SHORT CUT
"จีน" เตรียมซ้อมรบรอบ "ไต้หวัน" กดดัน "ไล่ ชิง เต๋อ" หลังจากรับตำแหน่งได้ 3 วัน ตอกย้ำนโยบายจีนเดียว "การทูตเรือปืน" ยุคใหม่ "ไม่เน้นรบแต่เน้นซ้อม"
หลังจากไต้หวันได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง อย่าง "ไล่ ชิง เต๋อ" ซึ่งมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับรัฐบาลจีนปักกิ่ง ทำให้เกิดความตึงเครียดอีกครั้งในบริเวณช่องแคบไต้หวัน และทะเลจีนใต้
รัฐบาลปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการตราหน้า ไล่ ชิง เต๋อ ว่าเป็น “พวกแบ่งแยกดินแดน” หลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ของไต้หวันเพียง 3 วัน
ขณะเดียวกันเตรียมประกาศซ้อมรบรอบไต้หวัน โดยมีพื้นที่ซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และขยับเข้าใกล้เรื่อยๆ
กลายเป็นสถานการณ์การเมืองโลกร้อนแรง ณ ขณะนี้ต่อท่าทีของจีน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการตั้งคำถามว่าจีนพร้อมมากแค่ไหนในการจะรบกับไต้หวัน
เพราะถึงแม้ไต้หวันจะมีกองทัพที่ไม่อาจต่อต้านแสนยานุภาพของกองทัพจีนแดงได้ แต่ยังมีประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในภูมิภาคอาเซียนในบางประเทศคอยสนับสนุนอยู่
เท่ากับว่าการซ้อมรบครั้งนี้ของจีนอาจไม่ใช่การกระทำที่เอาจริงหรือไม่ เป็นเพียงการขู่ หรือที่เราเคยรู้จักกันว่าเป็นการทูตเรือปืนที่ครั้งอดีตเอาเรือปืนเข้ามาใกล้เมือง เพื่อขู่ให้ยินยอมหรือยอมแพ้
การซ้อมรบครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการทูตเรือปืนยุคใหม่ที่เน้นรบไม่เน้นซ้อม ที่ถึงแม้จะไม่รบจริงๆ แต่เป็นการแสดงแสนยานุภาพให้รับรู้และทำให้ตระหนักถึงนโยบายจีนเดียวของจีน
การทูตเรือปืนหรือ การทูตแบบนาวิกานุภาพดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนโยบายการต่างประเทศโดยการแสดงนาวิกานุภาพ (Naval Power) ให้ปรากฏอย่างชัดแจ้ง หรือสร้างภัยคุกคามทางทหารทั้งทางตรงและทางอ้อม หากไม่สามารถยอมรับข้อตกลงของกำลังที่เหนือกว่าได้ การทูตแบบใช้นาวิกานุภาพถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้อำนาจครอบงำ (Hegemony)
นักการทูตและนักวิชาการทางเรือ เจมส์ เคเบิล ให้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า "เป็นการใช้หรือสร้างภัยคุกคามโดยการใช้กำลังทางน้ำภายใต้ขอบเขตที่ไม่ถึงขั้นการทำสงคราม เพื่อคว้าความได้เปรียบหรือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เผชิญความสูญเสียในข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือต่อชาวต่างชาติในดินแดนหรือเขตอำนาจของรัฐตนเอง"
ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบนี้คือประเทศที่มักมีศักยภาพทางด้านการทหารสูงกว่าประเทศที่มีศักยภาพทางการทหารน้อยกว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต
เห็นได้จากกรณีการเดินเรือของเจิ้งเหอในสมัยราชวงศ์หมิงที่ออกเดินทางเรียกร้องบรรณาการจากรัฐที่ตนเองไปเยือน ตั้งแต่เอซียจรดแอฟริกา
หรือกรณีเรือดำของสหรัฐอเมริกา ที่นำโดย พล.ร.จ.แมทธิว คัลเบรธ เพร์รี นำกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกากดดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นของโชกุนโตกุกาวะสมัยเอโดะเปิดประเทศทำการค้า
หรือที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดคือการที่เรือฝรั่งเศสเข้ามาในอ่าวไทยสมัย รศ.130 เพื่อเรียกร้องดินแดนจากประเทศสยามสมัยรัชกาลที่ 5
นี่คือภาพสะท้อนของการทูตเรือปืนในอดีตที่เห็นได้ชัดเจน
สถานการณ์โลกปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าจีนเองถือว่าเป็นมหาอำนาจทางด้านการทหาร กองทัพเรือของจีนก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศมหาอำนาจ เห็นได้จากการเริ่มผลิตเรือบรรทุกเครื่องบิน การส่งออกเรือดำน้ำ ตลอดจนการแสดงแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้สม่ำเสมอ สร้างความตึงเครียดให้กับทั้ง ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ตลอดจนไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ
หรือในบางครั้งจีนมักโชว์ศักยภาพขององทัพเรือตนเองในการที่เรือดำน้ำของจีนไปโผล่กลางกองเรือสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นการตอกย้ำว่าจีนนั้นไม่ธรรมดา อย่ามารุกล้ำกันจนเกินไป
ล่าสุดกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนระบุว่า กลุ่มเกาะรอบนอกเหล่านี้ "ถูกล้อม" โดยกองกำลังจีน สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี เผยแพร่คำกล่าวของนายจาง ฉือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนว่า การฝึกซ้อมรบดังกล่าว แสดงให้เห็นถึง "ความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในการยึดการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของไต้หวัน"
และการซ้อมรบดูเหมือนว่าเป็นการจำลองการโจมตีไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ ขาดเพียงแต่การส่งกำลังทหารจีนลงเหยียบบนแผ่นดินไต้หวันเท่านั้น
นายเฉีย ชุง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของไต้หวันบอกว่า การซ้อมรบที่รวมเอาเกาะต่าง ๆ นอกชายฝั่งของไต้หวันเข้าไปด้วย แสดงถึงแผนการของจีนที่จะกำจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถสกัดการโจมตีกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกด้วยว่า การซ้อมรบ 2 วันของจีน ไม่ใช่การฝึกซ้อมครั้งสุดท้ายที่ไต้หวันจะต้องทนในปีนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อรหัสซ้อมรบของจีนที่ชื่อว่า Joint Sword 2024-A (หรือที่แปลว่า การลงดาบร่วมของปี 2024 ครั้ง A ซึ่งมีนัยว่าจะมีครั้งถัดไปอีก)
ขณะเดียวกันเองจีนซึ่งถือนโยบายจีนเดียวมาตลอดภายหลังสงครามโลกครั้ง 2 และจนถึงปัจจุบันในทศวรรษ 2020 สีจิ้นผิงตอกย้ำนโยบายความเป็นจีนเดียว มีท่าทีปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากจีน ไม่ว่าจะในทิเบต ซินเจียง ฮ่องกง อย่างแข็งกร้าวมากขึ้น
หรือในบางครั้งใช้นโยบายเคลื่อนย้ายประชากรชาวจีนฮั่นเข้าไปในพื้นที่ที่กล่าวมา แน่นอนว่าในเมื่อจีนยังไม่สามารถครอบครองไต้หวันได้อย่างเบ็ดเสร็จย่อมแสดงท่าทีแข็งกร้าวออกมาในขณะที่ประชากรไต้หวันอยู่คนละข้างกับรัฐบาลจีนปักกิ่ง
ดังนั้นในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเปรียบเสมือนนโยบายเรือปืนยุคใหม่ "ไม่เน้นรบ แต่เน้นซ้อม" เพื่อแสดงศักยภาพทางทหารของรัฐบาลปักกิ่งออกมาแสดงให้เห็นว่าในทะเลจีนใต้นี้มหาอำนาจคือจีน และต้องการแสดงให้ไต้หวันเห็นว่าอันที่จริงแล้ว "รัฐบาลวอชิงตันอยู่ไกลไต้หวันมากกว่ารัฐบาลปักกิ่ง" ฉะนั้นจะทำอะไรต้องประเมินให้ดี
สถานการณ์การเมืองโลกจะเป็นเช่นนี้ต่อไปยาวนานแค่ไหน จะตึงเครียดอย่างไร สุดท้ายแล้วสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันย่อมผูกติดกับสถานการณ์โลกอย่างแน่นอน
อ้างอิง
BBC / Burapa / SilpaMag / TheMatter /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง