svasdssvasds

7 อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง ทำงานคุ้มงบหรือไม่?

7 อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง ทำงานคุ้มงบหรือไม่?

อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง แต่ละที่ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ทำไมน้ำยังท่วมขังอยู่ แม้ว่าจะมีอุโมงค์ระบายน้ำถึง 7 แห่ง

SHORT CUT

  • อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่เปิดทำการใน กทม. มีทั้งหมด 7 แห่ง และกำลังสร้างเพิ่มอีก 6 แห่ง งบประมาณรวมมากกว่าหมื่นล้าน 
  • ปัญหาน้ำท่วมทุกปี เป็นเพราะกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ไม่ได้กำหนดผังเมืองชัดเจนมาตั้งแต่แรก ทุกวันนี้พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ต่ำให้น้ำไหลผ่านเกิดการทับซ้อนกันไปหมด
  • ปัจจุบันนอกจากการลงทุนกับอุโมงค์ ยังมีการให้ความสำคัญกับ "ลำคลอง" มากขึ้น เช่นขุดลอกคลองให้มีความตื้นเขินลึกขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำ

 

อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง แต่ละที่ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ทำไมน้ำยังท่วมขังอยู่ แม้ว่าจะมีอุโมงค์ระบายน้ำถึง 7 แห่ง

สิ่งที่คนทำงานกังวลมากที่สุดในช่วงหน้าฝนคงหนีไม่พ้น ปัญหาน้ำท่วมขัง รอการระบาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหารถติดตามมา

ซึ่งเรื่องน้ำที่ท่วมทำรถติด ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ของชาว กรุงเทพมหานคร เนื่องจากติดแต่ละครั้งอาจลากยาวได้หลายชั่วโมง จนคนบนรถหลับคาพวงมาลัย หรือทิ้งรถไว้กลางถนนแล้วเปิดโรงแรมนอน หรือผู้หญิงบางคนถึงขั้นคลอดลูกบนรถเพราะไปโรงพยาบาลไม่ทันก็มี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางกรุงเทพมหานครได้มีการสร้าง อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งอุโมงค์ใหญ่เหล่านี้ทาง กทม. เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบาย บริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมหนัก เพราระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ คูคลอง มีขีดจํากัด ไม่สามารถนําน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว แต่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ นอกจากจะเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำได้โดยตรงแล้ว ยังช่วย ลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายสําคัญให้มีระดับต่ำได้รวดเร็ว ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้

อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ที่เปิดทำการใน กทม.

อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ที่เปิดทำการใน กทม.

มีทั้งหมด 7 แห่ง ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26

มีขีดความสามารถ ในการระบายน้ำ 4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ยาวประมาณ 1.10 กิโลเมตร ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสุขุมวิทระหว่างซอยสุขุมวิท 22-28 ในซอยสุขุมวิท 26 และบริเวณใกล้เคียง งบประมาณ 30 ล้าน

2. โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร

ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 เมตร ยาวประมาณ 1.88 กิโลเมตร แก้ไข ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ บางเขน และดอนเมือง ครอบคลุม พื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร งบประมาณ 495 ล้าน

3. โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36

ขีดความสามารถ ในการระบายน้ำ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 เมตร ยาว 1.32 กิโลเมตร ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในถนนสุขุมวิทและบริเวณซอยสุขุมวิท 36 งบ 129 ล้าน

4. โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 42

ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 เมตร ยาว 1.10 กิโลเมตร ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสุขุมวิทและซอยสุขุมวิท 42 งบ 109 ล้านบาท

5. โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท

ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 4.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และสร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.40 เมตร ยาวประมาณ 679 เมตร และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร ยาวประมาณ 1.90 กิโลเมตร แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตพญาไท ถนน พหลโยธิน ช่วงจากซอยพหลโยธิน 5-11 และถนนพระราม 6 งบ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร งบประมาณ 339 ล้าน

6. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 เมตร 2 ยาวประมาณ 5.98 กิโลเมตร ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร งบประมาณ 2,166 ล้าน

7. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.00 เมตร ยาวประมาณ 5.11 กิโลเมตร พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว งบประมาณ 2,336 ล้าน

7 อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง ทำงานคุ้มงบหรือไม่?

กทม. กำลังสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม

นอกจากข้างต้น ทาง กทม. กรุงเทพมหานครจะดําเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 2,442 ล้านบาท

2. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 4,925 ล้านบาท

3. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 7,300 ล้านบาท

4. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลอง ลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 งบประมาณ 1,526 ล้านบาท

5. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด งบประมาณ 2,274 ล้านบาท

6. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี งบประมาณ 4,274 ล้านบาท

7 อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง ทำงานคุ้มงบหรือไม่?

ทำไมน้ำยังท่วม กทม. ทั้งที่มีอุโมงค์ขนาดใหญ่

อุโมงค์ระบายน้ำทั้งหมดที่กล่าวมา เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ที่สำคัญ ในการระบายน้ำท่วมจากเมือง ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่อย่างที่เรารู้กันว่า กทม. มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี

ที่เป็นแบบนั้นเพราะการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยท่อระบายน้ำจากถนน ระดับน้ำในคลอง และการทำงานของสถานีสูบน้ำที่ระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมีปัญหาในแบบของตัวเอง อย่างท่อระบายน้ำจากถนน มีปัญหาขยะและสิ่งก่อสร้างที่กีดขวาง จนทำให้น้ำไหลระบายได้ช้ากว่าที่ควร ส่วนน้ำในคลองก็ไหลไป แม่น้ำเจ้าพระยาได้ช้า เพราะน้ำในเจ้าพระยาก็สูงจากน้ำทะเลที่หนุนเข้ามาอยู่แล้ว และสถานีสูบน้ำก็สร้างมา 20 ปีแล้ว ซึ่งระบบเดิมระบายน้ำสู้ปริมาณน้ำท่วมได้ช้า

ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ไม่ได้กำหนดผังเมืองชัดเจนมาตั้งแต่แรก ทุกวันนี้พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ต่ำให้น้ำไหลผ่านเกิดการทับซ้อนกันไปหมด หลายชุมชนตั้งอยู่ในจุดที่น้ำท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว จึงทำให้ชาวบ้านเจอปัญหาน้ำทะลักเข้าไปในบ้านทุกปี

7 อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง ทำงานคุ้มงบหรือไม่?

น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ระบายน้ำ

ถึงตรงนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า ถึงจะมีอุโมงค์ยักษ์ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ทุกพื้นที่ อาจมีบ้างบางจุดที่หลังสร้างอุโมงค์ยักษ์ ปัญหาน้ำท่วมหายไป เช่น พื้นที่ราชวิถี สนามเป้า และบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังเปิดทำการอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่หลายพื้นที่น้ำท่วมขังยังไปถึง อุโมงค์ระบายน้ำ ได้ยาก

นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไม ปัญหาน้ำท่วม จึงเป็นโจทย์หินของผู้ว่า กทม. ทุกสมัย ซึ่งหากจะแก้กันจริงจัง คงไม่มีใครทำได้จบภายในสมัยเดียวแน่นอน และคงต้องใช้เงินลงทุนอีกมหาศาล ซึ่งนอกจากโครงการ อุโมงค์ระบายน้ำ ที่รวมกันมากกว่าหมื่นล้านแล้ว กทม. ยังมี มีโครงการ แก้ปัญหาน้ำท่วมงอกอีกมากมาย กว่า 200 โครงการ ซึ่งใช้งบประมาณอีกมหาศาลเช่นกัน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ในสมัยของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ก็ได้มีการให้ความสำคัญกับ “เส้นเลือดฝอย” อย่าง ลำคลองมากขึ้น เช่นขุดลอกคลองให้มีความตื้นเขินลึกขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำและสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมหรือเขื่อนริมคลองเพิ่ม ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปว่า การลงทุนลงแรงของ กทม. มาถูกทางแค่ไหน หรือสุดท้ายจะจบแค่สร้างอุโมงค์ยักษ์ แต่น้ำไปไม่ถึงเหมือนเดิม

7 อุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. อยู่ตรงไหนบ้าง ทำงานคุ้มงบหรือไม่?

 

ที่มา : BBC / The Standard / สำนักงานระบายน้ำ / กรุงเทพธุรกิจ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related