svasdssvasds

'คิดถึงนะ' จดหมายถึง 'บ้าน' จากคนไม่ได้กลับบ้านช่วงปีใหม่

'คิดถึงนะ' จดหมายถึง 'บ้าน' จากคนไม่ได้กลับบ้านช่วงปีใหม่

สำหรับคนทั่วไปแล้ว ปีใหม่เป็นช่วงเวลาแห่งการกลับบ้าน ใช้เวลาร่วมกับคนที่รัก เติมพลังเพื่อกลับมาสู้ใหม่อีกครั้ง

แต่สำหรับบางคน อาชีพการงานไม่ยอมให้พวกเขาทำแบบนั้น หลายอาชีพงานหนักมากขึ้นในช่วงเทศกาลแบบนี้ และสิ่งที่พวกเขามักเลือกทำคือ เก็บความคิดถึงเอาไว้ในใจ และก้มหน้าทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

SPRiNG ลงไปพูดคุยกับผู้คนจากหลายอาชีพที่ไม่ได้กลับบ้านในช่วงปีใหม่ พวกเขารู้สึกอย่างไร และมีอะไรอยากบอกคนที่บ้านบ้างไหม

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • ยอดชาย วันทะมาตย์ หัวหน้าคนขับรถบัสโดยสาร 

หน้าที่หัวหน้าคนขับรถบัสขนส่งผู้โดยสารทำให้ ยอดชาย วันทะมาตย์ ไม่ได้กลับบ้านที่ จ.เลย มาหลายปีแล้ว เขาคิดถึงลูกชายและพี่สาวที่อาศัยอยู่ที่นั่นสุดหัวใจ 

”อยากกลับบ้าน แต่อาชีพคนขับรถโดยสาร มันไม่มีวันหยุดช่วงเทศกาล ช่วงเวลาว่างเราก็ทำงานเพิ่ม ไปขับรถทัวร์ให้ชาวต่างชาติ“ คำบอกเล่าจากปากหนุ่มใหญ่จากเลย ที่สะท้อนทั้งความคิดถึงและสภาพเศรษฐกิจที่เรียกร้องเกินพอดีจากคนตัวเล็กตัวน้อย 

“ส่งเงินกลับไปอย่างเดียว เราทำได้อย่างเดียวเพื่อคนที่บ้าน” เขาพูดขึ้นขณะที่นัยน์ตาเริ่มรื้นน้ำ 


 

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • ไพทูลย์ ศรีโพธิ์ นายท่ารถโดยสารหมอชิต 2 

“อย่าให้พี่เขียนเลยเดี๋ยวจะร้องไห้” เธอเตือนเราตั้งแต่ตอนที่ยื่นไวท์บอร์ดให้เธอ และเป็นความผิดเราเองที่ไม่เชื่อ 

ไพทูลย์ ศรีโพธิ์ เป็นคนจากภาคอีสานที่เดินทางเข้ามาทำงานเป็นนายท่าที่หมอชิต 2 ที่บ้านต่างจังหวัด เธอเล่าว่าอันที่จริง เธอกลับบ้านบ่อยครั้ง เพื่อไปหาลูกและญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ที่บ้านในต่างจังหวัด แต่สาเหตุที่ทำให้เธอร้องไห้เป็นเพราะเธอคิดถึงใครบางคนที่จากไปแล้ว 

เราปล่อยให้เธอเขียนแล้วไม่ถามอะไรเพิ่มเติม..

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]


 

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • สุมาลีกับเมษา 

 

หญิงสาวดีใจมากเมื่อเรายื่นไวท์บอร์ดให้เธอเขียน ผิดกับเด็กหญิงข้างๆ ที่คอยประท้วงบอกให้แม่รีบทำงาน 

สุมาลี ทำหน้าที่เป็นพนักงานทำความสะอาดอยู่ที่หมอชิต 2 และวันนี้ เมษา ลูกสาวเธอติดสอยห้อมตามมาทำงานด้วย เธอเล่าว่าปกติก็กลับบ้านอยู่บ้าง เพราะงานของเธอไม่ใช่งานประจำ หากเธอไม่ว่าง บริษัทก็มักจะหาคนมาแทนอยู่เสมอ 

ทุกวันนี้ เธอมีลูก 3 คน และมีสามีอยูที่กรุงเทพฯ แต่ที่ จ.ศรีสะเกษ บ้านเกิด แม่ของเธอยังคงอยู่ที่นั่น และเธอยังรอคอยที่จะมีเวลา หลุดพ้นจากพันธาการของหน้าที่การงานเพื่อกลับไปเยี่ยมแม่

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • เอ็กซ์ หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย 

อาชีพหัวหน้า รปภ.ทำให้ เอ็กซ์ ไม่ได้เดินทางกลับบ้านมาเป็นเวลานานแล้ว ครอบครัวและลูกเขาอยู่ที่ จ.นครปฐม ถึงแม้ไม่ไกล แต่ภาระหน้าที่การงานก็ทำให้ระยะทางดูเหมือนไกลออกไป 

เพราะความเสี่ยงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้อาชีพพนักงานความปลอดภัยไม่เคยได้หยุดงาน เขาพูดถึงอาชีพตัวเองอย่างภาคภูมิใจ 


[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • ปริญญา ไชยพิมพา อาสาจราจร

ปริญญาเดินทางจาก จ.ร้อยเอ็ด เพื่อมาทำงานในกรุงเทพ และมาเป็นอาสาสมัครจราจรที่หมอชิต 2 ในช่วงสิ้นปี เขารับไวท์บอร์ดจากมือแล้วค่อยๆ เขียนลงอย่างเงียบเชียบ เป็นข้อความสั้นๆ ถึงสองคนที่เขารักที่สุดที่บ้าน

​​​​​​ [ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • นุ้ย พนักงานขายตั๋วโดยสาร

นุ้ยใช้เวลาอยู่นานกว่าจะจรดปากกาเขียนข้อความลงในไวท์บอร์ด ไม่ใช่ว่าเธอไม่รู้จะเขียนอะไร แต่เป็นเพราะเธอต้องคอยตอบคำถามลูกค้าที่เข้ามาซื้อตั๋วที่เคาท์เตอร์อยู่เสมอ 

เธอวางแผนจะกลับบ้านไปช่วงปลายเดือนมกราคม เพราะช่วงนั้นเธอจะได้รับวันหยุดชดเชยที่ทำงานช่วงปีใหม่จากบริษัท ก่อนจะหายถอนหายใจเล็กน้อยพลางเล่าให้เราฟังว่า “หนูไม่ได้นอนมาตั้งแต่เที่ยงเมื่อวานแล้ว”


[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • จะโบ (นามสมมติ) พนักงานรักษาความสะอาด

คนเมียนมาเป็นคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้กลับบ้านในช่วงปีใหม่ และอันที่จริง ถึงแม้หลายคนอยากกลับ แต่กลับไม่ได้อยู่ดี..

ไม่ใช่เพียงแต่ความรุนแรงเท่านั้น สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยก็เป็นอีกผลพวงหนึ่งจากการรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จะโบก็เหมือนคนเมียนมาจำนวนมากที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อหางานทำและส่งเงินกลับไปให้พ่อและแม่ที่ยังอาศัยอยู่ในเมียนมา

“คิดถึงพ่อและแม่ครับ” เขาแปลภาษาเมียนมาให้เราฟังสั้นๆ 

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

 

related