svasdssvasds

"วันออกพรรษา 2567" ทำความเข้าใจ ทอดกฐิน VS ทอดผ้าป่า ต่างกันอย่างไร?

"วันออกพรรษา 2567" ทำความเข้าใจ ทอดกฐิน VS ทอดผ้าป่า ต่างกันอย่างไร?

"วันออกพรรษา 2567" พิธีสร้างบุญของผู้ศรัทธา ทอดกฐิน-ทอดผ้าป่า ต่างกันอย่างไร กฐินจะมีเป็น กาลทาน มีเวลาจำกัดในการทำกฐินถวาย กับบุคคล สถานที่ ส่วน "ทอดผ้าป่า. ไม่กำหนดช่วงเวลา และสามารถทำได้ตลอดทั้งปี ไม่จำกัดจำนวนพระสงฆ์ แต่ละวัดจะจัดพิธีกี่ครั้งก็ได้

วันออกพรรษา 2567 ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดช่วงฤดูจำพรรษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท ซึ่งจะเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษากันในวันนี้ โดยปกติ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ช่วงประมาณเดือนตุลาคม) ตามปฏิทินจันทรคติไทย

สำหรับวันออกพรรษา 2567 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 / ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง

 

ประวัติความเป็นมา "วันออกพรรษา"

การออกพรรษา ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า ปวารณา จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่งที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยญัตติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส ให้สามารถตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันได้โดยเสมอภาคด้วยจิตที่ปราถนาดีซึ่งกันและกัน โดยให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องนั้นไปแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษา และตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และเมื่อถึงวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)

พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นการทำบุญออกพรรษาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดจากวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 แล้วลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหารย์เปิดโลกทั้งสามด้วย

 

 

 

ในช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกดถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีตามวัดต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญมากอีกงานหนึ่ง

อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังจากผ่านพ้นช่วงออกพรรษา จะเป็นโอกาสอันดีที่ชาวพุทธจะได้ร่วมกันทำบุญครั้งใหญ่ ในการทอดกฐิน พิธีบุญเสริมสร้างความสามัคคีที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ทำให้ผู้มีจิตศรัทธาต่างเชื่อกันว่า หากได้ทอดกฐิน จะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ช่วยเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต และส่งผลให้ผู้ทำประสบความสำเร็จทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป

สำหรับการทอดกฐินนั้น ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง "พิธีกรรมสำคัญที่ช่วยธำรงศาสนาให้คงอยู่"

 

หลักเกณฑ์ พิธีทอดกฐิน 

กฐินจะมีเป็น กาลทาน มีเวลาจำกัดในการทำกฐินถวาย กับบุคคล สถานที่

  • ทำได้เวลา 1 เดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว ถึง สิ้นสุดวันลอยกระทง
  • บุคคลรับต้องเป็นพระ-มีกาลพรรษาครบสามเดือน
  • ทอดถวายสถานที่วัดใด วัดหนึ่ง-ครั้งเดียวต่อปี
  • วัดนั้น ต้องมีพระจำพรรษาอย่างน้อย 5 รูป
  • เชื่อกันว่ามีอานิสงส์สูง 

ผ้าป่า คืออะไร

ผ้าป่า เป็นบังสุกุลที่ไม่มีเจ้าของ เป็นผ้าเก่า หรือผ้าเปื้อนที่ถูกทิ้ง หรือพาดไว้ตามกิ่งไม้ในป่า ซึ่งพระสงฆ์จะหยิบไปใช้ในการทำจีวร บางครั้งก็เป็นผ้าที่ชาวบ้านตั้งใจนำไปถวายไว้ โดยไม่มีกล่าวคำถวาย หรือประเคนเหมือนถวายของทั่วไป ซึ่งพิธีการดังกล่าวจะเรียกว่า "ทอดผ้าป่า" เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ที่คล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่สามารถจัดได้ตลอดทั้งปีตามกำลังศรัทธา

 

หลักเกณฑ์ พิธีทอดผ้าป่า

  • ทำได้ตลอดปี
  • ไม่จำกัดเวลา บุคลล ประเภท เช่น มูลนิธิฯ ต่างๆ ร่วมประชาสัมพันธ์ ทอดผ้าป่าเสื้อผ้ามือสอง สำหรับน้องในชนบท เป็นต้น
  • ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่างน้อย ควรมีพระหนึ่งรูปมาทำพิธี โดยมาชักผ้าบังสกุลนั้น (ผ้าที่แขวนกิ่งไม้ เปื้อนฝุ่น ซากศพ ไม่มีเจ้าของ เป็นต้น)
  • มีอานิสงส์ในการทำบุญทอดผ้าป่าหากใจเป็นกุศล 

 

สรุป "ทอดกฐิน" คือ งานบุญใหญ่หลังออกพรรษา 1 เดือน ทำแค่ปีละหนึ่งครั้ง จำนวนพระสงฆ์ต้องไม่ต่ำกว่า 5 รูป วัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว 

"ทอดผ้าป่า" คือ งานบุญอย่างหนึ่ง คล้ายการทอดกฐิน แต่ไม่กำหนดช่วงเวลา และสามารถทำได้ตลอดทั้งปี ไม่จำกัดจำนวนพระสงฆ์ แต่ละวัดจะจัดพิธีกี่ครั้งก็ได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related