เปิดเรื่องราว 150 ปี กระทรวงการคลัง จากวันนั้น จนถึงวันนี้ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่การค้าโลก
ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ประเทศไทยของเราได้มีการบริหารการคลังมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพียงแต่..ยังไม่ได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าพระราชทรัพย์ ที่รัฐเก็บได้มาจากส่วยสาอากร หรือที่เรียกกันว่า ภาษีอากร 4 ประเภท ได้แก่ จังกอบ อากร ส่วย ฤชา ซึ่งถัดมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นได้มีการจัดระเบียบ การปกครองฝ่ายพลเรือนเป็น 4 หรือที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ซึ่งจะประกอบไปด้วย กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง กรมนา
โดยทั้ง 4 กรมพระคลังมีหน้าที่ รักษา ราชทรัพย์ผลประโยชน์ของไทย ซึ่งมีขุนคลังทำหน้าที่หัวหน้าบังคับบัญชา อีกทั้งยังมีพระคลังสินค้าเป็นที่เก็บ และรักษาส่วยสาอากร ต่อมาในในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - 2031) พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงแก้ไขระบบราชการวางระเบียบการคลังการส่วยสาอากรให้มีความรัดกุมทันสมัยมากยิ่งขึ้น พร้อมให้ตราพระราชบัญญัติทำเนียบราชการ โดยมีตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ตำแหน่ง ดังนี้
เมื่อวันเวลาผ่านไปย่างก้าวเข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367 - 2394) พระองค์ทรงหาวิธีเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการให้ผูกขาดกับการเก็บภาษีอากรในขณะนั้นได้มีการอนุญาตให้เจ้าภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในไทยเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง
ในแต่ละปีเจ้าภาษีจะเสนอรายได้สูงสุดในการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละชนิดให้แก่รัฐบาล จากนั้นเจ้าภาษีจัดแบ่งส่งเงินรายได้แก่รัฐบาลเป็นรายเดือน จนครบกำหนดที่ได้ประมูลไว้ เป็นการเริ่มระบบเจ้าภาษีนายอากรของไทยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เวลาผ่านไปจนมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 - 2411) ไทยได้เปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก พร้อมทั้งได้มีการทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษ ทำให้ไทยต้องมีการยกเลิกการค้าแบบผูกขาด ซึ่งภายหลังสนธิสัญญาบาวริง การค้าขายระหว่างไทยกับต่างชาติมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีพ่อค้าจากต่างชาติน้ำเงินเหรียญดอลลาร์เม็กซิกันมาแลกเป็นเงินไทย จนกระทั่งเงินบาทพดด้วงที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่พอใช้หมุนเวียนในประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการ เพื่อผลิตเงินเหรียญ
จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าระบบการคลังของไทยมีวิวัฒนาการที่หลากหลายมาเรื่อย ๆ พร้อมทั้งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ครั้งสำคัญของประเทศไทย นั่นก็ คือ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พระองค์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัยขึ้น ตามโลกการค้าฝั่งตะวันตกให้ทัน จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานการคลัง ซึ่งนำไปสู่การสถาปนากระทรวงการคลังขึ้นมาในรัชกาลที่5
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตราพระราชบัญญัติ กรมพระคลังมหาสมบัติ ยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ใน 14 เมษายน พ.ศ. 2418 ซึ่งมีหน้าที่หน้าที่สำหรับ รับ จ่าย และรักษา เงิน แผ่นดิน ทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุ กับถือบัญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดิน รวมถึงการเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิ์ขาด ประกอบด้วยกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ 13 กรม
จากนั้นได้ทรงแบ่งหน่วยราชการส่วนกลางเป็น 12 กระทรวง โดยมีเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ แทนอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดี จตุสดมภ์ นอกจากนี้พระองค์ทรงให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก ปีพ.ศ.2439 โดยเริ่มวางระเบียบการควบคุมการใช้จ่ายเงินของกระทรวงและกรมต่างๆ ทั้งหมดเป็นการกำหนดรายจ่ายไม่ให้เกินกำลังของเงินรายได้ เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งรัฐบาลปี พ.ศ. 2444 สามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับ รายจ่ายแผ่นดินขึ้นโดยแยกการเงินส่วนแผ่นดิน และส่วนพระองค์ออกจากกันอย่างเด็ดขาดเป็นครั้งแรก โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้นให้พระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการดูแล
ไม่เพียงเท่านี้ในยุคนั้นยังมีการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลาง สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร ซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงิน ของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนี้ได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์
พร้อมกันนี้ได้พระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบาญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวง ตั้งอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากร ต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาด จัดเก็บภาษีอากร ให้มีเจ้าจำนวนภาษีของพระคลังทั้งปวงมาทำงานในออฟฟิศเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษี นายอากรนำส่งต่อพระคลังแต่ละแห่ง โดยครบถ้วนตามงวดที่กำหนดให้
จากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาทั้งในสมัยรัชการที่ 6 พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรัดพระคลังในท้องที่ต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458 และสมัยรัชการที่ 7ใน พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกำหนด ให้มีกรมราชการกรมหนึ่งในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า กรมเงินตรา มีหน้าที่กระทำกิจทั้งปวงอันเกี่ยวแก่การจำหน่ายและถอนคืนธนบัตร
ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้ ใน พ.ศ. 2476 ได้มีการเปลี่ยนนามกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงการคลัง โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 8 กรม ดังนี้
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่กระทรวงการคลังก็ยังคงทำหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งการควบคุมงบประมาณเบิกจ่ายภาครัฐ จัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม บริหารหนี้สาธารณะ หนี้ภาคครัวเรือน จัดการอสังหาริมทรัพย์ของแผ่นดิน นอกจากนี้รวมไปถึงดูแลรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐกับเอกชน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกระทรวงการคลังมีหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแลมากถึง 10 ส่วนราชการ ดังนี้
1.สำนักงานรัฐมนตรี
2.สำนักงานปลัดกระทรวง
3.กรมธนารักษ์ ผลิตเหรียญกษาปณ์ ควบคุมเงินคงคลัง และดูแลที่ราชพัสดุ
4.กรมบัญชีกลาง ควบคุมการเบิกจ่ายเงินแผ่นดินและหน่วยงานภาครัฐ
5.กรมศุลกากร ตรวจเก็บภาษีนำเข้า-ส่งออกสินค้า
6.กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีสรรพสามิต เช่น น้ำมัน รถยนต์ น้ำหอม หรือมีผลเสียต่อสุขภาพ และศีลธรรม เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่
7.กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
8.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ บริหารรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
9.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ บริหารจัดการหนี้สาธารณะ
10.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
จากวันนั้น… จนถึงวันนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 มาจนถึง พ.ศ. 2568 เป็นเวลาทั้งสิ้น 150 ปี กระทรวงการคลังของประเทศไทยที่ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยในการนำพาระบบเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่การค้าโลกยุคใหม่ที่ทันสมัย ทันกับการแข่งขันในตลาดโลกที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น บนพื้นฐานการบริหารงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้การคลังไทยก้าวไกลมัดเทียมนานประเทศ !