svasdssvasds

“โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม” อาการเป็นอย่างไร? หลังหมอยืนยัน บรูซ วิลลิส ป่วย

“โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม” อาการเป็นอย่างไร? หลังหมอยืนยัน บรูซ วิลลิส ป่วย

รู้จัก “โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม”(Frontotemporal Dementia) หลังหมอยืนยัน “บรูซ วิลลิส” ป่วยสูญเสียทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสาร และการทำความเข้าใจ

หลังจากที่ “บรูซ วิลลิส” นักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูด พบว่าป่วยด้วยโรคอะเฟเซีย (Aphasia)  หรือ ภาวะเสียการสื่อความ ซึ่งสาเหตุของโรค เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย จึงเป็นสาเหตุให้อดีตดาราดังจำต้องหันหลังให้กับวงการเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ 17 ก.พ. 2566 เดมี มัวร์ ภรรยาของ "บรูซ วิลลิส" ได้เปิดเผยผ่านอินสตาแกรม demimoore ว่า คณะแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยอาการป่วยของบรูซครั้งล่าสุดพบว่า เขาป่วยด้วยโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia - FTD) บรูซกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการสื่อสาร ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรคที่กำลังเผชิญ ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเจ็บปวด แต่ครอบครัวรู้สึกโล่งใจที่เขาได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนในที่สุด

บรูซ วิลลิส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รู้จักโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia)

คำว่า Frontotemporal นั้นมากจากชื่อเรียกส่วนของสมองที่มักเสียหายในประเภทสมองเสื่อมนี้ อันประกอบไปด้วย

1) ส่วนของสมองส่วนหน้า (frontal lobes) จะอยู่ในตำแหน่งบริเวณหน้าผาก มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา การวางแผน และควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ โดยที่ส่วนมากแล้วพื้นที่ทางด้านซ้ายของสมองส่วนหน้าที่จะทำหน้าที่ควบคุมการพูดด้วย

2) ส่วนของสมองด้านข้างบริเวณใกล้ขมับ (temporal lobes) พื้นที่สมองส่วนนี้มีหลายบทบาทด้วยกัน โดยที่ทางด้านซ้ายมักจะทำหน้าที่ตีความหมายของคำ และชื่อของสิ่งต่างๆ และทางด้านขวามักจะทำหน้าที่ควมคุมความสามารถในการจดจำใบหน้าและสิ่งต่างๆ

FTD เป็นภาวะที่เกิดเมื่อเซลล์ประสาทที่อยู่ในบริเวณสมองส่วนหน้าและ/หรือส่วนด้านข้างตาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วนต่างๆ ตัวขนส่งทางเคมี (chemical messenger) ที่สังเคราะห์มาจากเนื้อเยื่อจำเพาะในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทก็จะหายไปบางส่วนด้วย และเมื่อเวลาผ่านไป เซลล์ประสาทก็จะตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเนื้อเยื่อของสมองในส่วนด้านหน้าและด้านข้างก็จะค่อยๆหดตัว

เมื่อสมองในส่วนด้านหน้าและ/หรือด้านข้างเสียหาย มักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกและพฤติกรรม และความสามารถในการใช้และเข้าใจภาษา โดยที่อาการเหล่านี้จะแตกต่างไปจากการสูญเสียความทรงจำที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า เช่น อาการของโรคอัลไซเมอร์

ภาวะสมองเสื่อม FTD พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ หลายๆคนหรือแม้กระทั้งบุคลากรทางด้านการแพทย์บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำนี้

FTD (Frontotemporal Dementia) ในกลุ่มคนอายุก่อน 65 ปี

ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจาก FTD มักจะถูกตรวจพบในประชากรที่มีอายุระหว่าง 45 ถึง 65 ปี และยังมีโอกาสจะเกิดกับผู้หญิงและผู้ชายในสัดส่วนที่พอๆกัน อย่างไรก็ตาม FTD สามารถพบได้ในกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยหรือสูงกว่าช่วงอายุดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่มักจะถูกมองข้้ามไป และมุ่งความสนใจไปยังสาเหตุอื่นๆที่พบบ่อยกว่าเช่น อัลไซเมอร์

ผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจาก FTD ส่วนมากต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายต่างๆเนื่องจากต้องเผชิญภาวะนี้ตั้งแต่อายุยังไม่มากนัก หลายๆคนอาจจะยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ มีภาระค่าใช้จ่ายที่ยังต้องรับผิดชอบหรือยังต้องส่งเสียบุตร และมีความต้องการบริการหรือความช่วยเหลือที่แตกต่างออกไป

ประเภทและกลุ่มลักษณะอาการ

อาการของผู้มีภาวะสมองเสื่อม FTD จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ในสมองส่วนหน้าและส่วนข้างที่เกิดความเสียหาย ภาวะสมองเสื่อม FTD สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทย่อย ตามกลุ่มลักษณะอาการความผิดปกติ 3 กลุ่มอาการหลัก ดังนี้

  • มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม (Behavioral Variant)
  • สูญเสียทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสาร (Progressive non-fluent aphasia)
  • มีความบกพร่องของการเลือกใช้คำศัพท์ (Semantic Dementia)

เหมือนกับสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงเริ่มต้น และค่อยๆแย่ลงเมื่อโรคดำเนินไป

 

ข้อมูลจาก : azthai สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

related