svasdssvasds

ยลโฉม 15 พืชชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยปี 2023

ยลโฉม 15 พืชชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยปี 2023

พืชชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยปีนี้มีทั้งหมด 15 ชนิด และได้รับการยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก Keep The World พายลโฉม พร้อมรายละเอียดของพืชแต่ละชนิด ติดตามได้ที่บทความนี้

บุหงาเซิงเบตง

บุหงาเซิงเบตง Cr. sci.psu

แค่ชื่อก็พอจะเดาสถานที่ค้นพบได้ไม่ยาก “บุหงาเซิงเบตง” ถูกค้นพบที่ป่าฮาลาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.เบตง จ.ยะลา โดยกลุ่มที่ค้นพบมีหลายฝ่ายด้วยกันได้แก่ รศ.ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ Prof. Dr. David M. Johnson: Biological Science Department, Ohio Wesleyan University, Delware, Ohio, U.S.A ดร.จิรัฐิ สัตถาพร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช และนายสุเนตร การพันธ์ สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

‘บุหงาเซิงเบตง’ หรือชื่อในภาษาอังกฤษ ‘Friesodielsia betongensis Leerat’ มีลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดคือ กลีบดอกชั้นนอกจะวางตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกเป็นสีเหลือง ที่โคนกลีบจะมีสีเขียวแซม พืชชนิดนี้สามารถพบได้ที่ป่าดิบเขา ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,000 – 1,200 เมตร และจะผลิดอกสวยงามในช่วงเดือนพฤษภาคม

บุหงาเซิงฮาลา

บุหงาเซิงฮาลา Cr.sci.psu

สถานที่และกลุ่มที่ค้นพบเหมือนกับบุหงาเซิงเบตงทุกประการ ‘บุหงาเซิงฮาลา’หรือในชื่อภาษาอังกฤษ ‘Friesodielsia chalermgliniana Leerat’ ชื่อภาษาอังกฤษถูกตั้งให้เป็นเกียรติแก่ ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาและวิจัยพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทยคือ ‘ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น’

บุหงาเซิงฮาลามีลักษณะเด่นคือ มีใบประดับรูปไข่ขนาดใหญ่ กลีบดอกมีสีเหลืองนวล กลีบดอกชั้นนอกจะวางตามขวางเป็ยรูปสามเหลี่ยม พบได้ในป่าดิบชื้น ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป

บุหงาลลิษา

ดอกบุหงาลลิษา Cr. tsi

Drop some money! โฉ่งฉ่างขนาดนี้ไม่รู้แรงบันดาลใจก็ให้มันรู้กันไป “บุหงาลลิษา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Friesodielsia lalisae Damth., Baka & Chaowasku ถูกค้นพบที่ จ.นราธิวาสโดยนักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ. ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยสังกัดกลุ่มวิจัยอิสระ PDiT : Plant Diversity in Thailand

ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่า บุหงาลลิษา ก็เพราะตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ LISA ซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกจากวง Blackpink นั่นเอง น.ส. อานิสรา หนึ่งในผู้วิจัยให้เหตุผลว่า “ลิซ่า” คือต้นแบบแรงบันดาลใจในการศึกษาระดับปริญญาเอกของเธอนั่นเอง

บุหงาลลิษามีลักษณะเด่นคือ เป็นดอกไม้ดอกเดี่ยว ที่มีเนื้อแข็ง กลิ่นแรง กลีบดอกหนา กลีบชั้นนอกเรียวขาว สีเขียวปนเหลืองอ่อน ๆ ในปัจจุบัน บุหงาลลิษาถูกพบแค่ต้นเดียว กลุ่มผู้วิจัยได้เชื้อเชิญให้มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ชนิดนี้เอาไว้

ตระกูลหยาดทั้ง 8 ชนิดที่ถูกค้นพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก

เกริ่นก่อนว่าพืชทั้ง 8 ชนิดนี้ถูกค้นพบได้จากการร่วมมือกันของ น.ส.นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายสมราน สุดดี ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ

หยาดศรีชล

หยาดศรีชล Cr. หอพรรณไม้

ถูกพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita chonburiensis D. J. Middleton & C. Puglisi โดยมีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ที่สูงได้ถึง 30 ซม. บริเวณลำต้นดูอวบน้ำเล็กน้อย เป็นพืชใบเดี่ยว ที่มีส่วนบนสีเขียว ส่วนโคนมีสีอมม่วง

ดอกมีสีเหลืองสด มีขนขึ้นตามดอกและลำต้นประปราย และหากสังเกตในชื่อภาษาอังกฤษ จะพบคำว่า chonburiensis นั่นก็เพราะถูกตั้งให้เป็นเกียรติแก่สถานที่ค้นพบ จ.ชลบุรีนั่นเอง

หยาดศรีระยอง

หยาดศรีระยอง Cr. หอพรรณไม้

ถูกพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita rayongensis C. Puglisi & D. J. Middleton มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ที่สูงได้ถึง 30 ซม. บริเวณลำต้นดูอวบน้ำเล็กน้อย เป็นพืชใบเดี่ยว ส่วนบนสีเขียวอมม่วงแดงถึงเขียว

ดอกมีสีขาวนวล มีขนสั้นขึ้นแซมประปราย โดยบริเวณคอหลอดดอกและโคนกลีบปากด้านในมีสีเหลืองอ่อน ๆ และแน่นอนว่านี่คือการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ จ.ระยอง

หยาดขาวลออ

หยาดขาวลออ Cr. หอพรรณไม้

ถูกพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.แกลง จ.ระยอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita candida C. Puglisi & D. J. Middleton มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ที่สูงได้ถึง 80 ซม. บริเวณลำต้นอวบน้ำเล็กน้อย เป็นพืชใบเดี่ยว ส่วนบนสีม่วงอมเขียว และมีโคนสีม่วง

ดอกมีสีขาว มีขนขึ้นแซมประปราย มีแต้มสีเหลืองที่โคนกลีบปากด้านใน ส่วนคำว่า candida คือการตั้งชื่อตามลักษณะพืชที่มีดอกสีขาวนั่นเอง

หยาดเนรมิต

หยาดเนรมิต Cr. หอพรรณไม้

ถูกพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Microchirita fuscifaucia C. Puglisi & D. J. Middleton มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ที่สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ เป็นพืชใบเดี่ยว สีเขียวมันวาว

ดอกมีสีขาว บริเวณคอดอกกลีบดอกด้านในมีสีแดงอมม่วงไล่เฉดถึงน้ำตาล มีขนสั้นขึ้นแซมประปราย ส่วนคำว่า fuscifaucia คือการตั้งชื่อตามพืชที่มีคอหลอดดอกเป็นสีเข้ม

หยาดภู่มา

หยาดภู่มา Cr. หอพรรณไม้

ถูกค้นพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita poomae D. J. Middleton มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ที่สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นอวบน้ำ และเป็นพืชใบเดี่ยว

ดอกมีสีม่วงแดง ที่โคลบกลีบปากด้านในมีสีเหลือง มีขนขึ้นแซมประปราย ชื่อ poomae ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ราชันย์ ภู่มา อดีตหัวหน้ากลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ

หยาดชัยบาดาล

หยาดชัยบาดาล Cr. หอพรรณไม้

ถูกค้นพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita striata D. J. Middleton & C. Puglisi มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก มีความสูงเต็มที่ราว 25 ซม. มีลำต้นอวบน้ำ เป็นพืชใบเดี่ยว มีขนสากขึ้นทั่วทั้งลำต้น

ดอกมีสีเหลืองสด มีขนนุ่ม บริเวณโคนกลีบปากด้านใน มีเส้นสีแดง 5 เส้น ส่วนคำว่า striata คือการตั้งตามชื่อพืชที่มีเส้นสีแดงที่โคนกลีบปาก

หยาดเนินมะปราง

หยาดเนินมะปราง Cr. หอพรรณไม้

ถูกค้นพบที่บริเวณเขาหินปูน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita formosa D. J. Middleton มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำเล็กน้อย และมีสีเขียวอ่อน เป็นพืชใบเดี่ยว มีความสูงเต็มที่ราว 65 ซม.

ดอกมีสีขาวนวล มีสีเหลืองแต่งแต้มทั้งบนและล่างในหลอดกลีบดอก มีขนสั้นนุ่มทั้ง 2 ด้าน ส่วนคำว่า Formosa แปลว่า “สวยงาม” งามหยดย้อยถึงขนาดถูกตั้งชื่อว่าสวยงามเลยทีเดียว

หยาดศรีสุวัฒน์    

หยาดศรีสุวัฒน์ Cr. หอพรรณไม้

ถูกค้นพบที่ เขาหินปูน อ.เมือง จ.เลย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita suwatii D. J. Middleton & C. Puglisi มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ มีขนประปราย และมีสีแดงอมเขียว เป็นพืชใบเดี่ยว มีความสูงเต็มที่ราว 30 ซม.

ดอกมีสีม่วงแดงอมน้ำเงิน บริเวณโคนปลีบปากด้านในมีแถบแต้มสีเหลือง ส่วนคำว่า suwatii ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายสุวัฒน์ สุวรรณชาติ อดีตเจ้าหน้าที่หอพรรณไม้ ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างและเป็นผู้ทุ่มเทในการปฏิบัติงานจนถึงวาระเกษียณอายุราชการ

เอื้องแฝงบริพัตร

เอื้องแฝงบริพัตร Cr. PSUB

ถูกค้นพบที่น้ำตกบริพัตร จ.สงขลา โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aphyllorchis periactinantha เอื้องแฝงบริพัตรคือกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก มีลักษณะคือ ดอกมีสีเหลืองอมเขียว มีแต้มสีเหลืองบริเวณกลีบดอก

กล้วยไม้ชนิดนี้มีความแตกต่างจากกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ คือ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับรา เหตุก็เพราะไม่สามารถสร้างอาหารด้วยตัวเองได้ เนื่องจากไม่มีคลอโรพลาสต์ ช่อได้สูงได้ถึง 150 เมตร

ก้อมอาจารย์น้อย  

ก้อมอาจารย์น้อย Cr. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ถูกค้นพบที่เขาหินปูน จ.ตาก โดยความร่วมมือกันของม.รามคำแห่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ehretia pranomiana Rueangs. & Suddee มีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชไม้พุ่มกึ่งพาดเลื้อย ก้านใบยาว 0.5 – 2.5 ซม. มีขนสีขาวขึ้นหนาแน่น ช่อมีขนาด 2.5 – 6 ซม. ในแต่ละช่อมี 4 – 10 ดอก

ดอกมีสีขาว ก้านดอกยาวได้ถึง 1 มม. ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายมน ด้านนอกมีขนสั้นขึ้นแซม ชื่อ pramiana ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย นักวิจัยอาวุโส อดีตอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญพืชหลายวงศ์และให้ความช่วยเหลือโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย

หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์

หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์ Cr. Kasetsart University

ถูกค้นพบที่ จ.กาญจนบุรี โดย รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก.ร่วมกับ Professor Dr Henrik Balslev, Collaborating Professor มหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก

แค่ชื่อก็ชนะขาดลอยแล้ว เพราะถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี พืชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ลำต้นพันเลื้อย มีรูปร่างคล้ายคลึงกับถั่วเพรียวใหญ่ พบได้ที่บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 50 – 1,100 เมตร

กระเจียวบุณฑริก

กระเจียวบุณฑริก

ถูกค้นพบที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี​ โดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มมส รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณวิทยาศาสตร์ มมส และ คุณธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตระดับปริญญาเอก หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มมส

พืชชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma pulcherrima Boonma, Saensouk & P. Saensouk โดยคำว่า pulcherrima แปลเป็นไทยได้ว่า “สวยงามที่สุด” และคำว่าบุณฑริกมีความหมายว่า ดอกบัว เช่นเดียวกับจังหวัดอุบลนั่นเอง

ลักษณะเด่นคือ เป็นพืชหายากที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง สกุลขมิ้น เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดินแบบ rhizome และมีลักษณะสีดอกคล้ายกับมหาอุดมแดง นอกจากนี้ยังมี โคนใบรูปลิ่มถึงรูปกลม ร่องช่วงกึ่งกลางใบมีสีแดง ก้านช่อดอกมีขนาดสั้น มีขนแซมแทรกเล็กน้อย บริเวณดอกมีสีขาวปลายอมชมพูรูปไข่กลับ ปลายแฉก มีแถบสีเหลืองตรงกลาง

 

 

ที่มา: หอพรรณไม้

        กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

        psub

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related