svasdssvasds

เปิดประวัติ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" อดีตที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจหลายสมัย

เปิดประวัติ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" อดีตที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจหลายสมัย

เปิดประวัติ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายสมัย เจ้าของฉายา "มันสมองแห่งชาติ"

SHORT CUT

  • นายกฯ ลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี หนึ่งในนั้นมีชื่อของ พันศักดิ์ วิญญรัตน์
  • พันศักดิ์ เคยเป็นอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายสมัย 
  • ล่าสุดเคยนั่งกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เปิดประวัติ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายสมัย เจ้าของฉายา "มันสมองแห่งชาติ"

จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกฯ มอบหมาย โดยมีองค์ประกอบหน้าที่ และอำนาจ โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาฯ ถือเป็นบุคคลที่เคยปลุกปั้นนโยบายประชานิยมให้กับทักษิณ ชินวัตร จนเป็นที่ติดตาตรึงใจประชาชนระดับฐานราก โดยเฉพาะโครงการโอท็อป   

คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ และอำนาจ ดังนี้

  1. วิเคราะห์ และศึกษาโอกาสในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเสนอแนะแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล
  2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม
  3. ให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงแสดงความคิดเห็นส่งเอกสารให้ข้อมูลหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
  4. ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกฯ มอบหมาย

"พันศักดิ์ วิญญรัตน์"  ยังเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญหลายนโยบายในรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 เช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ทักษิโณมิกส์"

เปิดประวัติ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" เจ้าของฉายา "มันสมองแห่งชาติ"

  • เกิดวันที่ 19 ส.ค. 2486
  • บุตร นายประยูร-นางสุโรจน์ วิญญรัตน์
  • คู่สมรส อรัญญา วิญญรัตน์

 

ประวัติการศึกษา "พันศักดิ์ วิญญรัตน์"

  • มัธยม : โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
  • ปริญญาตรีกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ประวัติการทำงาน "พันศักดิ์ วิญญรัตน์"

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน พันศักดิ์ได้เข้าทำงานในฝ่ายวิชาการ ของธนาคารกรุงไทย แต่ทำงานอยู่เพียงช่วงสั้นๆ ก็ลาออก หลังจากนั้นได้ทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World (ปัจจุบันรวมกิจการกับบางกอกโพสต์)

ต่อมาพันศักดิ์ได้ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเกือบ 10 ปี มีภรรยาคนแรกเป็นชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสมาชิกตระกูลใหญ่ในสังคมอเมริกัน และเป็นที่ปรึกษาให้กับ NM Rothschild & Sons Co.,Ltd.

  • พ.ศ. 2513 ได้ร่วมกับเพื่อนทำนิตยสาร "จัตุรัส" รายเดือน และในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดทำหนังสือพิมพ์จัตุรัสรายสัปดาห์ มีการลงเนื้อหาต่อต้านฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ทำให้ถูกมองเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย และมีปัญหาต้องปิดกิจการและเปิดใหม่ในชื่อเดิมหลายครั้ง
  • ต่อมาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 หนังสือพิมพ์จัตุรัสถูกสั่งปิดอีกครั้ง และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในฐานะบรรณาธิการ ถูกจำคุกในข้อหาภัยสังคม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากทางการได้รับการร้องขอจากสหรัฐอเมริกาโดยตรง
  • ปี 2531 ประธานที่ปรึกษานายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่เบื้องหลังนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

 

 

  • ปี 2534 เหตุการณ์รัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมีการระบุถึงกรณี รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลและคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายแยบยลทางการเมือง สร้างภาพลวงตาประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตย ต้อง หนีไปอยู่ที่อังกฤษ
  • ปี 2544 ได้รับการทาบทามให้นั่งตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมนั่งประธาน กรรมการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และประธาน กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
  • ปี 2549 ต้องยุติบทบาทที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีลงอีกครั้งพร้อมกับการรัฐประหารในประเทศไทย 
  • ปี 2550 กลับมาปรากฏอีกครั้งตัวภายหลังการชนะเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน โดยได้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช 
  • ปี 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาชุดนี้จึงถูกจับตามองว่าจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related