“ศิริกัญญา” สอนมวยรัฐบาล อย่านั่งนิ่งรอร้านค้ามาลงทะเบียน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ต้องเร่งสร้างแรงจูงใจธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ฟันธง “พายุหมุนเศรษฐกิจ” จะหมุนเงินเข้ากระเป๋าทุนใหญ่ ถ้ายังไม่ปรับเงื่อนไขเอื้อร้านค้าขนาดเล็กตอนนี้
วันที่ 20 เม.ย. 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวช่วงหนึ่งในเวที ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เงินกำลังจะหมุน…ไปไหน?! ฝากถึงรัฐบาลว่าตอนนี้อย่านั่งนิ่งๆ รอร้านค้ามาลงทะเบียนเอง แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้าทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาร่วมโครงการให้มากที่สุด พยายามทำให้พวกเขาอยากเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากที่สุด ไม่ให้ซ้ำรอย โครงการคนละครึ่งรอบสุดท้ายที่หลายร้านไม่ร่วม เพราะกลัวโดนเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งรัฐบาลอาจต้องคิดการนิรโทษกรรมการเก็บภาษีย้อนหลังหรือไม่ เหมือนช่วงปี 59-60 ที่เคยนิรโทษเพื่อดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบภาษีมาแล้ว ดังนั้นหากต้องการขยายฐานภาษีก็ต้องเปิดใจกว้าง มีนโยบายดึงเขาเข้ามาในระบบมากขึ้น
หรือที่รัฐบาลบอกว่าเงินหมื่นเอาไปลงทุนได้หากมารวมกัน แต่ในวันนี้ยังไม่มีรายละเอียดเลยว่า ถ้าจะเข้ามาเป็นร้านค้าในระบบภาษีต้องยื่นภาษีในปีที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าปีนี้เตรียมซื้อของมาขายเพื่อได้รับอานิสงค์จากดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องทำยังไงก็ยังไม่มีรายละเอียด หรือหากอยากให้เกิดการลงทุนจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือหรือไม่ เพราะหากโครงการนี้มาแค่ 6 เดือนแล้วหายไป คงไม่มีบริษัทไหนอยากลงทุนสร้างเครื่องจักรใหม่ เพราะระยะเวลาสั้นมาก อย่างมากก็แค่เติมของ ซื้อของเพิ่ม ผลิตของเพิ่ม แต่ไม่ถึงขั้นขยายต่อยอดธุรกิจ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ยินอะไรแบบนี้เลย
“ด้วยเงื่อนไขที่มีทั้งหมดตอนนี้ ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า เงินที่จะหมุน จะหมุนไปกระจุกที่ทุนขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการต่างๆ การสร้างเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้ร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หรือเงื่อนไขที่ต้องแลกเป็นเงินสดเฉพาะร้านที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น จะทำให้ร้านค้าขนาดเล็กที่สายป่านสั้นอาจจะยังไม่อยากเข้าร่วมโครงการก็ได้ ดังนั้นจะมีคนได้ประโยชน์เต็มๆ คือร้านค้าขายปลีกที่เป็น Chain ขนาดใหญ่ ร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ ที่ได้รับอานิสงค์เรื่องนี้ไปเต็มๆ ถ้ารัฐบาลยังไม่ปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ร้านค้าขนาดเล็กเข้ามาร่วมได้ เงินก็จะหมุนไปอยู่ในทุนใหญ่เท่านั้น เรื่องนี้จะสามารถพิสูจน์ได้ถ้าบล็อคเชนถูกทำให้โปร่งใส ก็จะทำให้เห็นว่ามีกระเป๋าเงินไหนที่ได้เงินมากเป็นพิเศษ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยังแก้ไขทัน ถ้าใส่ใจในเรื่องนี้มากเพียงพอ เพื่อให้เงินกระจายไปทั่วถึง” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
เพราะเป้าหมายของโครงการนี้มีอย่างเดียว คือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้จีดีพีเติบโต 1.2-1.8% ไม่ได้ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากหรือกระจายรายได้ให้พี่น้องประชาชน แต่ถ้าประชาชนช่วยกันส่งเสียง ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนเงื่อนไขได้ว่าจะทำอย่างไรให้รายได้ของคนตัวเล็กตัวน้อยดีขึ้น สร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น กระจายรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการใช้ซุปเปอร์แอพในการทำโครงการนี้ว่า ซูเปอร์แอปคือแอปที่มีความสามารถทำได้หลายอย่างในแอปเดียว แต่ที่ผ่านมาแอป “ทางรัฐ” ดูข้อมูลได้อย่างเดียว ยังทำธุรกรรมอะไรไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กังวลเรื่องซุปเปอร์แอปว่าจะใช้ทันหรือไม่ เพราะหากทำเป็นหน้ากากหรือระดับเบื้องต้น ก็พอเป็นไปได้ แต่หากบอกว่าคำนิยามของซุปเปอร์แอปหมายถึงฟังก์ชันทุกอย่างของบริการภาครัฐ ต้องมาปรากฏบนซุปเปอร์แอปนั้น ตนการันตีได้เลยว่าอย่างไรก็ไม่ทันภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ จึงเชื่อว่าช่วงแรกที่มีการเปิดตัวโครงการ จะเป็นแอปทางรัฐที่มีฟังก์ชันเดิมเพิ่มเติมดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป ส่วนในอนาคตจะพัฒนาไปเป็นซูเปอร์แอปของรัฐได้หรือไม่ โดยหลักการไม่ผิดแต่อย่างใด เช่น ในประเทศเอสโตเนียหรือสิงคโปร์ ก็มีแอปเช่นนี้ที่ประชาชนสามารถใช้บริการของรัฐได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนมองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่น หากเปิดใช้บริการแอปวันแรกแล้วแอปล่ม ตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากนี้ รัฐบาลเคยกล่าวว่าจะนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อแบ็กอัปข้อมูล แต่การประมวลผลธุรกรรมการเงินยังคงเป็นระบบรวมศูนย์ (centralization) ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรออกมาพูดให้ชัด คือหากอ้างว่าข้อมูลเก็บในบล็อกเชน ก็หมายความว่าประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบธุรกรรม (transaction) ได้ทั้งหมด แต่จะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะมีเพียงวอลเล็ตไอดีที่แสดงการทำธุรกรรม หากรัฐบาลย้ำว่าเป็นระบบบล็อกเชนก็ควรเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้เห็นว่ามีวาฬ (Whale) หรือคนที่ดูดเงินจากกระเป๋าคนอื่น อยู่ในระบบเท่าไร จะสามารถวัดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจได้ว่าโครงการนี้ เศรษฐกิจหมุนไปกี่รอบและสุดท้ายหลังจากหมุนแล้ว เงินไปอยู่ในกระเป๋าใครมากที่สุด