SHORT CUT
แคปแชทใช้เป็นหลักฐานเอาผิดกันได้จริง! ทั้งคดีกู้ยืมเงิน-หมิ่นประมาท สามารถใช้ประวัติการสนทนาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักฐานได้จริงในการพิจารณาคดี รู้แล้วจะอึ้ง เคยมีคนถูกดำเนินคดี ม.112 มาแล้ว แค่พิมพ์ตอบแชทว่า "จ้า"
การแชท-การสนทนาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ ที่ทำให้การสื่อสารไร้ข้อจำกัด เราสามารถพิมพ์หา ส่งข้อมูล ข้อความกันได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้านปริมาณ เวลา และต้นทุน ดังนั้นหลักฐานในชั้นการพิจารณาคดีในปัจจุบัน จึงมีการประยุกต์ให้ "ประวัติการสนทนา" หรือ "ประวัติการแชท" การแคปแชท ใช้เป็นหลักฐานในคดีต่างๆได้
เช่น ในคดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ที่กฎหมายระบุว่า หากกู้ยืมตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไปแล้ว เพราะนักกฎหมายยืนยันว่า ปัจจุบัน ข้อความแชทบนแอปที่มีระบบยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้ facebook messenger หรือ application line /ข้อความที่รู้ชื่อบัญชีผู้สนทนา รู้ว่าใครยืม ใครเป็นผู้ให้ยืม/ ข้อความสนทนา เช่น จะยืมจำนวนเท่าไหร่ จะคืนเมื่อไหร่ หรือหลักฐานการโอน statement หรือสลิปการโอนต่างๆ เหล่านี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น
iLaw รายงานว่า ในคดีการเมืองก็มีประวัติว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหา ม.112 จริง จากการใช้หลักฐานข้อความแชทและหลักฐานอื่นมาประกอบการพิจารณา เช่น กรณีของพัฒน์นรี หรือแม่ของจ่านิว เคยถูกกล่าวหาว่าคุยกับบุรินทร์ในกล่องแชท หลังจากที่บุรินทร์ส่งข้อความที่มีเนื้อหาในลักษณะหมิ่นประมาท ม.112 มาให้ แล้วพัฒน์นรีตอบกลับไปว่า "จ้า" ทำให้เธอถูกจับกุม คุมขังในคุก 2 คืน คดีอยู่ในศาลทหารก่อนโอนมาที่ศาลปกติและศาลพิพากษายกฟ้องในที่สุด
หรือกรณีของ ณัฏฐธิดา หรือ แหวน พยาบาลอาสา ถูกจับกุมในปี 2558 จากหลักฐานที่ตำรวจบันทึกภาพหน้าจอ (แคปแชท) ว่าเธอส่งข้อความลักษณะความผิด ม.112 ในกลุ่มแชทไลน์ โดยเป็นการปริ้นท์หลักฐานดังกล่าวลงในกระดาษและนำมาเสนอต่อศาล ไม่รู้ว่าใครเป็นคนแคป เธอถูกคุมขังในเรือนจำถึง 3 ปี 6 เดือน ก่อนคดีถูกโอนมาที่ศาลปกติและศาลพิพากษายกฟ้องในภายหลัง
ดังนั้นการใช้การบันทึกภาพหน้าจอ ข้อความที่สนทนาในแอปต่างๆ สามารถใช้เป็นหลักฐานในคดีได้จริง หากพิสูจน์ได้ว่าภาพนั้นไม่ถูกตัดต่อหรือปลอมแปลงขึ้นมา เพียงแต่ที่ผ่านมา ในคดีทางการเมืองที่ใช้หลักฐานจากข้อความสนทนา มักพิสูจน์ไม่ได้ว่าภาพดังกล่าวเป็นของจริง และทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษก่อนการตัดสินไปก่อน เพราะข้อกล่าวหาที่มีความรุนแรง