SHORT CUT
กระทรวงคมนาคมมอบหมาย สนข. ศึกษาการรวม 3 สถานี บขส. ไว้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อำนวยความสะดวกประชาชนเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะเกิดขึ้นกันยายนนี้ พร้อมเชื่อมต่อรถเมล์และแท็กซี่ภายในอาคารเดียว คาดใช้เวลาศึกษาหนึ่งปี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย ครั้งที่ 1/2568 ว่าได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการพิจารณาและศึกษาแนวทางการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2, สถานีขนส่งเอกมัย และสถานีขนส่งสายใต้ภายใต้การรับผิดชอบของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบการดำเนินการ งบประมาณในการก่อสร้าง และการบริหารการจราจรภายใน-โดยรอบสถานีให้มีความคล่องตัวด้วย
ทั้งนี้ การย้ายสถานีขนส่งฯ นั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ และนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟไทย รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีน้ำเงิน ที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีอื่นๆ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสาย (ปัจจุบันให้บริการในรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วง) และจะครอบคลุมทุกสี ทุกสายภายในเดือนกันยายน 2568 ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมในการเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ
สำหรับรูปแบบแนวคิดที่จะดำเนินการนั้น จะศึกษาโดยใช้โมเดลจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในประเทศไทย อาทิ สถานีฮากาตะ ซึ่งเป็นสถานีโดยสารอาคารสูง ภายในอาคารจะมีศูนย์อาหาร และแหล่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการอย่างครบถ้วน ซึ่งในแต่ละชั้น จะแบ่งรถโดยสารแต่ละสายเส้นทาง แบ่งตามภูมิภาค และแบ่งจังหวัดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เป้าหมายในการย้ายสถานีขนส่ง บขส. ในครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากข้อสั่งการดังกล่าว สนข. ได้กำหนดแนวคิดรูปแบบการพัฒนาเบื้องต้น คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน และในระหว่างนี้ สนข. จะเสนอขอตั้งงบประมาณ เพื่อจ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อมออกแบบเบื้องต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ในรูปแบบอาคารสูง จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทาง และไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรในพื้นที่
ทั้งนี้ การย้ายสถานีขนส่ง (บขส.) มาในพื้นที่บริเวณใกล้กับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีแนวคิดในการรวมสถานีขนส่งทุกแห่งให้มาอยู่ที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่งเอกมัย และสถานีขนส่งหมอชิต 2 โดยจะทำการออกแบบเป็นสถานีขนส่งในรูปแบบอาคารสูง และกำหนดตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และใกล้กับทางขึ้นลงทางด่วน โดยการพัฒนาอาคารสูงนั้น จะแบ่งชั้นการให้บริการอย่างชัดเจน เช่น ชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินไปทางภาคใต้ และภาคตะวันตก, ชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินทางไปภาคเหนือ, ชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินทางไปภาคตะวันออก และพื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานคร (กทม.)
นอกจากนี้ ตัวอาคารผู้โดยสารจะมีการพิจารณาออกเป็นชั้นใต้ดินสำหรับให้รถเมล์ ขสมก. รวมถึงสำหรับรถแท็กซี่ เพื่อให้เข้ามารับส่งผู้โดยสาร ขณะที่ในส่วนของชั้นที่สูงขึ้นไป จะมีการออกแบบ เพื่อทำเป็นพื้นที่เขิงพาณิชย์ อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของฝาก เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมีที่พักคอยก่อนจะถึงเวลารถออก และรายได้จากการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการ และซ่อมบำรุงรักษาตัวอาคารผู้โดยสารได้อีกด้วย