svasdssvasds

กฎหมาย 'ห้ามขายเหล้า' เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ จุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลชุดไหน

กฎหมาย 'ห้ามขายเหล้า' เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ จุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลชุดไหน

ย้อนที่มา กฎหมาย 'ห้ามขายเหล้า' เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ จุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลชุดไหน หลังภาคธุรกิจร้องปลดล็อกขายแอลกอฮอล์ บ่าย 2-5 โมง วันพระใหญ่-ขายออนไลน์ หนุนท่องเที่ยว

จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับการร้องเรียนจากภาคธุรกิจถึงการจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติม ทั้งในประเด็นการห้ามจำหน่ายสุรา ตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น. หรือห้ามจำหน่ายในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ว่ากระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะติดขัดข้อจำกัดเรื่องการควบคุมพื้นที่ (Zoning)

ในประเทศไทย เรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ อาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และผู้คนสามารถหาซื้อได้ทั่วไป อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย ถือเป็นกิจกรรมที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายของรัฐ เพราะมีกฎหมายควบคุม กฎหมายห้ามขายอยู่ 

การห้ามขายเหล้า เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้อนเหตุการณ์เมื่อปี 2548 ช่วงการชุมนุมขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ โดยมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำ ได้นำมวลชนชุมนุมคัดค้านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ ไทยเบฟ และรวบรวมรายชื่อเสนอให้ออกกฎหมายห้ามธุรกิจอบายมุขเข้าตลาดหุ้นไทย จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวงกว้าง

ต่อมาช่วงรัฐประหาร 2549 ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยมีข้อกำหนดเรื่องช่วงเวลาห้ามขายไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากฝ่าฝืน มีโทษกำหนดไว้คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

'ห้ามขายเหล้า' ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา  

หลังจากนั้นปี 2551 ในสมัยของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 4 ก.ค. 2552 เพื่อกำหนด ‘วันห้ามขาย’ ให้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม” โดยนับตั้งแต่ 24.00 น. ของวันนั้น ถึง 24.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 

 

เพิ่ม 'วันออกพรรษา' ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หลังช่วงรัฐประหาร 2557 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เพิ่มวันห้ามขายสุราเข้าไปจากเดิม ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 5 ก.พ. 2558 ที่ยกเลิกข้อความของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แทนที่ด้วย “ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ” เพื่อเพิ่มวันออกพรรษาเข้าไป 

โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ควบคุมสุราแค่วันห้ามขาย แต่ยังกำหนดช่วงเวลาห้ามขาย จากที่เคยเป็นประกาศคณะปฏิวัติ ให้เป็นกฎหมายที่ห้ามละเมิด 

ต่อมาวันที่ 6 ม.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอ้างอิงข้อความ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทำให้สถานะของประกาศคณะปฏิวัติกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ คือ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 น.-14.00 น. และ 17.00 น.-24.00 น. ยกเว้นการขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และการขายในสถานบริการ ซึ่งเป็นไปตามกําหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

ทั้งนี้นอกจากจะพยายามควบคุมวันและเวลาในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีความพยายามออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ที่มีการกำหนดช่วงเวลา 'ห้ามดื่ม' ไว้ด้วย แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านออกมาได้

แก้กฎหมาย 'วันพระใหญ่' ขายเหล้าในสนามบินได้

ต่อมา ปี 2566 ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ให้สามารถจำหน่ายได้ในอาคารอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่

  1. สุวรรณภูมิ
  2. ดอนเมือง
  3. เชียงใหม่
  4. เชียงราย
  5. ภูเก็ต
  6. หาดใหญ่

เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้ และเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

 

ข้อห้ามเกี่ยวกับการขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

1. ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้

  • บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบรูณ์
  • บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้

2. ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ

3. ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 นาฬิกา ถึงเวลา 14.00 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกา ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ยกเว้นการขายในกรณี ดังต่อไปนี้

  • การขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ
  • การขายในสถานบริการซึ่งเป็นไปตามก่าหนดเวลาเปิดปดิของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

4. ห้ามขาย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณ ดังนี้

  • สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
  • วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
  • สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
  • สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และร้านขายยา ตามกฎหมายว่าด้วยยา
  • สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร
  • หอพัก ตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
  • สวนสาธารณะของทางราชการ ที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
  • บริเวณสถานีขนส่ง ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
  • บนทาง ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
  • ท่าเรือโดยสารสาธารณะ หรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจ่าทาง
  • บริเวณสถานรีถไฟหรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยจัดวางทางรถไฟและทางหลวง
  • พื้นที่ที่อยู่ในก่ากับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น สนามกีฬา

พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” 

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฎภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฎของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related