svasdssvasds

ย้อนดู 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุเครื่องบินเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?

ย้อนดู 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุเครื่องบินเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?

ภายหลังเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ประเทศคาซัคสถานไม่นาน ก็เกิดอุบัติเหตุทางการบินครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อล่าสุดเครื่องบินสายการบินเซจูแอร์ที่บินจาก กรุงเทพ - มูอัน ประเทศเกาหลีใต้ เกิดเหตุระเบิดหลังจากไถลออกนอกรันเวย์ จนมีผู้เสียชีวิตเบื้องต้นแล้ว 124 ราย

ถึงแม้ยังไม่มีข้อสรุปว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสายการบินเซจูแอร์มาจากสาเหตุอะไร แต่ระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันมากระหว่างสองเหตุการณ์ ก็ทำให้หลายคนคงเกิดความกังวลในการใช้บริการสายการบิน

วันนี้ SPRiNG จึงอยากชวนย้อนดูสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 - 2566 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติทางการบินคืออะไร 

ในรายงานของบริษัทผลิตเครื่องบิน The Boeing Company ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการอ้างถึงการเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่าง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และองค์กรความปลอดภัยการบินพลเรือน (CAST) ซึ่งเก็บข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 - 2566 เกิดอุบัติเหตุทางการบินที่มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 28 ครั้ง รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1,140 ราย


 

  • สาเหตุสำคัญไล่เลียงตามลำดับได้ ดังนี้ 

- นักบินสูญเสียการบังคับเครื่องบิน 8 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 707 ราย 

- ระบบเครื่องบินที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ขัดข้อง 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 158 ราย

- ปัญหาเกี่ยวกับรันเวย์ 5 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 131 ราย 

- ปัญหาด้านเชื้อเพลิง 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 71 ราย 

- ปัญหาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต  9 ราย 

- ปัญหาเกี่ยวกับน้ำแข็ง 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 12 ราย

- ปัญหาการจัดการภาคพื้นดิน 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

- ชนกันกลางอากาศ 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7 ราย

- ชนสิ่งกีดขวางระหว่างเครื่องขึ้นหรือลง 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

- มีการรุกล้ำรันเวย์ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย 

- อื่นๆ 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

- ระบบเครื่องยนต์ขัดข้อง 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย


 

  • สำหรับอัตราการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละช่วง (phase) ที่ทำการบิน ดังนี้ 

- ช่วงไต่ระดับเพื่อเครื่องขึ้น (Departure & Climb Phase) 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 347 ราย

- ช่วงรักษาระดับความสูง (Cruise Phase) 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 278 ราย

- ช่วงเทคกออฟ (Takeoff Phase) 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 174 ราย

- ช่วง Final Approach 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 100 ราย

- ช่วงลงจอด (Landing Phase) 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 91 ราย

- ช่วงลดระดับ (Descent Phase) 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 71 ราย

- ช่วงเริ่มไต่ระดับ (Initial Climb Phase) 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 17 ราย

- ช่วงขอขึ้นบนรันเวย์​ (Taxi/ Pre-flight Phase) 3 ครั้ง ไม่มีผู้เสียชีวิต

 

  • สำหรับภาคพื้นทวีปที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการบินสูงที่สุด ดังนี้ 

- ภูมิภาคเอเชีย เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 534 ราย

- ภูมิภาคยุโรปและแอตแลนติกเหนือ เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 173 ราย

- ภูมิภาคแอฟริกาใต้และตะวันออก เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 157 ราย

- ภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลาง และแคริบเบียน เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 119 ราย

- ภูมิภาคอเมริกาใต้ เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 74 ราย

- ภูมิภาคตะวันออกกลาง เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 64 ราย

- ภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันตก เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิต 15 ราย

ถึงแม้ตัวเลขอาจดูน่ากังวล แต่ที่จริงแล้วอัตราการเกิดอุบัติเหตุของเครื่องบินลดลงอย่างต่อเนื่อง ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบัน เครื่องบินมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า เรือ, รถไฟ รวมถึงรถยนต์

ไม่ว่าอุบัติเหตุไหนๆ ก็ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องกัดฟันยอมรับ และถอดความผิดพลาดกลับไปปรับปรุง เพื่อลดความเสี่ยงให้เข้าศูนย์มากที่สุด เพราะเหตุการณ์เช่นนี้สร้างความสูญเสียให้แก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะญาติผู้เสียชีวิต 

ทาง SPRiNG ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้อย่างสุดหัวใจ

 

 

ภาพประกอบ: สุรัสวดี มณีวงษ์


 

related