สวทช. แจง การพิสูจน์ GT-200 เป็นไปตามมาตรฐานสากล ย้ำราคาตรวจถูกกว่าจ้างแล็บต่างประเทศ ส่วนสาเหตุที่ตรวจเพราะกรมสรรพาวุธทหารบก จะเอาไปประกอบสำนวนคดี
จากกรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณ กระทรวงกลาโหม ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ ตรวจสอบเครื่อง GT-200 ว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้างมูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง (เฉลี่ยตกเครื่องละ 10,000 บาท)
"ถ้ายังจำกันได้มันคือไม้ล้างป่าช้าลวงโลก ที่พอแงะดูข้างในมันว่างเปล่า สุดท้ายแค่กล่องพลาสติกเปล่าสีดำมีหนวดกุ้งชี้ไปชี้มา ไม่สามารถนำใช้ตรวจจับอะไรได้ จนถึงวันนี้คดีความก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เมื่อพยายามขอข้อมูลรายละเอียดสัญญาการจ้างตรวจสอบ GT200 จาก กองทัพบก และ สวทช. ก็ได้คำตอบว่าเป็นความลับ"
ล่าสุด ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งดำเนินการวิเคราะห์ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้มาตรฐานสากล ชี้แจงผ่านเอกสารที่ส่งมายังสื่อมวลชน ว่า "ได้รับการประสานจากกรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง ว่าใช้งานได้หรือไม่ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง"
"การทดสอบจึงต้องดำเนินการตามหลักการทดสอบทุกรายการที่มีการดำเนินการทดสอบเครื่อง GT200 และใช้เป็นบรรทัดฐานของข้อมูลประกอบการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้"
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
การดำเนินการทดสอบทุกรายการต้องดำเนินการตามหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเชื่อถือได้ในชั้นการพิจารณาของศาล ทั้งการตรวจวัดไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง
สำหรับค่าบริการทดสอบทั้งหมด ศูนย์ PTEC ระบุว่า คำนวณจากการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้สารเสพติดและวัตถุระเบิดในการทดสอบ เพื่อให้ได้คุณภาพของผลการทดสอบตามเอกสารว่าจ้างที่ระบุทุกรายการ ทั้งนี้ ค่าบริการดังกล่าวมีราคาถูกกว่าการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่างประเทศ
ในเอกสาร ระบุทิ้งท้ายว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจบนหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบนพื้นฐานในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป
สำหรับประเทศไทย กองทัพอากาศ ในสมัย "บิ๊กต๋อย" พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.ขณะนั้นเป็นเจ้าแรกที่จัดซื้อเครื่อง GT-200
กองทัพบก "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ.ได้ทดลองใช้เครื่องตรวจ GT-200 ปรากฏว่าพบอาวุธในมัสยิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา จึงเชื่อว่าเครื่องนี้ใช้การได้จริง
ปี 2551-2552 ยุคที่ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.(ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย)สั่งซื้อเครื่อง GT-200 รวม 541 เครื่อง