svasdssvasds

จัดหนักมีผล 5 ก.ย.นี้ กฏหมายจราจรฉบับใหม่ เช็กอัปเดต

จัดหนักมีผล 5 ก.ย.นี้ กฏหมายจราจรฉบับใหม่ เช็กอัปเดต

เช็กที่นี่ กฎหมายจราจรฉบับอัปเดตเพิ่มโทษ เอาผิด เมาแล้วขับ-ขับรถเร็ว-ฝ่าไฟแดง-ไม่หยุดรถทางม้าลาย-ขับย้อนศร-ไม่สวมหมวกกันน็อก-ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เริ่มมีผลบังคับใช้ 5 ก.ย.นี้

กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 มีหลายเรื่องที่ต้องติดตามและต้องทำความเข้าใจ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ได้ชี้แจงการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 ไว้ดังนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1.เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ  

กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท  และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3) 

2.เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง                    
  2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น
- ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท  (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง  ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ขับรถย้อนศร   ปรับไม่เกิน 2,000 บาท  (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
- ไม่สวมหมวกนิรภัย  ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
- ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
- อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี  ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้

3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ  กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้  

- มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน  หรือ
- รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือ
- มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง
ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง  (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 -  10,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ)

3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ
- อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 -  10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.134/1)

3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน  คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 -10,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)

4.กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย
4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้  
4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า  กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2  
ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 
 
สำหรับการนั่งบริเวณแคป หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด  ส่วนประกาศกำหนดอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 

สำหรับประเด็น “ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี” ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้  เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565  เรื่องที่นั่งนิรภัยนี้ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ จราจรทางบก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565) ประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ค. 65 (ความยาว 18 หน้า) ‘มาตรา 123’ ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับขี่รถยนต์ ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์ คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์

คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายหรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ยกเว้นในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด

ตามมาตรา 123/2 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถยนต์ในขณะที่มีคนโดยสารนั่งแถวตอนหน้าเกินสองคน หรือคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าต้องรัดเข็มขัด ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องแจ้งเตือนหรือจัดให้มีการแจ้งเตือนด้วยวิธีการอื่นหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา หรือเริ่มบังคับใช้ วันที่ 5 ก.ย.65 นี้ เป็นต้นไป

ที่มา
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติ จราจรทางบก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565) ประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ค. 2565 

related