“ภาษากายจะคู่ขนานไปกับความรู้สึก คุณรู้สึกอย่างไร ภาษากายจะแสดงออกอย่างนั้น” ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ หรือหมอมด ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากายเริ่มอธิบาย
ถึงแม้ไม่ได้พูด แต่บางครั้งเรารับรู้สิ่งที่อยู่ในใจเป็นหมื่นล้านคำ เรารับรู้ความสุขเมื่อเห็นรอยยิ้มและตาหยี เรารับรู้ความกังวลเมื่อไหล่ตกและร่างกายห่องุ้ม เราสื่อสารกันผ่านภาษากายมากกว่าคำพูด และหลายครั้งเราเชื่อมันมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน
เพราะคำพูดเป็นสิ่งที่หลอกลวงได้ง่ายที่สุด ดังนั้น เทคนิคนึงที่ติดตัวเรามาแต่เกิดคือการอ่านภาษากาย เพื่อจับผิดคนที่โกหก เพื่ออาจช่วยให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์แย่ๆ ไป ได้
SpringNews ได้พูดคุยกับ หมอมด – ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์อาจารย์และผู้เขียนความรู้ด้านภาษากายเวปไซด์ Bodylanguageclassroom.comและ กัญญ์นัทธ์ วัฒนาสุทธิวงศ์ ผู้เขียนหนังสือ Body Talks รู้ทันความลับที่อีกฝ่ายไม่พูด แต่ร่างกายตะโกนถึงพฤติกรรมการโกหกของมนุษย์ ทำไมเราถึงโกหก และภาษากายเราสะท้อนการโกหกอย่างไรบ้าง
ทำไมเราถึงโกหก
“การโกหกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ โกหกเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะบางครั้งการพูดความจริงอาจจะทำร้ายตัวเราและคนรอบข้าง” หมอมดอธิบาย
หมอมดอธิบายว่า เมื่อเราเติบโตขึ้น ขนบธรรมเนียมของสังคมบีบให้เราเรียนรู้การพูดโกหกเพื่อรักษาหรือหลีกหนีจากสถานการณ์ และบางครั้งการโกหกไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากสถานการณ์บีบให้เราทำ เช่น โกหกเพื่อป้องกันเหตุร้ายด้วยเจตนาดี (White Lies)
ยกตัวอย่าง เราถูกชวนไปบ้านเพื่อนและเขาทำอาหารให้กิน การโกหกว่าเพื่อนทำกับข้าวอร่อย อาจดีกว่าพูดความจริงว่ารสจืดไป เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม การโกหกสัมพันธ์กับเรื่องซับซ้อนมากมายกว่านั้น เช่น ฐานะทางสังคม และอาจส่งผลกับคนอื่นมากกว่าที่คิด
“คุณต้องดูตัวเองด้วยว่าคุณอยู่ในบริบทอะไร ถ้าคุณเป็นนายกรัฐมนตรี คุณควรพูดภายใต้ศีลธรรมและหลักการ หรือคุณเป็นเจ้าอาวาส คุณจะมาโกหกเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้ คุณต้องตระหนักเรื่องบริบทด้วย เพราะว่าการโกหกมันสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน” หมอมดกล่าว
ดังนั้น เมื่อการโกหกไม่ต่างจากศิลปะ และมันล่องลอยในอากาศจนยากจะคว้าจับและพิสูจน์ เราเลยชวนทุกคนมาเรียนรู้วิธีจับโกหกจากภาษากายเบื้องต้นกัน
จับโกหก 101
เราชวนผู้เชี่ยวชาญทั้งสองมาพูดคุยถึงวิธีจับโกหกพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่มีคำเตือนคล้ายกันถึงการจับโกหกผ่านภาษากายว่า
ข้างต้นเป็นคำเตือนที่ควรย้ำเตือนเสมอ และเมื่อพร้อมแล้ว เรามาไล่ดูภาษากายที่สามารถสังเกตได้ผ่านการโกหกกัน
ผู้เขียนหนังสือ Body Talks อธิบายว่า คนที่โกหกมักใช้สายตาผิดปกติ กล่าวคืออาจมีการสบตามากเกิน หรือหลบตาจนดูแปลก
เธอแสดงความเห็นว่า การกรอกตาขึ้นลง มองมุมขวา - ซ้าย หรือการสังเกตรูม่านตาว่าเบิกกว้าง อาจไม่ใช่วิธีจับโกหกที่ดีนัก เพราะต้องดูพฤติกรรมอื่นประกอบ เช่น แขนข้างถนัดของคนนั้น
ทั้งหมอมดและกัญญ์นัทธ์ต่างพูดตรงกันว่า น้ำตาไม่ใช่ภาษากายที่บ่งบอกความรู้สึกของคนได้ดีนัก เพราะเราแค่ขยี้ตาแรงๆ น้ำตาก็อาจออกมาแล้ว
“ผมไม่ค่อยให้น้ําหนักกับการร้องไห้เท่าไหร่ อย่างน้ําตาขยี้ตาแรงๆ ก็ออกล่ะ ผมว่ามีภาษากายที่มีน้ำหนักมากกว่านั้น เช่น น้ํามูก” หมอมดกล่าว
เช่นเดียวกับกัญญ์นัทธ์ที่ชี้ว่า เธอไม่ให้น้ำหนักกับน้ำตามากเท่าไหร่ แต่ควรดูภาษากายอย่างอื่นควบคู่ประกอบ เช่น ตัวสั่น หรือเสียงสั่นเครือ
กัญญ์นัทธ์อธิบายว่า ผู้ที่โกหกมักมีความผิดปกติในการพูด เช่น พูดเยอะหรือน้อยกว่าปกติ โทนเสียงมักไม่ปกติ อาจดังหรือเบาเกินไป หรือน้ำเสียงอาจเรียบเฉยเกินไปจนดูเหมือนไม่มีความรู้สึก
ทั้งนี้ เธอเสริมว่าคนที่โกหกอาจกินน้ำบ่อยก็เป็นไปได้ เนื่องจากมีความเครียดมากกว่าปกติ และทำให้คอแห้งผาก
โดยปกติแล้ว คนที่โกหกมักจะรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัย ทำให้มักนั่งห่อไหล่ ช่วงกลางลำตัวเล็กกว่าปกติ และอาจปกปิดช่วงลำตัว เช่น กอดอกหรือกอดหมอน
กัญญ์นัทธ์ยังเสริมว่า คนที่โกหกมักหลีกเลี่ยงการสัมผัสและถูกสัมผัส เนื่องจากรู้สึกไม่มั่นคง
สำหรับผู้ที่โกหก มักใช้ฝ่ามือแตะบางส่วงของร่างกาย ไม่ว่าข้อมือ, ปาก, ใบหู สะท้อนความไม่มั่นคงทางจิตใจ
“เท้าคือสิ่งที่เชื่อถือได้ที่สุด หลอกยากที่สุด” กัญญ์นัทธ์กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ เธออธิบายว่าคนเรามักลืมควบคุมเท้า และคนที่โกหกมักรู้สึกไม่สบายใจ จึงมักชี้เท้าไปทิศทางที่สามารถหนีออกจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ เช่น ประตู
ต้องไม่ลืมว่าการจับโกหกผ่านภาษากายสัมพันธ์กับวัฒนธรรมและบริบทแวดล้อมอีกมาก และไม่ได้ถูกต้อง 100% เหมือนนิติวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เราไม่ควรด่วนสรุปว่าใครโกหก และต้องไม่ลืมระมัดระวัง อคติของเราเอง เช่นกัน
ภาพประกอบ: สุรัสวดี มณีวงษ์