SHORT CUT
นัดผู้คนใส่ชุดมลายู แสดงอัตลักษณ์ในวันฮารีรายอ สู่ผู้ถูกกล่าวหาคดีความมั่นคง ยุยงปลุกปั่น ความยุติธรรมปลายด้ามขวานกำลังกดทับวัฒนธรรม?
การนัดแต่งกายชุดมลายูอันเป็นชุดพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ในวันฮารีรายอ วันเฉลิมฉลองของชาวมุสลิมหลังสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอด เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 โดยกลุ่มเยาวชนเล็กๆ ชื่อ สายบุรีลุคเกอร์ เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ และจัดมาต่อเนื่องทุกปีร่วมกับกลุ่มเยาวชนอื่นๆในพื้นที่ จนเว้นว่างไปช่วงการระบาดของโควิด
และกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2565 ในชื่อ Malayu Raya 2022 ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในวันที่ 4 พ.ค. 2565 โดยมีประชาชนทั้งชายหญิงแต่งกายด้วยชุดมลายูมาร่วมแสดงออก โบกธงของหมู่บ้าน การแสดงสัญลักษณ์ Save Palestine การละหมาดอัซรี การกล่าวสุนทรพจน์ แสดงดนตรีบนเวที โดยปราศจากอาวุธและความรุนแรง มีการรายงานว่ามีคนมาร่วมกิจกรรมมากถึง 15,000 คน จากนั้นมีการจัดกิจกรรม Malayu Raya ที่หาดวาสุกรีต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 14 ธ.ค. 2566 ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานรวม 9 คน ได้รับหมายเรียกจากตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม ม.116, อั้งยี่ซ่องโจร ม.209 และกระทำการซ่องโจร ม.210 ในประมวลกฎหมายอาญา และการฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน
พนักงานสอบสวนระบุในใบแจ้งข้อกล่าวหาว่า "ผู้ต้องหากับพวกได้มีการกล่าวถ้อยคำบนเวทีอันมีลักษณะยุยงปลุกปั่นและปลุกระดมว่ามีศัตรูมาทำลายชาติมลายูปาตานี ทำให้เสียเอกราช เยาวชนต้องรวมตัวกันทำให้หมดไปซึ่งการถูกกดขี่ข่มเหง การกล่าวถ้อยคำว่าวันรายอที่ 3 เป็นวันเยาวชนแห่งชาติปาตานี กิจกรรมร้องเพลงปลุกใจมีเนื้อหาทำนองให้เยาวชนร่วมกันปฏิวัติกอบกู้เอกราชปาตานี"
กองอำนวยการรักษาความสงบในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4.สน.) ออกมายืนยันว่า การเป็นโจทก์ฟ้อง 9 นักกิจกรรมในคดีดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพราะการแต่งการชุดมลายู แต่เป็นเพราะกิจกรรมนี้มีเนื้อหายุยงปลุกปั่น มีการแสดงธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN และกล่าวถ้อยคำบนเวทีว่ามีศัตรูมาทำลายชาติปัตตานีให้เสียเอกราช เยาวชนปาตานีต้องรวมตัวกันกอบกู้เอกราชรัฐปาตานี เป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดอาญา และยืนยันว่าการบอกว่าดำเนินคดีที่ใส่ชุดมลายู เป็นการบิดเบือนความจริง
ด้านผู้ถูกกล่าวหา ระบุว่า แกนนำไม่คิดจะชูธง แต่คนมีเยอะมาก มีบางคนนำธงไปก็พยายามเก็บ และเนื้อหาบนเวทีไม่ได้มีการปลุกปั่นแต่เป็นการให้สัตยาบันทำความดีเพื่อสังคมในฐานะเยาวชน และยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเอกสารแปลภาษามลายูที่ใช้พูดบนเวทีโดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญและเป็นกลาง
วันนี้ 23 มกราคม 2568 อัยการส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คนต่อศาลจังหวัดปัตตานีแล้ว โดยศาลได้ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยวางหลักทรัพย์คนละ 70,000 บาท ซึ่งทนายความเปิดเผยว่า ผู้ต้องหาได้ขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องก่อนฟ้องคดีเพราะไม่เชื่อมั่นในคำแปลภาษามลายูว่าคำพูดตรงกับคำที่ฟ้องหรือไม่ แต่อัยการไม่อนุญาต และไม่มีกฎหมายให้พนักงานสอบสวนส่งเทปเสียงให้ผู้ต้องหา
"คำฟ้องของอัยการไม่มีส่วนที่เราขอความเป็นธรรมเลย เราจะอ้างนักวิชาการที่เชี่ยวชาญภาษามลายู ต้องใช้การตีความ ไม่ใช่แปลจาก Google Translate"
จำเลยทั้ง 9 คน ยังหวังจะสู้คดีต่อไปตามกระบวนการ โดยเชื่อว่าจะมีความยุติธรรม ไร้การแทรกแซงชี้นำจากหน่วยงานความมั่นคงหรือหน่วยงานอื่น อันจะส่งผลลบอย่างมากต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ปลายด้ามขวานของเรา