svasdssvasds

ชัชชาติ หวังดันไทยเป็น "เมดิคัล ฮับ" เร่งสร้างกรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี

ชัชชาติ หวังดันไทยเป็น "เมดิคัล ฮับ" เร่งสร้างกรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี

ชู 3 แนวคิด สร้างสาธารณสุขให้แข็งแรง, ดูแลสุขภาพคนทุกเพศวัย,​ เร่งแก้ปัญหา PM2.5 พร้อมดันกรุงเทพเป็นฮับด้านสุขภาพ พร้อมจุดวลี "คำว่า Health และ City ต้องมาด้วยกัน หากเมืองไม่เฮลท์ตี้ ประชาชนสุขภาพไม่ดีแล้วจะเป็นเมดิคอลฮับได้อย่างไร"

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา THAN 2023 HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY หัวข้อ HEALTH IN THE CITY ว่า 

"คำว่า เฮลท์ (Health) และ ซิตี้ (City) มาด้วยกันตลอด หากเมืองไม่ เฮลท์ตี้ (Healthy) ประชาชนสุขภาพไม่ดี มีแต่คนป่วย ก็ไม่สามารถเป็นเมดิคัล ฮับได้"

ที่ผ่านมากทม.จะพูดแต่เรื่องน้ำท่วม การเก็บขยะ ทำให้งบประมาณไม่ได้นำไปใช้กับด้านสาธารณสุขมาก แต่หน้าที่หลักของกทม.คือการทำเมืองให้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง ประกอบด้วย

  1. เส้นเลือดฝอยและสุขภาพของคนกรุง
  2. สังคมผู้สูงอายุและโรคคนเมือง
  3. ปัญหาโรคทางเดินหายใจ

ปัจจุบันกทม.มีงบประมาณ ราว 80,000 ล้านบาท โดยเป็นการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข ราว 7,000 ล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งไม่รวมกับเงินอุดหนุนของสปสช.

"เราเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาในเรื่องนี้ได้ ที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณในการเก็บขยะ ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเพียง 7,000 ล้านบาท หากสามารถจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้จะทำให้เรามีงบประมาณเหลือมาใช้ในด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาให้เข้มแข็งขึ้น"

ปัจจุบันมีประชากรแฝง ราว 3 ล้านคน ประชากรที่ลงทะเบียนกับสิทธิบัตรทองราว 1.5 ล้านคน ลงทะเบียนสปสช.ประมาณ 800,000 คน และประชาชนที่ไม่ได้เข้าระบบสาธารณสุขประมาณ 700,000 คน

เมดิคัลฮับ

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ กรุงเทพฯ มีมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานจะขยับไปอยู่ในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น อีกทั้งในกรุงเทพฯ มีผู้สูงอายุ ที่มีอาการป่วยติดเตียงเรื้อรังเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคอ้วน,โรคมะเร็ง,โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่ใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขค่อนข้างมาก

ดังนั้น ทางกทม.จึงได้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกเขตและทุกแขวง รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นเมืองผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบและเพิ่มสุขภาพจิตของประชาชนดีขึ้น

ถือเป็นการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนมาก ซึ่งเราใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่แล้ว และโครงการที่เคยทำในอดีตกลับมาอีกครั้ง ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 110,000 บาทต่อปี 

ทางด้านของฝุ่นPM 2.5 ที่มีมากในกรุงเทพฯ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัย คือ แหล่งกำเนิดฝุ่นและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก โดยการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการขนส่งทางถนน 50-60% ที่เหลือมาจากโรงงานอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 

  • รถปิ๊กอัพ 40-55%
  • รถบรรทุก 20-35%
  • รถจักรยานยนต์ 5-10%
  • ภาคอุตสาหกรรม 10-20%
  • การเผาชีวมวล 10-20%

กทม. จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์สำหรับติดตามสถานการณ์ฝุ่น รวมถึงการเผาในพื้นที่และเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 โดยเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน พร้อมทั้งระบุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนผ่าน Line Alert เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของสุขภาพถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากเมืองไม่สามารถบริหารจัดการให้ประชาชนสุขภาพดีได้ คงไม่สามารถทำให้เมืองเป็นเมดิคัล ฮับ ได้

นอกจากนี้ ประชาชนคนเมืองก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยกทม.ก็พยายามมุ่งเน้นในเรื่องของสาธารณสุขด้านปฐมภูมิ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

related