SHORT CUT
“มาดามเดียร์” ยกเคสลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนมุมผู้หญิงในวงการการเมือง เวทีเสียงผู้หญิง สู่พลังพัฒนาประชากรไทย ชี้สังคมมักมองแต่เปลือกนอกจนไม่สนใจสิ่งที่ตั้งใจจะทำ ปลุกพลังเคารพตัวเองฝ่ากำแพงสังคม
วันที่ 6 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. ที่อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น.ส.วทันยา บุนนาค ร่วมกิจกรรมเวที “เสียงของประชากรหญิง สู่พลังแห่งพัฒนาประชากรไทย Voice of her” จัดโดยโครงการ Her Awards UNFPA Thailand 2024 ที่มีผู้หญิงที่เป็นผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแสดงความคิดเห็น
น.ส.วทันยา ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะนักการเมืองผู้หญิง ว่า วันนี้เมื่อมีการพูดถึงผู้หญิงกับการเมือง ทุกคนมักจะต้องพูดถึงเรื่องของสัดส่วนว่าในแต่ละปีมีนักการเมืองหญิงเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งตนมองว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งเรื่องชี้วัด และเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีพัฒนาการที่ดี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการเติบโตดีขึ้น
แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเจอก็ยังหนีไม่พ้นกับระบบกรอบความคิดวัฒนธรรมของชายเป็นใหญ่ที่ยังคงครอบสังคมไทยอยู่ ทั้งนี้ รัฐสภาหรือการเมือง คือเวทีที่เป็นแกนหลักของประเทศ ที่ควรจะทำให้เป็นสถานที่หรือเวทีนี้ให้เกิดความสง่างามที่สุดที่จะเป็นแบบอย่างให้สังคมไทย
"เพราะวันที่เราจะต้องไปสภา ไปทำงาน เรายังไม่ทันได้พูดอะไรเลย สังคมก็กลับมามองว่าวันนี้คุณแต่งตัวอย่างไร คุณแต่งหน้าแบบไหน มันหลายเป็นว่าเรากำลังถูกจับจ้องอยู่เพียงแค่เปลือกนอกความสวยงาม โดยที่ไม่ได้มีใครสนใจในสิ่งที่เราจะพูดหรือว่าวันนี้เรากำลังจะแสดงจุดยืนของเราว่าจะมาทำอะไรในเวทีการเมือง ทำให้คุณค่าของงานที่เราต้องการสื่อสารไปกับสังคมก็ถูกมองข้ามไป"
น.ส.วทันยา ยังได้เล่าประสบการณ์ตัวเองในแวดวงการเมือง ว่า ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากการที่ตนได้ลงสมัครเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าเกือบจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ลงสมัครในฐานะแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้สิทธิความเท่าเทียมที่เราตระหนัก และก็น่าจะเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกเรียกร้องขับเคลื่อนในแคมเปญการเมืองมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงเวลาจริงแล้วก็หนีไม่พ้นการปิดกั้น ทั้งนี้เมื่อเราพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ก็จะหนีไม่พ้น 2 เรื่องหลัก คือ ปัญหาเรื่องของกรอบวัฒนธรรมที่เป็นเหมือนกันทุกสังคมในประเทศทั่วโลก และเรื่องของความแตกต่างในเรื่องของเพศกำเนิด
น.ส.วทันยา ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า วันนี้สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตรงกัน คือ การเคารพในตัวเอง เพราะเราเชื่อมั่นในตัวเอง โดยที่ไม่นำเอาความคิดของคนอื่นมาล้อมกรอบตัวเองว่าเราทำไม่ได้เพียงเพราะเราเป็นเพศหญิง เพราะสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์แล้วว่า หากเราเคารพในตัวเองก็จะทำให้เรามีแรงผลักดันนำไปสู่ความสำเร็จได้ และนอกจากการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ตนอยากให้เวทีนี้เป็นประตูนำไปสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมในมิติอื่น ทั้งเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา ผู้ทุพพลภาพ กลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงมิติความเท่าเทียมในด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เรายอมรับกันในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน