแต่เจ้าพระยารามราฆพ จะได้ตำแหน่งมากมายจากที่รัชกาลที่ 6 ประทานให้เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ทรัพย์สินรวมถึงบ้านจากการพระราชทานด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบันคือบ้านนรสิงห์โดยรัชกาลที่ 6 มีพระราชหัตถเลขายืนยันการพระราชทานที่ดินแปลงนี้ไว้ว่า

“ที่ดินซึ่งได้ทำเป็นสวนเพาะปลูกพรรณไม้ต่างๆ อันอยู่หลังโรงทหารราบที่ 1 (มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตำบลสวนดุสิตแปลงหนึ่งนี้เป็นที่ของพระคลังข้างที่ มีจำนวนกว้างยาวคือ ทิศเหนือยาวไปตามถนนคอเสื้อ 4 เส้น 15 วา 2 ศอกคืบ ทิศใต้ยาวไปตามถนนลูกหลวง 4 เส้น 11 วา ทิศตวันออกยาวไปตามถนนฮก 6 เส้น 7 วา 2 ศอกคืบ ทิศตะวันตกจดคลองแลยาวไปตามคลอง 6 เส้น 3 วาศอก
เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

ข้าพเจ้าเห็นว่าพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เปนผู้ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดกราดกรำมาด้วยความจงรักภักดีอันมั่นคงต่อข้าพเจ้ามาช้านาน บัดนี้สมควรจะให้ที่บ้านอยู่เพื่อความศุขสำราญจะได้เปนกำลังที่จะรับราชการสืบไป จึงทำหนังสือสำคัญฉบับนี้ยกที่ดินอันกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เปนสิทธิเปนทรัพย์แก่พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)”

เป็นภาพสะท้อนที่เห็นชัดเจนว่าเจ้าพระยารามราฆพคือคนโปรดของรัชกาลที่ 6 อย่างเปิดเผย

จากบ้านนรสิงห์สู่ทำเนียบรัฐบาล

แต่เมื่อมีจุดสูงสุดก็มีจุดต่ำสุดเช่นกัน ภายหลังสิ้นรัชกาลที่ 6 เจ้าพระยารามราฆพก็เสมือนเสียที่พึ่งพาไป ไม่ได้อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจเหมือนเช่นในอดีตไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนักในรัชกาลที่ 7

และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ชีวิตของเจ้าพระยารามราฆพซึ่งใกล้ชิดกับระบอบเก่าก็ตกต่ำลง

ถึงขนาดต้องขายบ้านนรสิงห์ให้กับรัฐบาล กล่าวคือเจ้าพระยารามราฆพจึงได้มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งเอกสารของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีระบุว่าเป็น “ปรีดี พนมยงค์” แสดงความจำนงที่จะขายที่ผืนนี้ให้กับรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าบ้านใหญ่โตเกินฐานะ ค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ ครั้นถึงเดือนกันยายน “ปีเดียวกัน” จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าควรซื้อที่ผืนนี้ไว้เพื่อทำเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง

เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ ก่อนเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาล

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีบัญชาให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จ่ายเงินให้แก่เจ้าพระยารามราฆพเป็นจำนวน 1 ล้านบาท

หลังจากนั้น จอมพล ป. จึงนำรัฐบาลย้ายทำเนียบนายกรัฐมนตรีมาที่บ้าน 24 มิถุนา (ปัจจุบันคือพื้นที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2485 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ทำเนียบสามัคคีชัย" และ "ทำเนียบรัฐบาล" ตามลำดับ ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ซื้อทำเนียบรัฐบาลจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทำสัญญาซื้อขายกันในราคา 17,780,802.36 บาท และได้รับโอนกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512

เป็นการปิดตำนานบ้านนรสิงห์อย่างสมบูรณ์แบบ สะท้อนให้เห็นถึงยุคเปลี่ยนผ่านของบุคคลจากตัวบ้าน จากเดิมเป็นที่อยู่ของคนที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดค่อยๆ กลายเป็นที่ทำการของทำเนียบรัฐบาลในที่สุดนั่นเอง

อ้างอิง

SilpaMag 1 / SilpaMag 2 / The Cloud /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง