SHORT CUT
ทหารไทยไป WW1 สร้างชื่อให้โลกจดจำ แม้เข้าร่วมรบไม่นาน แต่ได้กำไรมากกว่าที่คิด ทำให้โลกได้รู้จัก นำความรู้มาพัฒนากองทัพ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ดำเนินอย่างดุเดือดมาเป็นเวลา 3 ปี และเริ่มแน่ชัดแล้วว่า ฝ่ายพันธมิตรเริ่มได้เปรียบเหนือฝ่ายมหาอำนาจกลาง เนื่องจาก การเข้าร่วมของ สหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายน 2460 ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังพลและทรัพยากรให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก
ในที่สุด วันที่ 21 กรกฎาคม 2460 เวลา 24.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 ) ทรงตัดสินพระทัยให้ไทย (สยามเวลานั้น) ประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี โดยส่งทหารอาสาเข้าร่วมรบอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดตั้งเป็นกองทหารอาสาจำนวน 1,248 นาย แบ่งกำลังเป็น กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และกองพยาบาลเดินทางไปร่วมรบที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ทหารไทยเดินทางไปร่วมรบในต่างแดน
อย่างไรก็ตาม แม้ทหารอาสาไทยจะไปในช่วงท้ายของสงคราม แต่ก็ได้สร้างวีรกรรมให้ชาวโลกได้จดจำ รวมถึงได้ไปเปิดตัวให้ชาวโลกได้รู้จักกับชาติสยามได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งในเนื้อหาต่อไปนี้คือวีรกรรมและสิ่งที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
ผลงานของกองทัพไทยครั้งแรก เกิดขึ้นหลังการประกาศสงครามแทบจะทันที เพราะตรวจพบว่ามีเรือพาณิชย์ สินค้าเยอรมนีจำนวนหนึ่งได้จอดลี้ภัยในน่านน้ำสยามเพราะสถานะความเป็นกลางที่ผ่านมา แต่หลังสยามประกาศสงครามกันแล้ว กองทัพเรือสยามได้นำกำลังเข้ายึดเรือสินค้าเยอรมันรวมทั้งหมด 23 ลำ และหลังสงครามจบก็ไม่ได้คืนให้ แต่ได้ใช้เรือเหล่านี้ก่อตั้งบริษัท ‘พาณิชย์นาวีสยาม’
ปลายปี 2546 เกิดการรบที่เรียกกันว่า Meuse-Argonne โดยเป็นหนึ่งในรุกครั้งใหญ่รอบสุดท้ายของฝ่ายพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในพื้นที่อาร์กอนน์ ประเทศฝรั่งเศส การรบครั้งนี้ทหารอเมริกามีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวป้องกันของเยอรมันจนแตกพ่าย ความสำเร็จนี้ ทหารบกรถยนต์สยามได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย โดยมีหน้าที่โดยลำเลียงทหาร เสบียงอาหาร และกระสุนปืน ไปกลับระหว่างแนวหน้าแนวหลัง โดยบรรทุกสิ่งของทั้งสิ้น 3,029 ตัน ใช้รถยนต์ทั้งหมด 1,350 คัน ซึ่งช่วยสร้างความต่อเนื่องของการรุกได้ดีอย่างยิ่ง
ช่วงปี พ.ศ. 2461-2462 หลังประกาศหยุดยิง และชาวเยอรมันกลายเป็นผู้แพ้สงคราม กองทหารบกรถยนต์สยามยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขต พาลาทิเนตของไรน์แลนด์ โดยปฏิบัติการส่วนใหญ่ในพื้นที่นอยสตัดท์ เมืองเล็กๆ ในตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนี ซึ่งฝ่ายพันธมิตรมอบหมายให้ทหารสยามดูแลความสงบเรียบร้อย จึงทำให้ทหารสยามต้องดูแลประชากรเยอรมนี ประมาณ 20,000 คน ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงกับชาวเมือง และสยามก็เป็นชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมในการยึดครองเยอรมนีหลังสงคราม
หลังสงครามยุติ ทหารสยามได้รับเชิญจากชาติพันธมิตร ให้ส่งกองเกียรติยศร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะในเมืองยุโรป 3 แห่ง ได้แก่ การฉลองชัยชนะที่กรุงปารีสวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2462 การสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงลอนดอนวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2462 และการสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงบรัสเซลส์ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2462
เสียชีวิตในสยามก่อนเดินทางไปยุโรป 2 นาย เพราะอุบัติเหตุระหว่างฝึกซ้อม มีเสียชีวิตอีก 1 นายก่อนการหยุดยิง และเสียชีวิตหลังการหยุดยิง 16 นาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุและอาการป่วย คาดว่า เป็น ‘ไข้หวัดใหญ่’ หรือ ‘ไข้หวัดสเปน’.
ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ทหารอาสาตั้งอยู่ ถนนสามเหลี่ยม มุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นอนุสรณ์แก่ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จารึกชื่อของทหารผู้สละชีวิตจำนวน 19 คน และภายในบรรจุอัฐิของทหารที่เสียชีวิตไว้ยังที่แห่งนี้อีกด้วย
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่1 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกริเริ่มในองค์การสันนิบาตชาติ นำไปสู่การแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้เป็นครั้งแรก
รัฐบาลฝรั่งเศสมอบเหรียญกล้าหาญ “Croix de Guerre” ให้ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์ และเมื่อกองทหารบกรถยนต์เดินทางกลับถึงสยามในปี 2462 ได้มีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลแก่กองทหารบกรถยนต์ และพระราชทานเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปให้แก่ทหารอาสาทุกนายอีกด้วย
แม้กองบินทหารบกจะไม่ดีมีส่วนร่วมในสมรภูมิเหมือนกองทหารบกรถยนต์ เพราะต้องฝึกการบินอย่างเข้มข้นจนไม่ทันได้ร่วมรบ แต่พวกเขาก็ได้ฝึกวิชาการบินทางทหารขั้นสูงจากประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีกองทัพในเอเชียน้อยมากที่ได้รับโอกาสนี้ เมื่อสงครามยุติกองบินทหารบกจึงนำความรู้มาพัฒนากองบินทหารในสยามต่อไป
สยามจึงเป็นชาติเล็กๆ เพียงไม่กี่ชาติที่มีเครื่องบินรบประจำการทุกประเภท และต่อขึ้นเองในสยาม ล้ำหน้าเพื่อนบ้านไปไกล และพัฒนามาเป็นกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน
กองทหารบกรถยนต์ได้เรียนรู้วิชายานยนต์จากยุโรปมามาก และเมื่อกลับถึงสยาม จึงมาทำอาชีพขับแท็กซี่ที่เป็นโครงการหางานให้ทหารผ่านศึกมีรายได้ กำเนิดเป็นแท็กซี่ไทยกลุ่มแรก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ทหารผ่านศึกมีงานทำแล้วยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหลังสงคราม ซึ่งทำให้ระบบขนส่งในประเทศเริ่มมีความหลากหลายและพัฒนาต่อไปในอนาคต
สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการไปแสดงตัวตนบนเวทีโลก ให้นานาชาติรับรู้ถึงศักยภาพ และความกล้าหาญของประเทศไทย เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนได้นำประสบการณ์จากสงครามในครั้งนี้มาปรับปรุงวิชาการทหารให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
กองบินทหารบกเริ่มทำการฝึกที่โรงเรียนการบินชั้นต้นเมืองอิสตรส์ ตั้งแต่ 5 สิงหาคม 2461 โดยเข้ารับการฝึกทั้งหมด 104 นาย ผ่านการทดสอบการบิน 95 นาย หลังจากนั้นจึงถูกส่งไปยังโรงเรียนฝึกบินชั้นสูงต่อไป การสงบศึกเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2461 ขณะนั้นกองบินทหารบกยังทำการฝึกอยู่จึงไม่ได้เข้าร่วมในการรบ แต่ก็ได้ดำเนินการฝึกต่อ 2-3 เดือนจนทราบว่าสงครามเป็นอันสงบแน่นอน ได้มีการคัดเลือกนักบินและช่างเครื่อง 24 นายเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมเพื่อกลับมาเป็นครูในกองบินทหารบกประเทศสยาม
ขอบคุณข้อมูลจาก ศุภณัฏฐ์ วงศ์ศิริธร เจ้าของช่อง Youtube : Siam Historical Cafe
ที่มาอื่นๆ : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, Reenactment Group
ข่าวที่เกี่ยวข้อง