สส.รัฐบาลคว่ำญัตติประชามติแก้ รธน.พรรคก้าวไกล อ้างมี คกก.ศึกษาอยู่แล้ว ฝ่ายค้านเชื่อรัฐบาลไม่จริงใจ เตือนอย่าใช้ รธน.เป็นตัวประกัน ระวังเป็นระเบิดเวลาเหมือนเงินดิจิทัล
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 261 เสียง ต่อ 162 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบญัตติการขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า ประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน" ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติ ได้ชี้แจงสาเหตุการเสนอญัตติดังกล่าวว่า เพื่อเป็นกระดุมเม็ดแรกในการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเริ่มนับหนึ่งฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศ เพราะลึกๆ แล้ว ยังไม่มั่นใจว่า รัฐบาลคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติ และคำถามที่ถูกใช้ และเชื่อว่า ญัตตินี้จะเป็นประโยชน์ และไม่เสียหาย
ซึ่งหากรัฐบาลคิดเช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล สส.พรรคร่วมรัฐบาลก็คงไม่ลำบากใจ ที่จะสนับสนุนญัตตินี้ หรือหากรัฐบาลยังไม่มั่นใจการจัดการออกเสียงประชามติ และรูปแบบคำถาม การอภิปรายญัตตินี้ในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นทุกฝ่าย หรือหากรัฐบาลยังคิดต่าง ฝ่ายค้าน ก็ยิ่งจำเป็นจะต่อการเสนอญัตตินี้ เพื่อเป็นหนทางของฝ่ายค้านได้รับการตอบสนองจากสภาผู้แทนราษฎร หรือหากจะมีการเสนอ ยื่นร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขมาตรา 256 พร้อมกำหนดให้มี สสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีการออกเสียงประชามติ ก็อาจจะถูก สส. และ สว.บางส่วน ปัดตกร่างดังกล่าว โดยอ้างว่า จะต้องมีการจัดการออกเสียงประชามติก่อนที่จะแก้ไข ซึ่งผลการออกเสียงประชามติที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นหลักประกันไม่ให้ สส. และ สว.ตีตกเจตน์จำนงของประชาชน
นายพริษฐ์ ยังย้ำหลักการสำคัญ ที่ควรถูกตัดสินโดยประชาชน และบรรจุไว้ในคำถามการออกเสียงประชามติว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ที่ประชาชนมีความเห็นต่างกันว่า ส่วนใดของรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาที่อยากเห็นการแก้ไข
ดังนั้น หากจะให้รัฐธรรมนูญ โอบรับทุกความเห็นที่แตกต่างกัน และแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จึงไม่ควรกำหนดคำถามในลักษณะคิดแทนประชาชน แต่ควรเปิดกว้างสำหรับทุกความเห็น ซึ่งการเปิดกว้างให้มีการแก้ไขทั้งหมดได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เนื้อหาทั้งหมดจะถูกแก้ไข เพราะหากเนื้อหาใดดีอยู่แล้ว ก็ย่อมไม่ได้รับความเห็นชอบให้ถูกแก้ไข
พร้อมย้ำว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือรูปแบบรัฐแน่นอน เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกครอง และรูปแบบรัฐได้
ขณะที่ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายยืนยันว่า ตลอดเวลาที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง โดยได้ย้ำนโยบายสำคัญในการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงยืนยันต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะจัดการออกเสียงประชามติให้เกิดขึ้นจริง และมี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่เคยสัญญาไว้กับประชาชน พร้อมไม่ปฏิเสธกลไกรัฐสภา ในการเสนอจัดการออกเสียงประชามติ
แต่มองว่าในทางเทคนิคนั้น กลไกรัฐสภา ก็อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จึงควรใช้กลไกการใช้มติคณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และทำให้การจัดการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นจริง
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดออกเสียงประชามติ ที่มนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ จะใช้เวลา และขั้นตอนมากไปหรือไม่นั้น นางสาวขัตติยา ยอมรับว่า อาจใช้เวลามาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็เพื่อให้แน่ใจว่า รัฐธรรมนูญ จะถูกยกร่างใหม่จริง เพราะที่ผ่านมา มีการตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตีความการจัดการออกเสียงประชามติ รวมถึงต้องอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้การวินิจฉัยบางขั้นตอน ขัดต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องชะงัก และเริ่มต้นใหม่ แต่พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การจัดการออกเสียงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นการออกเสียงประชามติแบบเต็มใบ รับฟังความเห็นประชาชนทั้งที่มา และเนื้อหาอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับ นายอรรถกร ศิริลัทยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องสอดคล้องกับเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ซึ่งรวมหมวด 1 รูปแบบรัฐ และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยที่พรรคพลังประชารัฐ จะไม่สนับสนุนการแก้ไขอย่างแน่นอน เพราะพรรคฯ มีจุดยืนเรื่องดังกล่าวชัดเจน พร้อมยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาล มีความจริงใจ และตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดการออกเสียงประชามติ และยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่ม 2 ชุด
ดังนั้น รัฐสภา จึงควรให้เวลารัฐบาล และอนุกรรมการ 2 คณะ ซึ่งหากกระบวนการไม่คืบหน้า พรรคพลังประชารัฐ ก็พร้อมใช้กลไกนิติบัญญัติเร่งรัดรัฐบาล แต่หากสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบญัตติของพรรคก้าวไกลในวันนี้ (25 ต.ค.) ก็จะเป็นการทำงานข้ามหัวรัฐบาล และยังไม่สามารถทราบได้ว่า ก่อนที่มติจะไปถึงคณะรัฐมนตรี วุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ จึงควรให้เวลาได้ทำงานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ของพรรคก้าวไกล และมั่นใจว่า หลังการลงมติ จะต้องมีความพยายามบิดเบือนว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการที่มีที่มาหลากหลาย ขึ้นมาศึกษาหาแนวทางเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่พรรคก้าวไกล กลับไม่เข้าร่วมคณะกรรมการชุดดังกล่าว จนต้องมาเสนอญัตตินี้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และพรรคภูมิใจไทย ไม่สามารถลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ได้ เพราะมีการระบุในคำถามประชามติให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ อาจเป็นการผูกมัดให้มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ด้วยก็ได้ จึงทำให้พรรคภูมิใจไทย ยอมรับญัตติดังกล่าวไม่ได้
แต่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ชี้แจงสาเหตุกรณีที่พรรคก้าวไกล ไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดออกเสียงประชามติ ที่มนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นั้น เนื่องจาก กรรมการดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร แต่พรรคก้าวไกล ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในนิติบัญญัติ และไม่เชื่อวิธีคิด และกระบวนการของฝ่ายรัฐบาล ที่ผิดไปจากการหาเสียงสัญญากับประชาชน โดยพยายามพิสูจน์ความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยใช้กระบวนการนิติบัญญัตินั้น พรรคก้าวไกลมีความผิดหรือไม่
สอดคล้องกับ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายแสดงความกังวล ถึงความเห็นความไม่จริงใจของรัฐบาลในการจัดการออกเห็นว่า ในการหาเสียงของบางพรรคการเมือง จะใช้คำสัญญาไปหาเสียงกับประชาชน ซึ่งพรรคแกนนำรัฐบาล ได้ประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมครั้งแรก เพื่อจัดการออกเสียงประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ได้ระบุถึงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา
นายสรรเพชร บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า รัฐบาล ควรจะเร่งดำเนินการให้เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งที่หลายพรรคเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ทุกพรรคเห็นพ้องว่า รัฐธรรมนูญควรได้รับแก้ไข โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 แต่ก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดออกเสียงประชามติ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นั้น มีวัตถุประสงค์ใดกันแน่ เพราะคณะกรรมการดังกล่าวฯ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะศึกษาเสร็จเมื่อใด ดังนั้น จึงขอเตือนรัฐบาลว่า อย่านำรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกัน และเป็นระเบิดเวลาตัวเอง เหมือนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลก็ยังตอบไม่ได้ว่า จะดำเนินการอย่างไร