เทคโนโลยีการแพทย์หรือการรักษาสุขภาพ (Healthtech) ได้มีการพัฒนามากมายในปี 2022 นี้ เราได้สรุป 5 เทรนด์ชัดๆ ที่ทุกคนควรรู้ไว้ เพื่ออนาคตเราจะได้ใช้มันอย่างแน่นอน
เทคโนโลยีการแพทย์ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า "Healthtech" อาจยังไกลตัวบางคนในยุคก่อนๆ แต่ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็น 'ยุคดิจิทัล' ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้ใกล้ตัวเรามากขึ้นไปอีก จนหลายคนอาจยังไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อยู่
อีกไม่นานเราจะได้บอกลา 'การต่อคิวเพื่อลงทะเบียนผู้ป่วย ทั้งๆที่คุณก็แทบไม่มีเรี่ยวแรงที่พร้อมที่จะรอคิว' หรือ 'การพบแพทย์ที่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปต่อคิวยาวเหยียด ที่ทั้งเหนื่อยและเสียเวลา'
และยังไม่พอในปัจจุบันยังต้องรอการวินิจฉัยต่างๆที่ใช้เวลา ซึ่งอาจทำให้ทั้งผู้ป่วยและตัวแพทย์เองสูญเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ และนี่แหละคือ Painpoint ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแก้ไขได้อย่างง่ายดาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หลายคนแทบไม่เชื่อว่าในปัจจุบันเราสามารถรักษาอาการป่วยผ่านแอปพลิเคชั่นได้แล้ว หรือการนัดพบแพทย์ที่ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนกับพยาบาล สามารถบุ๊คกิ้งผ่านแอปฯได้เลย
และนอกจากนั้นการวินิจฉัยต่างๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลผู้ป่วยก็จะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยทำให้มันง่ายขึ้น
เราได้รวม 5 เทรนด์เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแพทย์ (Healthtech) ที่ชี้ให้เห็นว่าอนาคตเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุขภาพที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีการแพทย์เหล่านี้
1.ผู้คนมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพมากขึ้น
หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันคนเริ่มมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย , การดูแลสุขภาพรวมถึงควบคุมโภชนาการ เพื่อรักษาสุขภาพ ปัจจุบันมีคนเริ่มใช้การปรึกษาแพทย์ผ่านออนไลน์กันมากขึ้นผ่านแอปฯต่างๆ เนื่องจากสะดวกสบายและไม่ต้องเดินทาง
2.โรงพยาบาลอัจฉริยะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าเมื่อมีโรงพยาบาลอัจฉริยะมากขึ้น การรักษาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และอีกไม่นานโรงพยาบาลทั่วไปจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีและกลายเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะในที่สุด
3.ชีววิทยาศาสตร์จะต่อยอดสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ
อนาคตเราจะมีการผลิตยาได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้การรักษาแบบเฉพาะบุคคลนั้นแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยได้ตรงจุด และนั่นจะก้าวสู่การผลิตยาเฉพาะบุคคล เทคโนโลยีต่างๆเช่นเครื่องปริ้น 3 มิติ ร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาแบบใหม่นี้ให้ง่ายกว่าเดิม
4.ข้อมูลสุขภาพจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยและประวัติการรักษาในปัจจุบันยังคงใช้รูปแบบเอกสารและกระดาษอยู่ จึงยากต่อการค้นหาข้อมูลและทำให้การรักษาล่าช้าและอาจคาดเคลื่อนได้ อนาคตหากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดเก็บข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์โรคได้ด้วย AI นั่นก็จะทำให้การแพทย์นั้นทันสมัยและสะดวกสบายทั้งกับผู้ป่วยและโรงพยาบาล และสุดท้ายข้อมูลประชาชนทั่วทั้งประเทศเชื่อมโยงสู่ประเทศ ก็จะทำให้ทราบสุขภาพของคนทั้งประเทศและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนได้ง่ายกว่าเดิม
5.เทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมวงการดูแลสุขภาพ
ในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาสู่การดูแลสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคำนวณ BMI , คำนวณโภชนาการในการเลือกทานอาหาร , โปรแกรมออกกำลังกายและกายภาพบำบัด นอกจากนั้นการผ่าตัดหรือการรักษาผู้ป่วยต่างๆก็เริ่มมีโรงพยาบาลชั้นนำใช้กันมาสักพักแล้ว อนาคตเราจะได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการแพทย์หรือ Healthtech จะต้องเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีคนเจ็บป่วยและต้องการดูแลสุขภาพเป็นจำนวนมาก จากปัญหาทั้งด้านมลพิษ , ด้านความสะอาดของอาหารในประเทศไทย และเชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆจะเข้ามาช่วยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ และนำสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและเอกชนในอนาคตอย่างแน่นอน