ชาวต่างชาติที่ถูกปรับทัศนคติในเกาหลีเหนือ เพราะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หากใครได้ไปเที่ยวเกาหลีเหนือ อย่าทำสิ่งเหล่านี้ในโสมแดง
เกาหลีเหนือเตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปลายปีนี้ หลังปิดประเทศนานเกือบ 5 ปี เพราะโควิด-19 ซึ่งทาง Koryo Tours บริษัททัวร์เกาหลีเหนือได้เปิดเผยข้อมูลว่า พวกเขาภูมิใจนำเสนอประสบการณ์ในเมืองซัมจียอน (Samjiyon) บ้านเกิดของ “คิม จอง อิล” อดีตผู้นำเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับ
อย่างไรก็ตาม ถึงเกาหลีเหนือจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความเป็นมิตร แต่การเข้ามายังประเทศนี้ไม่ว่าจะในฐานะนักท่องเที่ยว นักเรียนแลกเปลี่ยน หรือเพราะอะไรก็ตาม ก็ยังมีข้อควรระวังหลายอย่าง เนื่องจากในอดีตมีชาวต่างชาติที่เข้ามายังเกาหลีเหนือ ถูกควบคุมตัวไม่ให้เดินทางกลับประเทศอยู่ไม่น้อย เพราะทำสิ่งที่ไม่สมควร
‘เคนเนธ เบ (Kenneth Bae)’ เป็นมิชชันนารีคริสเตียนชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีใต้ เดินทางเข้าเกาหลีเหนือมากถึง 18 ครั้ง แต่การเดินทางในปี 2012 เขาทำผิดพลาดร้ายแรง ด้วยการพกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีรูปภาพ ของเด็กๆ ที่กำลังอดอาหารในเกาหลีเหนือ จึงถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และถูกบังคับให้ใช้แรงงานหนัก ซึ่งเขาเป็นชาวอเมริกันเพียงคนเดียวที่เคยถูกนำขึ้น ศาลฎีกาของเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม ทางการเกาหลีเหนือได้ปล่อยตัวเบในวันที่ 8 พ.ย. 2014 หลังถูกคุมขังนานถึง 735 วัน โดยตัวของเบเผยว่า เขาต้องทุกข์ทรมานอยู่ในคุก มีเจ้าหน้าที่จับตาดู 24 ชั่วโมง และต้องขุดถ่านหินและทำงานในทุ่งนาจนร่างกายอิดโรย ซึ่งเขาได้ต่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ที่ช่วยเหลือเขาได้เพียงน้อยนิด และเมื่อเข้าสู้ปี2017 เบได้ก่อตั้ง องค์กร เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ
ในปี 2013 ‘เมอร์ริล นิวแมน (Merrill Newman) ’ เดินทางไปเที่ยวเกาหลีเหนือกับ ‘Juche Travel Services’ บริษัททัวร์ที่เชี่ยวชาญการเที่ยวอย่างปลอดภัยในเกาหลีเหลือ แต่เขาก็ถูกจับกุมที่สนามบินก่อนเดินทางกลับประเทศ เพราะในอดีตเขาเป็นทหารสหรัฐฯ ที่ร่วมรบในสงครามเกาหลี ซึ่งทางเกาหลีเหนืออ้างว่ามีหลักฐานที่บ่งบอกว่าเขาเคยสังหารผู้บริสุทธิ์ชาวเกาหลีเหนือระหว่างสงคราม
หลังจากการจับกุมนิวแมน ทางการเกาหลีเหนือได้เผยว่า นิวแมน ยอมรับเคยก่ออาชญากรรม และสังหารพลเรือนของเกาหลีเหนือจริง แต่หลายฝ่ายมองว่าเขาถูกบังคับให้พูดเช่นนั้นมากกว่า จะเป็นข้อเท็จจริง แต่จากการช่วยเหลือของทูตสวีเดน นิวแมนจึงถูกปล่อยตัวในวันที่ 7 ธ.ค. 2013 หลังถูกคุมตัวอยู่ 42 วัน
ปี 2013 ‘จอห์น ชอร์ต (John Short) ’ มิชชันนารีคริสเตียนชาวออสเตรเลีย เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรก และถูกรายงานว่าเขาแอบเผยแผ่ศาสนาคริสต์กับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ แต่เขาก็รอดมาได้ ทว่าในปี 2014 ที่ไปเยือนเกาหลีเหนือครั้งที่ 2 เขาถูกจับกุม จากความตั้งใจทิ้งแผ่นพับเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ไว้ที่วัดพุทธแห่งหนึ่งในเปียงยาง และถูกบังคับให้ยอมรับผิด แต่เขาก็ถูกควบคุมตัวเพียง 15 วันเท่านั้น ก่อนได้รับการปล่อยตัว
เดือน พ.ค. 2014 ‘เจฟฟรีย์ โฟวล์ (Jeffrey Fowle) ’ เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ที่ได้ไปทัวร์เกาหลีเหนือ แต่ตอนจะเดินทางกลับ เขาถูกจับกุมที่สนามบินนานาชาติเปียงยาง เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าเขาตั้งใจทิ้ง พระคัมภีร์ไว้ในห้องน้ำของสโมสรกะลาสีเรือเกาหลีเหนือ ที่ดูเป็นความตั้งใจจะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ทางอ้อม ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อประเทศ
ส่วนทางรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ จึงเป็นทางรัฐบาลสวีเดนที่เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาแทน และสามารถช่วยให้โฟวล์ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 21 ต.ค. 2014 หลังถูกคุมขังอยู่นาน 170 วัน
ปี 2015 ‘ฮยอน ซู ลิม (Hyeon Soo Lim) ’ เป็นชาวแคนาดาเชื้อสายเกาหลีใต้ ที่เดินทางไปเกาหลีเหนือเพื่อสร้างบ้านพักคนชรา และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โดยเขาเดินทางเข้าออกประเทศนี้มากกว่า 100 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1997 เพราะได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานด้านมนุษยธรรม
แต่ด้วยความที่ลิมเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่มีชื่อเสียงอยู่บ้าง จึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และในปีนั้นเขาก็ถูกจับกุมในข้อหา พยายามโค่นล้มรัฐบาลเกาหลีเหนือและบ่อนทำลายระบบสังคมของเกาหลีเหนือ จากการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา จึงถูกตัดสินให้จำคุก และใช้แรงงานหนักวันละ 8 ชั่วโมง ทว่าเขาก็ได้รับการปล่อยตัวในปี 2017 ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม หลังถูกกักขังนานถึง 920 วัน
ปี 2016 ‘ออตโต วอร์มเบียร์ (Otto Warmbier) ’ นักศึกษาชาวสหรัฐฯ กำลังจะไปเรียนต่อที่ฮ่องกง แต่ก่อนจะไปเขาตัดสินใจไปเที่ยวเกาหลีเหนือกับบริษัททัวร์ของจีน Young Pioneer Tours ที่โฆษณาว่า รับรองความปลอดภัยให้กับชาวสหรัฐฯ ได้
แต่เรื่องก็เกิดจนได้ เพราะวอร์มเบียร์ ไปขโมยโฆษณาป้ายโฆษณาชวนเชื่อที่โรงแรมเพื่อนำกลับมาเป็นของที่ระลึก ซึ่งเขาถูกจับได้ที่สนามบินนานาชาติเปียงยาง เพราะเขาตัดสินใจทิ้งป้ายนั้นเนื่องจากมันใหญ่เกินกว่าจะขนกลับ บวกกับเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ของโรงแรมแจ้งรัฐบาลเกาหลีเหนือว่ามีของหายไปพอดิบพอดี
วอร์มเบียร์ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และต้องใช้แรงงานหนักชดใช้ความผิด แต่จากการช่วยเหลือของ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และมีทูตสวีเดนเป็นตัวกลางเช่นเดิม วอร์มเบียร์จึงถูกปล่อยตัวในปี 2017 หลังถูกคุมขังนาน 529 วัน ซึ่งเขาออกมาในสภาพนอนเป็นผัก ไม่รู้สึกตัว เพราะสมองได้รับความเสียหาย และหลังจากกลับถึงสหรัฐฯได้ไม่นาน เขาก็เสียชีวิต
ที่มา : CNN/ The Guardian/ BBC / CBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง