SHORT CUT
อัตราการเกิดลด พัฒนาการช้า ขาดกิจกรรมนอกห้องเรียน วิกฤติเด็กไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤติเด็ก” ที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของชาติอย่างรุนแรง ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีเพียงมิติเดียว แต่เป็นปัญหาทับซ้อนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง พัฒนาการเด็กที่ล่าช้า ปัญหาสุขภาพจิต ไปจนถึงการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ขณะเดียวกัน อัตราการเกิดใหม่กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยมีแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลงในอนาคต หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตไม่ถึง 2%
ผลการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย พบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะด้านการเข้าใจภาษาและการใช้ภาษา นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เด็กจำนวนมากเผชิญกับโรคสมาธิสั้น ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในระยะยาว
ขณะที่ “การเล่น” จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน แต่ผลการศึกษาพบว่า เด็กไทยมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอถึง 80% สาเหตุสำคัญมาจากการที่เด็กต้องนั่งเรียนในห้องเรียนเป็นเวลานาน และใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมหน้าจอ
วิกฤตเด็กไทยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มิเช่นนั้น ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ครอบครัว และชุมชน
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการเกิด และสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรอย่างจริงจัง พัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาการเด็กอย่างรอบด้าน ส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็ก สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก และให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม
อ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง