SHORT CUT
เปิดไทม์ไลน์ ที่มาที่ไป "พิธา - ก้าวไกล" เสนอแก้ ม.112 จนถูก กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
วันนี้ (12 มี.ค. 67) กกต. มีมติส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล จากกรณี แก้ไข ม.112 ทำให้ต้องจับตาดูกันอีกครั้งว่า ครั้งนี้พรรคก้าวไกลจะรอดหรือไม่?
ทั้งนี้ ประเด็นที่พรรคก้าวไกล มีการเสนอแก้กฎหมาย "ยกเลิก" มาตรา 112 นั้น มีที่มาจากวันที่ 10 ก.พ. 64 โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในช่วงเวลานั้น และ ส.ส. พรรคก้าวไกลอีก 44 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112
ต่อมา วันที่ 30 พ.ค. 66 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของ พระพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องกับอัยการสูงสุด ว่าการกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่ทว่าเรื่องไม่มีความคืบหน้า นายธีรยุทธจึงเดินหน้าต่อด้วยการมายื่นศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 มิ.ย. 66 แทน ซึ่งครั้งนี้ศาลฯ รับคำร้องและพิจารณา-สอบพยาน-ตรวจเอกสารหลักฐานไปถึง 37 ครั้ง
จนในที่สุด วันที่ 31 ม.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมาว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) เข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยทันที
หลังจากบทแรกจบลงไป ก็เป็นการเริ่มต้นบทต่อไปทันที เพราะหลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีแก้ ม.112 ของนายพิธา และพรรคก้าวไกลเพียงหนึ่งวัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ ก็ได้เดินทางมายื่นเรื่องต่อ กกต. ในวันที่ 1 ก.พ. 67 โดยขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลจากปมแก้ ม.112
หลังจากนั้น ในวันที่ 29 ก.พ. 67 ก็มี ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ วินิจฉัยศาล รธน. ฉบับเต็ม ต่อกรณีที่มีมติเอกฉันท์ “พิธา-ก้าวไกล” แก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองฯ
และสุดท้ายก็มาถึงวันนี้ ที่ กกต. มติเอกฉันท์ส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญให้ ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค โดยก่อนที่จะมีมติส่งเรื่องดังกล่าว กกต.ได้มีการพิจารณาผลการศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมาแล้ว และความเห็นที่สำนักงาน กกต.เสนอ ว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายเป็นความผิด มาตรา 92 (1) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
โปรดติดตามตอนต่อไป…
ข่าวที่เกี่ยวข้อง