svasdssvasds

ก้อนกรวดในรองเท้า กสทช. ชีวิตที่ไม่ง่ายนักของ "พิรงรอง รามสูต"

ก้อนกรวดในรองเท้า กสทช. ชีวิตที่ไม่ง่ายนักของ "พิรงรอง รามสูต"

พิรงรองทำผิดอะไรทำไมถูกตัดสินให้ติดคุก? เปิดวีรกรรม "ก้อนกรวดในรองเท้า กสทช." จากเตรียมตัวจะล้มยักษ์ สู่วันที่ถูกยักษ์ล้ม เส้นทางชีวิตที่ไม่ง่ายนักของ "พิรงรอง รามสูต"

SHORT CUT

  • หรือเธอคือ "ก้อนกรวดในรองเท้า กสทช." พิรงรอง รามสูต กับบทบาทการยืดหยัดเพื่อผู้บริโภค ทำให้เส้นทางชีวิตในตำแหน่งนี้ไม่ง่ายนัก
  • นักวิชาการด้านสื่อมวลชนมองว่า เรื่องนี้เป็นผลจาก "กฎหมาย" โตไม่ทัน "การเปลี่ยนแปลงของสื่อ" ทำให้เกิดช่องว่างการกำกับดูแล คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
  • พิรงรอง เคยเป็นเสียงส่วนน้อยยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการของทรูดีแทคมาครั้งหนึ่งแล้ว หรือเรื่องเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน?

พิรงรองทำผิดอะไรทำไมถูกตัดสินให้ติดคุก? เปิดวีรกรรม "ก้อนกรวดในรองเท้า กสทช." จากเตรียมตัวจะล้มยักษ์ สู่วันที่ถูกยักษ์ล้ม เส้นทางชีวิตที่ไม่ง่ายนักของ "พิรงรอง รามสูต"

"จุดหมายของเรื่อง ดร.พิรงรอง คือ การคุ้มครองผู้บริโภค การกำกับดูแล OTT เป็นเรื่องที่ควรทำมานานตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว แต่มีความล่าช้าการเป็นแบบนี้ใช่การละเว้นการปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้ายังไม่มีตอนนี้จะกระทบอุตสาหกรรมทีวี ความพยายามกำกับดูแล OTT ของดร.พิรงรองทำให้อาจารย์ต้องได้รับผลกระทบเช่นนี้”

 

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช.กล่าวในงานเสวนา "พิรงรอง Effect" ที่จัดขึ้นโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต่างระบุว่า ต้นตอของการฟ้องร้องที่แท้จริงในครั้งนี้คือ "กฎหมาย กฎเกณฑ์" ที่เติบโตไม่ทัน "สื่อ" นั่นเอง

 

OTT คืออะไร

OTT หรือ Over The Top คือการให้บริการของแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เติบโตมาในช่วง 5 ปีหลังมานี้ สัญญาณภาพและเสียงไม่ต้องการการส่งผ่านดาวเทียมหรือสายสัญญาณเหมือนกับทีวีอีกแล้ว แต่สามารถส่งผ่าน "อินเตอร์เน็ต" ได้เลย

 

ซึ่งการพัฒนาส่วนนี้ไม่ผิด แต่อาจจะผิดที่ประเทศไทย "ไม่มีกฎหมายควบคุม" การให้บริการ OTT เลยหรือไม่ OTTกลายเป็นโครงข่ายที่ไม่มีองค์กรกำกับดูแล

 

กสทช.มี "ร่าง" แผนแม่บทกำกับดูแล OTT ที่ร่างเสร็จตั้งแต่ปี 2566 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ถูกนำมาพิจารณา สิ่งที่กำลังทำลายทีวีดิจิทัลเพราะเม็ดเงินโฆษณาบน OTT ที่ถูกกว่ามากและการไม่มีใครมีอำนาจกำกับดูแลเขาเลย

พิรงรองทำอะไร ทำไมถูกพิพากษาว่า "ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"

ต้นเรื่องเกิดจากมีประชาชนร้องเรียนมายัง กสทช. เมื่อปี 2566 ว่า แอปพลิเคชั่นทรูไอดีมีโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. อีกครั้ง 

 

ซึ่งอาจขัดต่อกฎ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้บริการแพลตฟอร์มช่องโทรทัศน์ เช่น ดาวเทียม เคเบิลทีวี และ IPTV ต้องนำช่องโทรทัศน์ที่รัฐกำหนดไปออกอากาศโดย "ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม" เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ ข่าวสารได้อย่างเท่าเทียม หมายความว่าต้องไม่มีโฆษณาใดๆ ของแพลตฟอร์มเข้ามาแทรกในการชมโทรทัศน์ของประชาชนอีก

 

เมื่อเกิดการร้องเรียนขึ้น "พิรงรอง" ไม่ได้ส่งเรื่องนี้ไปยังทรูไอดีเพราะไม่ใช่บริการที่ กสทช.กำกับดูแล แต่ได้ส่ง "หนังสือเตือน" ไปยังช่องทีวีต่างๆแทน บริษัทจึงอ้างว่าเป็นการกระทำที่ทำให้บริษัทเสียหายเพราะโทรทัศน์บางช่องอาจเอามาเป็นเหตุในการขอระงับการเผยแพร่สัญญาณผ่านทรูไอดีได้

 

และในคำพิพากษายังระบุด้วยว่า กสทช.ไม่เคยระบุให้ผู้ให้บริการ OTT ต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. โดยพิรงรองเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. ใช้อำนาจโดยมิชอบ เร่งรัดให้ กสทช.ออกใบเตือนไปยังช่องทีวีต่างๆ ในนามสำนักงาน กสทช. ภายหลังการประชุมของคณะกรรมการฯ ทันทีโดยที่ประชุมใหญ่ กสทช.ยังไม่ได้เห็นชอบ และยังกล่าวในห้องประชุมด้วยว่า "จะใช้วิธีตลบหลัง" จัดการกับช่องรายการทีวีต่างๆ แทน และในที่ประชุมมีคนไม่เห็นด้วยก็ถูกโน้มน้าวและเร่งรัดพิจารณา ยังพูดด้วยว่าต้อง "ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์"

ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พิรงรองพยายามสู้กับทุน

เมื่อปี 2565 พิรงรอง เป็น 1 ใน 2 เสียง (จากทั้งหมด 7 ท่าน) ที่ไม่เห็นด้วยกับมติ กสทช.เกี่ยวกับการควบรวมทรู-ดีแทค โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะไว้ว่า กรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจเดียวกัน จะกระทบต่อตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ตลาดเหลือผู้เล่นใหญ่ 2 เจ้า ปิดโอกาสผู้เล่นรายใหม่ การแข่งขันลดลง ค่าบริการจะสูงขึ้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม และธุรกิจมีความใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจรในตลาดค้าปลีกและส่ง (Conglomerate) รายใหญ่ของประเทศ

 

นี่คือการมุ่งสอย "ตัวบุคคล" มากกว่าการท้วงคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรม?

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายมีทางโต้แย้งหากเห็นว่าคำสั่งของรัฐมีปัญหาสามารถอุทธรณ์และหาข้อยุติที่ศาลปกครองได้เพื่อเพิกถอนคำสั่ง แต่การฟ้องอาญา ม.157 ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความต้องการคือให้เจ้าหน้าที่รัฐติดคุก และที่แปลกคือโดยทั่วไปผู้ออกหนังสือ คือสำนักงาน กสทช. จะเป็นจำเลยที่ 1 แต่กรณีนี้ผู้ออกคำสั่ง คือ อ.พิรงรอง เป็นจำเลยที่ 1 อาจมองได้ว่าเป็นการฟ้องปิดปากมุ่งเอาผิดตัวบุคคลที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ประชาชน

related