นับถอยหลังหมดอายุใบอนุญาต 'ทีวีดิจิทัล' หลายช่องปรับตัว ปรับโครงสร้าง ลดจำนวนคน และหันมาทำออนไลน์ของตัวเองให้แข็งแรง ท่ามกลางข้อครหาที่ว่า การสู้ในสนามออนไลน์นั้นจะเน้นแค่ยอดวิว-ยอดแชร์ โดยลดคุณภาพข่าวหรือไม่?
“สาหัสมาก”, “สะบักสะบอม”
แทบจะกลายเป็นคำพูดติดปากของคนทำสื่อไทยเวลานี้
โดยเฉพาะคนที่ทำอยู่กับ 'ทีวีดิจิทัล' ซึ่งเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเข้าสู่ช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนใบอนุญาตที่ได้รับจาก กสทช. จะสิ้นสุด (ในปี พ.ศ. 2572)
หนึ่งในตัวเร่ง คือการคาดการณ์ที่ว่าอีกไม่นาน 'เงินโฆษณา' ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ 'สื่อโทรทัศน์' โดยเฉพาะเหล่าทีวีดิจิทัลที่ต้องลงทุนสูง จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนอาจเหลือ 'ไม่ถึงครึ่ง' ของที่เคยได้รับสูงสุด (ย้อนไปสิบปีก่อน สื่อทีวีได้เงินโฆษณารวมกันมากกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี) และอาจแพ้ให้กับ 'สื่อออนไลน์' เป็นครั้งแรก
ซึ่ง 'ตัวเลข' ล่าสุด ที่ออกมา ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ปี 67 ทีวีดิจิทัลไทย 'สาหัส' แค่ไหน
ตัวเลขเบื้องต้น จากเม็ดเงินโฆษณาของอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมดในปี พ.ศ. 2567 กว่า 86,980 ล้านบาท สื่อทีวีได้รวมกัน 32,500 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนถึง 2,864 ล้านบาท หรือลดลง 8%) ส่วนสื่อดิจิทัลได้รวมกัน 33,859 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,576 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16%)
นำไปสู่การ 'ปรับตัว' ของเหล่าทีวีดิจิทัล ซึ่งกลยุทธ์ที่หลายช่องใช้ก็แทบจะไม่แตกต่างกัน คือ 'มุ่งสื่อออนไลน์' (go online) และปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมยิ่งขึ้นกับภารกิจใหม่
ในรายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์สื่อไทยในปี พ.ศ. 2567 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พูดถึงการลงไปแข่งขันในสนามออนไลน์ของสื่อไทยที่มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ และการปรับโครงสร้างของสื่อทีวีหลายแห่งเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในธุรกิจ นำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน เช่น (ที่มาข้อมูล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงกรณี PPTV เลิกจ้างพนักงาน 90-100 คน. ช่อง 7 ยกเลิกใช้ outsource บางบริษัท และยังมีทีวีดิจิทัลบางช่องที่ปรับโครงสร้าง-เลิกจ้างพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง (ที่มาข้อมูล รวบรวมโดยสปริง)
ทำให้เฉพาะปี พ.ศ. 2567 มีคนวงการสื่อถูกเลิกจ้างระหว่าง 800-1,000 คน
แต่ถึงจะลดขนาดองค์กร, ปรับโครงสร้าง, มุ่งสู่ออนไลน์แล้ว ก็ใช่ว่า สื่อทีวีทุกแห่งจะอยู่รอดได้ ยังมีความท้าทายอะไรรออยู่ในปี พ.ศ. 2568 และในอีกไม่กี่ปี ก่อนครบใบอนุญาต
รวมถึงคำถามที่ว่า การปรับตัวเหล่านี้จะกระทบต่อผู้บริโภคข่าวอย่างไรกันบ้าง
องค์กรปรับตัว: จาก 'หน้าจอ' สู่อีก 'หน้าจอ' ความยากและท้าทาย
“ในเมื่อใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเหลืออยู่แค่ 4-5 ปี ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ทีวีดิจิทัลหลายช่องเตรียมความพร้อมว่า ถ้าเกิดเราไม่ได้ใบอนุญาตต่อจะเป็นอย่างไร ก็อยู่บนโจทย์ที่คงไม่หายไปไหน เพราะทุกคนก็อยากจะไปต่อ ซึ่งการมุ่งสู่สนามออนไลน์ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่เรามอง”
นายพุทธิฉัตร จินดาวงศ์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายโครงการพิเศษ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ในฐานะผู้บริหาร PPTV Online สื่อออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์ PPTV HD36 กล่าว
ปัจจุบัน รายได้ของ PPTV จะมาจากสื่อทีวีราว 90% และสื่อออนไลน์อีกราว 10% จึงต้องหาวิธีทำอย่างไรให้รายได้จากออนไลน์เติบโตขึ้น
โมเดลหารายได้ของสื่อทีวีที่มีสื่อออนไลน์ด้วยจำนวนมาก จะเน้นการนำคอนเทนต์ของทีวีไปผลิตซ้ำบนออนไลน์ แล้วหารายได้จากยอดวิวที่แพลตฟอร์มจะตอบแทนมาให้เป็นตัวเงิน หรือที่เรียกกันว่า programmatic ads แต่นายพุทธิฉัตรมองว่า ถ้าจะใช้ 'วิธีเดิม' ในการหารายได้เพิ่ม สิ่งที่จะต้องทำคือผลิตชิ้นงานที่เยอะขึ้น ที่จะต้องอาศัยคนมากขึ้น พอคนเพิ่มขึ้น รายจ่ายก็มากขึ้น ก็ต้องหารายได้เพิ่มขึ้นอีก กลายเป็นงูกินหาง ..เป็นปัญหาไม่รู้จบ
“ส่วนตัวมองว่าวิธีการนี้จะไม่รอด คือมันไม่พอที่จะมีรายได้มาเลี้ยงคนทั้งองค์กรได้ ทางที่เรามองก็เลยกลับไปที่การหาจุดแข็งของตัวเองแล้วต่อยอดไปสู่ออนไลน์” นายพุทธิฉัตรกล่าวก่อนขยายความว่า สิ่งที่ PPTV จะต่อยอดมีทั้งการทำทัวร์ต่างประเทศ, จัดอีเว้นต์ฟุตบอล, เปิดอคาเดมีสอนถ่ายภาพ ไปถึงการทำ special project กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายปรัชญา ชีพเจริญรัตน์ บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ (Onenews) ของช่อง ONE ซึ่งดูแลแบรนด์ออนไลน์อื่นในเครือ อาทิ GMM25, Sum Up ด้วย กล่าวว่า ช่อง ONE หันไปโฟกัสกับออนไลน์มาได้ 4-5 ปีแล้ว เพราะจากที่สมัยก่อนบางคนจะมองว่าออนไลน์เป็นแค่ second screen ของทีวี แต่เรามองว่าออนไลน์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งระยะหลังเทรนด์คนหันไปดูคอนเทนต์ในมือถือมากกว่าทีวี
“ออนไลน์ตอนนี้ มันต้องทำอีกหน้าที่ นอกจากยังเป็น second screen ก็ต้องมี original คอนเทนต์ของตัวเอง และวิธีเล่าก็ต้องให้เหมาะกับกลุ่ม audience เช่น คนดูทีวีจะเป็นคนที่อายุ 35-45 ปีขึ้นไป แต่ออนไลน์จะตั้งแต่ 18 ปี คือเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว วิธีการสื่อสารก็จะเป็นอีกแบบ”
ทั้งนี้ ช่อง ONE ไม่ได้ทำงานแบบแยกขาดกันระหว่างทีวีกับออนไลน์ เพราะเวลาคนข้างนอกมองเข้ามา ไม่ว่าจะทีวีหรือออนไลน์ก็ถือเป็น 'แบรนด์เดียวกัน' ดังนั้นหากทำให้แนวคอนเทนต์ชัดเจนจนกลายเป็นภาพจำ audience ก็จะหันมาติดตาม และเอเจนซี่ก็อยากจะมาซื้อโฆษณาจากคุณ
คนทำงานปรับตัว: หนึ่งคนทำได้หลายอย่าง คนที่ได้ไปต่ออาจไม่ 100%
เรื่องการปรับตัวของ 'คนทีวี' มาสู่การเป็น 'คนออนไลน์'
นายปรัชญายังมองว่า ด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยีและสภาพเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน คนที่ทำงานทั้งในส่วนของทีวีและออนไลน์จะต้อง cross กัน ไม่ได้แยกขาด เพราะถ้าไม่ cross กันก็อาจจะต้องแบกทั้ง 2 อย่าง อะไรที่ใช้ร่วมกันได้ก็ใช้ อาจจะไม่ได้ 100% แต่บางอย่างที่คาบเกี่ยวกันได้ก็แชร์กัน
“ถ้าเราไม่ปรับ เทคโนโลยีหรือสภาพเศรษฐกิจจะมาบังคับให้เราปรับ แล้วเทคโนโลยีก็เอื้อต่อการทำสิ่งต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ถ้าคุณยังไม่ไปอีก เขาก็อาจจะเลือกคนอื่นมาทำแทน นี่คือสัจธรรม นี่พูดในแง่ของธุรกิจ”
ปัจจุบัน ทีมงานที่นายปรัชญาบริหารจะพยายามให้ 1 คนทำงานได้หลายอย่าง เช่น ช่างภาพนอกจากถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอก็ยังจะต้องตัดต่อคลิปได้ด้วย
ด้านนายพุทธิฉัตร ผู้บริหาร PPTV Online สื่อออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์ PPTV HD36 กล่าวเสริมว่า ความท้าทายการ go online ของสื่อทีวีในระยะหลัง เกิดขึ้นในช่วงที่คนวงการทีวี ทั้งนายทุนและผู้ปฏิบัติงานต่างสะบักสะบอมจากการทำทีวีดิจิทัลในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
“พี่น้องในวงการวิชาชีพหลายคนมีปัญหาทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพใจ เพราะเวลาที่ผ่านมา ทำงานกันหนักมาก การพยายามจะไปต่อในสภาพเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ 100% ที่จะไปสู่ออนไลน์ได้ แม้จะมีความพยายามทำความเข้าใจเรื่องการปรับตัว แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ต้องช่วยกันประคับประคองกันไป” เขาระบุ
จะ 'เน้นปริมาณ' ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้า..
ส่วนเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย กระทั่งสมาคมนักข่าวฯ ยังระบุว่า การแข่งขันอย่างเข้มข้นในสนามออนไลน์ “..จะมุ่งต่อความนิยมหรือเรตติ้ง มากกว่าคุณภาพของข้อมูลข่าวสาร..”
นายพุทธิฉัตร ในฐานะผู้บริหาร PPTV Online ยอมรับว่า ด้วยเงื่อนไขของบางแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ก็บีบให้ต้องทำบางคอนเทนต์ที่เน้นไวรัล-ดึงกระแสโซเชียลฯ มาเล่าต่อ แต่จะบอกกับทีมเสมอว่าต้อง 'เติม' อะไรบางอย่างลงไปในคอนเทนต์นั้นด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นแค่ 'บุรุษไปรษณีย์'
“แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า บางแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างยูทูบ ก็ยังต้องการคอนเทนต์คุณภาพ เช่น คลิปขนาดยาว เราก็ต้องผลิตคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ในพื้นที่นั้น ๆ”
เสียงวิจารณ์เรื่องการผลิตคอนเทนต์โดยเน้นจำนวน-ไม่เน้นคุณภาพ นายพุทธิฉัตรระบุว่า ต้องไปดูแบรนดิ้งของสื่อนั้น ๆ ด้วยว่า เขาวางตัวเองไว้อย่างไร เพราะหากนั่นเป็นสไตล์และคนคาดหวังจากเขา จะทำสิ่งนั้นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิด แต่ถ้าต้องทำสิ่งนี้เพราะทุนไม่มี หรือกลยุทธ์ไม่ดีพอ อันนี้แหละที่น่าห่วง
ขณะที่นายปรัชญา บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ของช่อง ONE กล่าวว่า แนวทางข่าวของเรามันถูกกำหนดโดย audience คนดูของเราส่วนใหญ่เป็นคนเมือง (urban) ที่เราพอจะรู้อยู่แล้วว่าเขาชอบเสพข่าวแบบไหน ถ้าเราไปเอาข่าวแมสมาก ๆ มาลง บางทีก็ถูกด่า คนดูของเราชอบอะไรที่ใกล้ตัวเขา สนใจความเดือดร้อนของผู้คน และยอมไม่ได้กับความอยุติธรรม
“เราเองก็มีทีม data หลังบ้านที่จะมาบอกว่า คอนเทนต์แบบไหนที่คนชอบ หรือมันเหมาะกับเรา ก็จะมีข้อมูลในการเลือกข่าวได้มากขึ้น”
นายปรัชญากล่าวยอมรับว่า บางข่าวอาจจะด้อยลงในแง่คุณภาพ เพราะโลกออนไลน์จะเน้นเรื่องความเร็ว แต่ผู้บริหารของ ONE ก็จะพูดเสมอว่า นอกจากรายงานปรากฎการณ์ก็อยากให้มีพวก 'เคียงข่าว' เพื่อ top-up ความรู้ให้กับผู้ชม และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข่าวของเราด้วย
ส่วนการที่บางสื่อใช้วิธีคลิกเบตให้คนกดเข้าไปอ่านข่าว เขายอมรับว่าเป็นเทคนิคและลีลา แต่วิธีการเหล่านั้น ONE เลือกจะไม่ทำ
จะได้ไปต่อในฐานะ 'สื่อทีวี' หรือไม่?
ต่อคำถามที่ผู้บริหารทีวีดิจิทัลหลายช่องน่าจะถูกถาม ณ โค้งสุดท้าย 4-5 ปีที่เหลือ คือ จะไปต่อในฐานะ 'สื่อทีวี' กันหรือไม่?
ผู้บริหารสื่อออนไลน์ของทั้ง 2 ช่องทีวีดิจิทัลตอบตรงกันว่า ยังให้คำตอบ ณ ปัจจุบัน ไม่ได้ เพราะกติกาต่าง ๆ ในการต่อใบอนุญาตยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้วิธีการใด จะประมูลอีกครั้งหรือไม่ วิธีการแบ่งรายได้จะเป็นอย่างไร ฯลฯ แต่ทั้งคู่ย้ำว่า ทั้ง PPTV และ ONE ยังอยากไปต่อในฐานะ 'สื่อมวลชน' อยู่
“ต้องรอความชัดเจนจาก กสทช. และรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรต่อกับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล” นายปรัชญาจาก ONE กล่าว
“เหลืออีกแค่ 4-5 ปีจะหมดใบอนุญาตแล้ว เรายังไม่รู้เลยว่า วิธีการให้ใบอนุญาตดิจิทัลต่อไปจะเป็นอย่างไร และด้วยราคาเท่าไร เพราะต่อให้ผู้เล่นพยายามแทบตายอย่างไร ถ้าระบบหรือโครงสร้างมันยังไม่สอดรับกับตลาด ก็ยากที่จะรอด เหมือนสถานการณ์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา” นายพุทธิฉัตรจาก PPTV กล่าว
อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลของไทยเริ่มเมื่อ กสทช. เปิดประมูลช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 มีผู้ชนะประมูล 24 ช่อง ได้เงินประมูลไป 50,862 ล้านบาท เริ่มออกอากาศวันแรก 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ครบอายุใบอนุญาต (15 ปี) ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2572 หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การทำงานของ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคาดการณ์อุตสาหกรรมผิดพลาด ทำให้หลายช่องทีวีดิจิทัลขาดทุน จนมีการคืนใบอนุญาตไป 9 ช่อง (ที่มาข้อมูล รวบรวมโดยสปริง)
ทีวีดิจิทัลปรับตัวหลายครั้งเพื่อให้ 'อยู่รอด' ในฐานะสื่อฯ ต่อไปได้ ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทั้งจากสถานการณ์การเมือง, สภาวะเศรษฐกิจ, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของกติกา – และทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง ไม่เพียงคนในวงการสื่อที่ได้รับผลกระทบ ผู้รับสารเองก็ได้รับผลกระทบ
ในอดีต ทีวีถือเป็น 'สื่อกระแสหลัก' ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนด 'วาระร่วมของสังคม' แต่เมื่อต้องปรับตัวในช่วงที่ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป น่าสนใจว่า ถึงวันนี้และอนาคตอันใกล้ ที่ทีวีดิจิทัลต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ จะยังมีบทบาทหรืออิทธิพลในการกำหนด 'วาระร่วมของสังคม' ดังกล่าวอยู่หรือไม่