SHORT CUT
พาไปสำรวจ ยะลา-ปัตตานี ดินแดนปลายด้ามขวานของไทยที่สามารถพัฒนาได้ด้วยการกระจายอำนาจแค่สะกิดสักนิดรับรองเจริญ
SPRiNG มีโอกาสเดินทางไปสำรวจยะลากับปัตตานีกับ กับ สส.อิ่ม ธีรรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ในการไปครั้งนี้เปรียบเสมือนการไปบ้านเมืองที่เราอาจไม่รู้จัดก็ว่าได้
เพราะในความทรงจำ ยะลา-ปัตตานี คือพื้นที่ที่ภาพจำไม่ดีเสียเท่าไหร่ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ในความเป็นจริงที่ได้ก้าวเข้าไปสู่ ยะลา-ปัตตานี
SPRiNG พาไปเปิดม่าน แดนปลายด้ามขวานของไทย ที่ใครๆ อาจไม่คาดคิดเพราะยะลา-ปัตตานี มีดีกว่าที่คิด แค่สะกิดด้วยกระจายอำนาจและเทคโนโลยีสักนิดรับรองเจริญ ว่าแล้วไปชมกันเพราะเม็ดทรายเม็ดสุดท้ายอยู่ที่ปัตตานีแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่พูดถึงในประเทศไทย ณ ขณะนี้ตลอดเวลา แต่ไม่เคยมีภาพที่เห็นชัดเจนสักที ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ ยังไงๆ ก็ยังต้องพึ่งระบบราชการแบบรวมศูนย์เสมอ
แต่ไม่ใช่ที่เทศบาลนครยะลา เทศบาลที่ใครๆ คิดว่าเล็กงบประมาณน้อย แต่ด้วยหัวใจที่ใหญ่ของผู้นำ ทำให้เทศบาลนครยะลา เป็นเทศบาลแห่งความหวังให้กับประชาชนได้
โดยเป็นเทศบาลนครยะลา เป็นเทศบาลที่อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมมัด มาดูงานเรื่องความสะอาด ขณะเดียวกันเองเทศบาลนี้ UN มาทำงานร่วมในแง่การมีส่วนร่วมของเมือง และในอนาคตมีแนวคิดจะดึง UN มาตั้งที่เทศบาลนครยะลา
ถามว่าเทศบาลนี้มีแนวคิดอย่างไรในการสร้างเมือง คำตอบก็คือ การฟื้นฟูต้นทุนเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุนทางสิ่งแวดล้อม พหุวัฒนธรรมและด้านการศึกษา
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ณ ปัจจุบัน คือการนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้กับเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอป Yala Market ส่งของสินค้าทั้งหมดช่วยทั้งคนขายและคนซื้อ แนวคิด Free Wifi ติดหน้าบ้าน โดยเรื่อง Wifi นั้นได้เริ่มดำเนินการให้เอกชนเช่าสายสื่อสาร มีการต่อรองลดราคาเน็ตให้ประชาชน เพราะตอนนี้ท่อสื่อสารทั้งหมดในถนนสายหลักเป็นของเทศบาล
แต่เทศบาลเองก็ยังติดปัญหามากมาย จึงมีข้อเรียกร้องที่อยากเรียกร้องต่อรัฐบาลกลาง คือ ยกเลิกระเบียบการประสานงานระหว่างองค์กรส่วนท้องถิ่น และให้ความอิสระด้านการเงินในการดำเนินให้เทศบาลสามารถมีอิสระในการลงทุนเพื่อประชาชนมากขึ้น
แต่ใช่ว่าการพัฒนาเมืองเกิดจากการลงมือทำ ณ ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีแนวทางที่ต่อยอดไปถึงอนาคตด้วย คือการที่ผลงานต้องมีตลอดเวลา ยิ่งไม่มีคู่แข่งยิ่งทำงาน เพราะจะทำให้ท้องถิ่นเกิดการเปรียบเทียบแข่งขันการทำงานและประชาชนจะได้ประโยชน์
หรือในการประชุมแต่ละครั้งต้องมีวาระประชาชนขึ้นก่อน ให้คนเรียนรู้อยู่ด้วยกัน มอบอำนาจให้ชุมชนจัดการกันเอง
ขณะที่ ผอ. หน่วยงานที่จะย้ายมาที่เทศบาลนครยะลา ต้องทำข้อสอบ 2 ข้อทดสอบทัศนคติ โดยต้องมีคุณสมบัติผู้นำ กล้าหาญ กล้ารับผิดชอบ และมีปัญญา นี่คือเงื่อนไขเลย
เทศบาลนครยะลามีแนวคิดพัฒนาเมืองในอนาคตโดยฝากความหวังไว้กับเยาวชน คือมีโครงการให้เด็กเรียนในเทศบาลทุกคนในตอนเช้าทำสาธารณประโยชน์ ช่วงบ่ายเรียนหนังสือ ปลูกฝังให้เขาเป็นเจ้าของเมือง มีหน้าที่ต่อเมือง และมีโครงการที่เด็กต้องออกแบบเมืองให้ดู เป็นการปลูกฝังตั้งแต่เยาวชนให้รู้จักรักท้องถิ่นนั่นเอง
ห้องสมุดที่เทศบาลนครยะลาเป็นห้องสมุดประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นผ่านห้องสมุดได้ และหลักของห้องสมุดหนังสือต้องใหม่ตลอดเวลา
โดย TK Park ประกอบไปด้วย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ห้องทำ Podcast
อนาคตที่วางไว้ของเทศบาลนครยะลาที่เด่นๆ คือการตั้งมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ทำหลักสูตรพิเศษส่งคนไปเรียนเมืองนอกและกลับมาพัฒนาเมือง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เป็นไปได้หากมีการกระจายอำนาจที่เต็มตัว ฝันแค่ไหนก็ไปถึง
สถานที่ต่อมาที่เราได้ไปเยี่ยมชมคือ มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เก่าแก่อายุกว่า 450 ปีใน สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน
ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง (คำว่า ปิตู แปลว่า ประตู กรือบัน แปลว่า ช่องประตูที่มีรูปโค้ง) ช่วงเวลาที่มัสยิดกรือเซะถูกสร้างนั้นยังเป็นที่ถกเถียง บ้างว่าสร้างในรัชสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ โดยชาวบ้านเชื่อว่าสร้างตามแนวคิดของโต๊ะชาวเยเมนซึ่งเป็นลูกหลานศาสดาที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา
ต้องกล่าวก่อนว่าก่อนหน้าจะรับอิสลาม ปัตตานีนับถือศาสนาพุทธแบบมหายานคล้ายๆ จีนมี 2 ราชวงศ์ที่ปกครองคือราชวงศ์ศรีวังสา และราชวงศ์กลันตันที่ร่วมสมัยกับยุครัตนโกสินทร์ โดยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่ายุค 7 หัวเมือง
มัสยิดกรือเซะ สร้างด้วยเปลือกหอยบด ข้าวเหนียว น้ำผึ้ง อิฐ มาผสมกันแล้วสร้าง ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในเอเชียที่สร้างด้วยอิฐ เลียนแบบมัสยิดอัลอักซอในอิสราเอล บูรณะครั้งใหญ่ในปี 2478 และ 2547
แต่เพราะเหตุใดเราถึงรวมเลือนและไม่ได้รับรู้ข้อมูลของสถานที่ดังกล่าวทั้งๆ ที่เป็นมัสยิดที่มีความสำคัญ ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า เหตุที่ทำให้ไม่มีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานี เพราะในอดีตหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ กลัวข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และข้อมูลในพื้นที่มีน้อยเพราะได้นำข้อมูลหรือหลักฐานไปอยู่ที่มาเลเซียแล้ว
แต่ ณ ปัจจุบันสามารถอ่านเรื่องราวของมัสยิดผ่านการสแกน QR Code ได้แล้ว
ในทริปนี้สิ่งที่เราไปสำรวจเมืองไม่ได้สำรวจแต่วัฒนธรรมและเมืองอย่างเดียว แต่ได้เห็นปัญหาในพื้นที่ที่เราไปสำรวจอีกด้วย ปัตตานีมีปัญหาน้ำท่วมช่วงเดือน พฤศจิกายนและธันวาคม
โดยมีระบบแจ้งเตือนที่ค่อนข้างช้าง คือเป็นระบบโทรสาร และหนังสือ ที่ดีขึ้นหน่อยคือมีกลุ่มไลน์ ส่งโดยตรงให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อย่างเร็ว 2 ชม.ก่อนเกิดเหตุ ส่วนท้องถิ่นมีหอกระจายเสียง และมีการ Volume กันตลอด 24 ชม. ตอนนี้มีแอปที่เป็นโมเดลน้ำท่วมเท่านั้น และแม่น้ำปัตตานีไม่ถูกขุดลอกมา 20 ปี
ขณะเดียวกันสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีเงื่อนไขในเรื่องของการต้องมีนักท่องเที่ยว หรือหากมีการลงทุนต้องลงทุนเสาสัญญาณโซลาเซลล์ ซึ่งมีราคาสูง ทำให้ยามใดที่เกิดน้ำท่วมสัญญาณมักขาดหาย และเมื่อมีเกิดน้ำท่วมหนักๆ กสทช ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้
ทั้งหมดคือทริปของเราที่ไปท่องยะลาและปัตตานีเมื่อเราไปยลโฉมแล้วพบว่า ยะลา-ปัตตานี มีดีกว่าที่คิด แค่สะกิดด้วยกระจายอำนาจและเทคโนโลยีสักนิดรับรองเจริญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง