รู้จัก ‘ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) ’ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศ ที่ยืนเคียงข้างประชาชนเสมอเมื่อเกิดภัยพิบัติ
เมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือพายุรุนแรง สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่แค่การช่วยเหลือทางวัตถุ แต่ยังรวมถึงกำลังใจและความมั่นใจว่ารัฐบาลของพวกเขาไม่ได้ทอดทิ้งในยามยากลำบาก
การที่ผู้นำประเทศลงพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติจึงมีความสำคัญในหลายมิติ ทั้งในแง่สัญลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่ใส่ใจประชาชน และการทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง
ในโพสต์นี้ SPRiNG ชวนมารู้จักกับ ‘ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina)’ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศ ที่ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพราะ บังกลาเทศเป็นประเทศที่ประสบอุทกภัยหลายครั้ง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล บวกกับฤดูมรสุมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิดเสมอ
‘ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina)’ เป็นบุตรสาวของ ‘ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) ’ ผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศและประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ เธอเติบโตในครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของบังกลาเทศ และได้เข้าร่วมการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย
ฮาสินา ได้เป็นนายกฯ หญิงของบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2024 ทำให้ตลอดระยะเวลา 15 ปี เธอมีบทบาทในการพาประเทศผ่านพ้นปัญหาหลายครั้ง
ในช่วงฤดูมรสุม (มิถุนายน-ตุลาคม) ของทุกปี น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมากในบังกลาเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ชีค ฮาสินาได้แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้โดยการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
การลงพื้นที่ของเธอไม่เพียงแต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อประชาชน แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัยอย่างจริงจัง โดยเธอมักจะพูดคุยกับชาวบ้าน ฟังปัญหา และเสนอแนวทางในการช่วยเหลือ
นอกจากลงพื้นที่เพื่อ ภาพลักษณ์ของรัฐบาลแล้ว ในแง่ของการลงมือทำงาน ชีค ฮาสินา ได้ประสานการจัดตั้งหน่วยงานและทีมงานเพื่อจัดการกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างมีระบบ โดยมีการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองทัพบังกลาเทศและหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
เธอมักให้ความสำคัญกับ การจัดส่งอาหาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัย เพื่อให้ผู้คนมีที่หลบภัยจากน้ำท่วม และใช้งบประมาณจำนวนมากเยียวยาผู้ประสบภัยทุกครั้ง
ในเดือนมิถุนายน ปี 2022 บังกลาเทศเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ใน เขต Sylhet และ Sunamganj ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เบื้องต้นเวลานั้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 40 ราย ฮาสินาในฐานะนากยกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยเหมือนเคย และเธอได้กล่าวว่า ไม่ว่าเธอจะอยู่ในรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่ว่าพรรคของเฮจะยังคงอยู่หรือไม่ ผู้นำและนักเคลื่อนไหวจะยืนเคียงข้างประชาชนและทำงานเพื่อพวกเขาเสมอ ในช่วงที่มีพายุไซโคลน น้ำท่วม หรือภัยพิบัติอื่นๆ คนของเธอจะอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอและจะช่วยเหลือประชาชนต่อไป”
“เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานเสี่ยงชีวิต ในหลายๆ พื้นที่ซึ่งไม่มีใครเข้าไปได้ ผู้นำทางของเราก็ไปที่นั่นและส่งรูปภาพมาให้ฉัน ฉันจะส่งรูปภาพนั้นไปให้ผู้บัญชาการทหารทันทีเพื่อให้เขาส่งทีมกู้ภัยไปทุกที่ที่พวกเขาไปได้” ฮาสินา กล่าว
แม้ ชีค ฮาสินา จะอุทิศตัวขนาดนี้ แต่ เธอก็ถูกโจมตีอย่างหนัก เรื่องการทำงานที่ล่าช้า ไม่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ และลามไปเป็นการประท้วงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2024 โดยมีชนวนมาจากความไม่พอใจต่อระบบโควตาตำแหน่งงานในรัฐบาลที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน และผู้ประท้วงหลายพันคนบุกเข้าไปในบ้านพักของเธอในกรุงธากา ทำให้วันที่ 5 สิงหาคม 2024 ชีค ฮาสินา ลี้ภัยไปยังอินเดีย สิ้นสุดภาพจำการเป็น ‘นายกฯ หญิงตลอดกาลของบังกลาเทศ’ อย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามแม้ชะตากรรมของ ฮาสินา จะจบที่ถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการ แต่ช่วงเวลาที่เธอตำแหน่งก็ทิ้งผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะการลดอัตราความยากจน โดยอัตราความยากจนในบังกลาเทศลดลงจาก 11.8% ในปี 2010 เหลือประมาณ 5% ในปี 2022 โดยมีประชาชนมากกว่า 30 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนในช่วงเวลาเดียวกันนอกเหนือจากนั้น เธอยัง เพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าในบังกลาเทศเพิ่มขึ้นจาก 57% ในปี 2009 เป็นกว่า 99% ในปี 2023
แม้จะมีความสำเร็จเหล่านี้ แต่ก็มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศภายใต้การนำของฮาสินา ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและการประท้วงจากประชาชนในช่วงท้ายของอำนาจของเธอ
ที่มา : indiatoday/dailysabah
ข่าวที่เกี่ยวข้อง