กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงขึ้นมา กับการเปิดประเด็น นโยบายประชานิยม ในการเลือกตั้ง 2566 ทั้งนี้ นโยบายเชิงประชานิยม เพราะแต่ละพรรคพยายาม มัดใจประชาชน ทั้งประเทศ มาลองดูตัวเลขคร่าวๆ ของนโยบายประชานิยมในแต่ละพรรค หากต้องทำจริงๆแล้ว จะใช้เงินประมาณเท่าไร
• นโยบายประชานิยมพลังประชารัฐ
เริ่มต้นที่พรรคแรก พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 2562 โดยปัจจุบัน มี "ลุงป้อม" พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งคุมบังเหียนดูแลทิศทาง และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้งนี้
พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ 700 บาทต่อเดือน โดยเงื่อนไขคือต้องเป็นผู้ที่ ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งในประเทศไทย มีอยู่ราวๆ 14.59 ล้านคน ดังนั้น ภายใน 1 ปี กับนโยบายนี้ จะใช้เงิน 122,556 ล้านบาท และ ตลอด 4 ปี จะใช้ 490,224 ล้านบาท
นอกจากนี้ พลังประชารัฐ ยัง ใช้สูตร 3-4-5 และ 6-7-8
อายุ 60 ขึ้นไป 3,000 บาทต่อเดือน
อายุ 70 ขึ้นไป 4,000 บาทต่อเดือน
อายุ 80 ขึ้นไป 5,000 บาทต่อเดือน
โดย นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ของพลังประชารัฐนั้น ผู้ที่อายุ 60 ปี ได้ 3,000 ต่อเดือน , อายุ 70 ปี ได้ 4,000 ต่อเดือน อายุ 80 ปี ได้ 5,000 ต่อเดือน โดยมีผู้ที่ได้สิทธิ์ 12 ล้านคน ดังนั้น ตัวเลขที่ใช้ กับนโยบายนี้ มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• นโยบายประชานิยมรวมไทยสร้างชาติ
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้แก้ลำ จากพลังประชารัฐ ซึ่งจะบอกว่าเป็นการ "บลัฟ" ก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าไรนัก โดย ปรับนโยบาย “บัตรสวัสดิการพลัส” ให้กู้ฉุกเฉินได้ และเบิกเงินสมทบประกันชราภาพได้ก่อนอายุ 55 ปี การเลือกตั้งหนนี้จึงกลายเป็น “สงครามประชานิยม”
โดย บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท และสามารถกู้ฉุกเฉินได้ 10,000 บาท ถ้าไม่มีเงินชำระคืน ให้นำเงินจากบัตรสวัสดิการพลัส ที่เพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท มาผ่อนชำระได้ เช่น ผ่อนเดือนละ 500 (ก็ยังเหลือมากกว่าปัจจุบันที่รับแค่ 200-300 ) พอผ่อนหนี้หมด ก็กู้ใหม่ได้อีก สำหรับ บัตรสวัสดิการพลัส จะครอบคุลม ประชาชน ราวๆ 14.59 ล้านคน ต้องใช้เงินกับเรื่องนี้ 175,080 ล้านต่อปี และช่วงเวลา 4 ปี จะใช้เงิน 700,320 ล้านบาท
• นโยบายประชานิยมเพื่อไทย
สำหรับ พรรคเพื่อไทย เพิ่งจุดกระแสนโยบายมัดใจผู้คน โดย เพื่อไทย จะอัดเงิน เข้า “Digital Wallet 10,000 บาท นั่นคือ การทำให้ประชาชนลุกขึ้นยืนได้ เป็นก้าวแรกสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” โดย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกจากเพื่อไทย ได้อธิบายว่า นโยบายนี้ไม่ใช่หยอดน้ำข้าวต้ม และไม่ใช่นโยบายประชาชนนิยม แต่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ พร้อมชี้แจงเรื่องที่จะมอบเงินดิจิทัลให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้าน ระยะ 4 ก.ม. ตามภูมิลำเนาบัตรประชาชน เพราะเป็นช่วงอายุเริ่มมีวุฒิภาวะ รู้ว่าควรใช้เงินอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ไม่สามารถเลือกให้ได้ ถ้าให้ก็ต้องให้ทุกคน โดยนโยบายนี้จะใช้เงินงบประมาณ ประมาณ 540,000 ล้านบาท ซึ่งประชากรไทยที่อายุเกิน 16 ปีขึ้นไปมีอยู่ราวๆ 54 ล้านคน แต่เรื่องนี้ประเด็นนี้ ให้ครั้งเดียว จบ
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ยังมีอีกเรื่องในการทำประชานิยม นั่นคือ การให้ค่าแรง วันละ 600 บาท (ภายในปี 2570)
• นโยบายประชานิยมก้าวไกล
สำหรับ พรรคก้าวไกล , ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายในเวทีเสวนาวิชาการ “ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ” ที่จัดขึ้นโดย คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล มองเอาไว้ที่ ผู้สูงอายุจะได้ 3,000 บาทต่อคน ต่อเดือน (แต่จะค่อยๆขึ้น โดยในปี 2570 จะได้ 3,000 บาทต่อเดือน) ดร.เดชรัต กล่าวว่า เหตุผลที่ตัวเลข 3,000 บาทมีความเหมาะสม เนื่องจากผลการวิจัยเมื่อใช้ตัวเลขเส้นความยากจนของผู้สูงอายุเป็นตัวเทียบ พบว่าจากเบี้ยยังชีพอัตรา 600 บาทในปัจจุบัน จะมีผู้สูงอายุที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 6% แต่หากเพิ่มเป็น 2,000 บาท จะลดลงเหลือ 2% และ 3,000 บาท ลดลงเหลือ 1% จึงเป็นเหตุผลของการนำเสนอตัวเลขดังกล่าว
โดย หากทำตามนโยบายนี้ กับ ผู้ อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ราวๆ 12 ล้านคน ใช้เงิน 432,000 ล้านต่อปี (ในปี 2570) และสมมุติในช่วงเวลา 4 ปีจะใช้เงินแบบเต็มจำนวนต่อปีราวๆ 1,728,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจริงๆ ของพรรคก้าวไกล ที่จะเอามาบัลลานซ์ ประเด็นนี้ มันจะอยู่แค่ 4 แสนล้านล้าน โดย ดร.เดชรัต สรุปเป็นตัวเลขจากการปรับปรุงประสิทธิภาพภาษีเดิมประมาณ 2 แสนล้านบาท การจัดเก็บภาษีใหม่อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่อีกส่วนคือการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดงบประมาณกองทัพ ควบรวมธุรกิจการทหารเข้ามาสู่ระบบ รวมไปถึงโครงการอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งพบว่าก็จะลดได้อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการลดลงไม่ถึง 7% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากความตั้งใจเดิมที่คาดว่าจะลดลงราว 10%
• นโยบายประชานิยมไทยสร้างไทย
ขณะที่ พรรค ไทยสร้างไทย เป็นอีกพรรค ที่เสนอ 3,000 บาทต่อเดือน ให้กับผู้ที่มี อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยประเทศไทย มีทั้งสิ้น 12 ล้านคน จะใช้เงิน 432,000 ล้านบาทต่อปี และถ้าทำตลอด 4 ปี จะเป็นเงิน 1,728,000 ล้านบาท
ส่วน พรรคอื่นๆ มีพรรคภูมิใจไทย เสนอนโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปี ขึ้นไปได้รับสิทธิทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต เมื่อเสียชีวิตได้เงิน 1 แสนบาท เป็นมรดกให้ลูกหลาน และขณะมีชีวิตสามารถกู้ได้ไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีคนค้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ สามารถนำไปต่อยอดในการลงทุน ไม่เป็นภาระลูกหลาน ขณะที่ พรรคชาติพัฒนากล้า จะเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นกำลังทางเศรษฐกิจ ผ่านนโยบาย "ยุทธศาสตร์สีเงิน" โดยการให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ 500,000 ตำแหน่ง และมีกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อปรับอารยสถาปัตย์เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ตั้งเป้าไว้ 4 ล้านครัวเรือนในปีแรก