SHORT CUT
"พรรคก้าวไกล" ตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรคออกไป จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยศาลคดียุบพรรค ย้ำกำลังใจดีแต่ภายในหวั่น เพราะทางข้างหน้าคือปากเหวพิพากษาสถานะพรรคและแกนนำสำคัญ
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พรรคก้าวไกล จัดขึ้นแล้ววันนี้ (6 เมษายน 2567) หลายคนที่เคยจับตาว่าจะมีการคืนเก้าอี้หัวหน้าพรรคก้าวไกลจาก “ชัยธวัช ตุลาธน” ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กลับมาเฉิดฉายต่อ หลังเป็นหัวหน้าขัดตาทัพดึงเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ต้องผิดหวังไป เพราะที่ประชุมพรรคมีมติ “เลื่อน” การพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัยคดียุบพรรคที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ
แม้พรรคก้าวไกลจะย้ำว่าไม่หวั่นกลัวกระบวนการนิติสงครามไม่ว่ารูปแบบใด หรือบอกว่าได้วางแผนรองรับทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้ไว้หมดแล้ว แต่สถานการณ์ภายใน ทุกองคาพยพล้วนจิตตกกับสิ่งที่เกิดขึ้น พรรคอยู่ใกล้ปากเหวอีกครั้งหากศาลลงดาบยุบพรรค-ตัดสิทธิ์แกนนำ เห็นได้ชัดจากการไม่กล้าขยับโครงสร้างพรรคในช่วงนี้ไปก่อน เพราะหาก “พิธา” ที่แม้จะรอดคดีถือหุ้นสื่อไปแล้ว แต่เพิ่งมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าทำผิด พรบ.ชุมนุมสาธารณะจากการชุมนุมสกายวอร์ค เป็นไพ่เสียเปรียบอีกหนึ่งใบ ขยับหัวหน้าตอนนี้จึงไม่มีผลดีมากกว่าผลเสีย จึงเลือกอยู่นิ่งๆ รอคำวินิจฉัยดีกว่า
สิ่งที่เห็นจากการประชุมใหญ่ของพรรคก้าวไกล ที่เชื่อว่าจะเป็นประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายถ้าไม่รอดคดีล้มล้างการปกครอง คือข้อความที่ “ชัยธวัช” สื่อสารออกมาบนเวที เหมือนไม่ได้บอกแค่สมาชิกพรรค แต่ต้องการบอกกับผู้มีอำนาจกำหนดหมากกระดานการเมือง ย้ำว่า “พรรคก้าวไกล” ไม่ใช่ตัวอันตราย ไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่จะเป็น “โอกาส” พาสังคมไทยเดินไปข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะทันกาลไหม เพราะผู้มีอำนาจต่างตัดสินไปแล้วว่าก้าวไกลคือตัวอันตรายมากที่สุดต่อกระดานการเมืองไทย
“เราต้องแสดงให้ผู้มีอำนาจได้ประจักษ์ว่า พรรคก้าวไกลไม่ใช่ภัยคุกคามของสังคมไทย เราไม่ใช่ภัยคุกคามของใคร แต่พรรคก้าวไกลจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของสังคมไทย พรรคก้าวไกลจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสังคมไทยในอดีตเพื่อเดินหน้าไปสู่อนาคต เราจะเป็นคนที่เชื่อมอดีตที่มีข้อจำกัดที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เดินหน้าไปสู่อนาคตที่พวกเราเท่าเทียมกันเท่าทันโลก เราเท่านั้นเป็นคำตอบสุดท้าย” ชัยธวัช กล่าวบนเวที
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยังปฏิเสธตอบเรื่องพรรคสำรอง ย้ำว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตไกลตามที่เป็นข่าว และการไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค จึงยังไม่เห็นการส่งสัญญาณว่าแกนนำพรรครุ่นต่อไปจะดันใครขึ้นมา ระหว่างที่พรรคยืนอยู่บนเส้นด้าย
เป็นอีกครั้งที่ต้องจับตา ระหว่าง พรรคที่บอกว่าคือ “สถานที่รวบรวมผู้คนที่เชื่อในอุดมการณ์เดียวกัน"อย่างพรรคก้าวไกล กับพรรคที่บอกว่าคือ “กรรมพันธุ์ที่ตกทอด” อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองแบบไหนที่สังคมไทยต้องการและเลือกให้ได้รับโอกาสในการเติบโตต่อไป