เปิดสถิติ พลเรือนไทย มีปืนมากที่สุดในอาเซียน และประเทศไทย รั้ง อันดับ 15 ของโลก มีอัตราการเสียชีวิต ด้วยอาวุธปืนมากที่สุด ปี 2022 และน่าเศร้าเหลือเกินกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งล่าสุด "กราดยิงหนองบัวลำภู" มัจจุราชก็เดินทางมาพร้อมๆกับการลั่นไกปืน
ข่าวเศร้าสะเทือนใจคนทั้งประเทศ จากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมผู้ก่อเหตุด้วยเป็น 37 ชีวิต อีกหนึ่งประเด็นที่คนในสังคมให้ความสนใจก็คือ เรื่องของอาวุธปืน ที่ผู้ร้ายให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ
ไทย อันดับ 15 ของโลก มีอัตราการเสียชีวิต ด้วยอาวุธปืนมากที่สุด ปี 2022
จากตัวเลขที่มีการเก็บข้อมูลจาก World Population Review จะยิ่งตกใจเข้าไปอีก เพราะว่า ประเทศไทย ประเทศที่เพิ่งเกิดเหตุ กราดยิงหนองบัวลำภู เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืน จำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ถือเป็นประเทศที่มีสถิติ เป็นอันดับ 5 ของทวีปเอเชียเลย เป็นรองเพียง อินเดีย , ฟิลิปปินส์ , อิรัก และ ปากีสถาน
โดยหากนับรวมจากสถิติ ผู้เสียชีวิตด้วย อาวุธปืน ทั่วโลก บราซิล เป็นประเทศที่มีจำนวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนมากที่สุดในโลก มากกว่า 49,000 คน รองลงมาคือสหรัฐฯ มีจำนวนกว่า 37,000 คน ตามด้วยเม็กซิโก อินเดีย และโคลอมเบีย ขณะที่ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศในอาเซียนที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดถึง 9,267 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเรือนไทยครอบครองปืนมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากองค์กรวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ Small Arms Survey จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนของพลเรือน พบว่าปี 2017 ทั่วโลกมีอาวุธปืนกว่าแปดร้อยล้านกระบอก โดยสหรัฐอเมริกามีพลเมืองครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 393 ล้านกระบอก
หากนับประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน ประชากรของไทย 68 ล้านคน อาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนมีถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในอาเซียน เฉลี่ย 15.1 กระบอก ต่อ 100 คน ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก สะท้อนว่า อาวุธปืน อาวุธที่จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่กลับเข้าถึงได้ง่าย
GunPolicy.org องค์กรในสังกัดมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย ระบุว่า ไทย 4.1 ล้านกระบอกในไทย เป็นปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนกับทางการ หรือเรียกง่ายๆก็คือ "ปืนเถื่อน" นั่นเอง จากทั้งประเทศที่มีในการครอบครองราวๆ 10 ล้านกระบอก
ขณะที่ amnesty.org องค์การพัฒนาเอกชนที่มีจุดประสงค์ "ในการค้นคว้าและดำเนินการป้องกันและยุติการทำร้ายสิทธิมนุษยชน และเพื่อแสวงหาความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เปิดเผยข้อมูลว่า ทุกวันมีคนมากกว่า 500 คน เสียชีวิตด้วยอาวุธปืน และ อาวุธปืนมีส่วนเกี่ยวข้องเหตุฆาตกรรมทั่วโลก 44% ซึ่ง หลังจากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู เหตุการณ์นี้ ก็ต้องถูกรวมเข้าไปใน 44 % ที่ว่ามาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเก็บสถิติเก่าๆ ระบุว่า ในช่วงปี 2012 - 2016 ในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปี มีผู้คน 1.4 ล้าน ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนทั่วโลก
กลับมาที่ในไทย...ประเด็นปัญหาสำคัญ ของความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืน (ซึ่งนำมาสู่เหตุสะเทือนขวัญครั้งล่าสุด อย่างเหตุการณ์ กราดยิงหนองบัวลำภู) คือ การออกกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมอาวุธปืน ทั้งการห้ามพกพาทุกกรณี ยกเว้นแต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น รวมทั้งกฎหมายการเข้าถึงอาวุธปืนของการขึ้นทะเบียน
ช่วงเวลาที่ผ่านมา เหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ๆ มักเกิดจาก "เจ้าหน้าที่" ผู้ครอบครองและเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย อาทิ เหตุการณ์ "จ่าคลั่ง" กราดยิงโคราช มีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน เมื่อ 8 ก.พ. 2019 หรือเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เสมียนในกองทัพบกของไทย ใช้อาวุธปืนกราดยิงผู้คนเสียชีวิต 2 ศพ บาดเจ็บอีก 1 ภายในค่ายทหารแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ
แต่การจะลดปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวกับอาวุธปืนจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้านควบคู่กันไป ทั้งการสร้างองค์ความรู้กฎหมายที่เป็นโทษเกี่ยวกับอาวุธปืนต้องเข้มงวด รวมถึงการแก้ปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ ด้วย เหตุการณ์ "กราดยิงหนองบัวลำภู" จึงมีคำถามดังๆถึงประเด็นการควบคุม รื้อกฎหมายและระเบียนการครอบครองอาวุธปืนได้หรือยัง ? เราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างนี้ ซ้ำอีกหรือ ?
การเยียวยาใดๆ ก็รักษาหัวใจไม่ได้