svasdssvasds

‘ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ กับเพลงสะท้อนชีวิต 'ด.ช. รามี่' ที่เกิดในปาเลสไตน์

‘ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ กับเพลงสะท้อนชีวิต 'ด.ช. รามี่' ที่เกิดในปาเลสไตน์

'ด.ช. รามี่’ บทเพลงชื่อดังของเจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิต ‘ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ สะท้อนความเจ็บปวดของแผ่นดีที่ไม่เคยมีความสงบ

SHORT CUT

  • ความขัดแย้งระหว่าง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ ได้ถึงจุดแตกหักในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 เมื่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับรองข้อมติที่ 181 (II) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "แผนแบ่งดินแดนปาเลสไตน์
  • นั่นจึงเป็นที่มาของเพลง "เด็กชายรามี่" โดย ปู พงษ์สิทธิ์ ที่เขียนขึ้นจากความ เจ็บปวดและการต่อสู้ของเด็กชายชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง และเพลงนี้ได้กลายเป็นเสียงสะท้อนถึง ‘โศกนาฏกรรม’ จากความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง
  • โดยรวมแล้ว "เด็กชายรามี่" เป็นเพลงที่สะท้อนความสูญเสียที่สูญเปล่าบนแผ่นดีที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

'ด.ช. รามี่’ บทเพลงชื่อดังของเจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิต ‘ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ สะท้อนความเจ็บปวดของแผ่นดีที่ไม่เคยมีความสงบ

ความขัดแย้งระหว่าง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ ได้ถึงจุดแตกหักในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 เมื่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับรองข้อมติที่ 181 (II) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "แผนแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ (United Nations Partition Plan for Palestine) " ที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์

แผนดังกล่าวเสนอให้จัดตั้งรัฐอิสระสองรัฐ ได้แก่ รัฐยิวและรัฐอาหรับ พร้อมทั้งกำหนดให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเขตปกครองพิเศษ แม้แผนนี้จะได้รับการสนับสนุนจากชาวยิวส่วนใหญ่ ซึ่งเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างรัฐอิสราเอลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ชาวอาหรับกลับปฏิเสธอย่างแข็งขัน เพราะพวกเขามีจำนวนมากกว่าชาวยิวถึง 2 เท่า แต่ต้องยอมแบ่งดินแดนให้ชาวยิวมากถึง 52 % จึงนำมาสู่สงครามและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานถึงปัจจุบัน และต่อให้มองไปยังอนาคต ก็ยังไม่เห็นเงาแห่งสันติภาพบนดินแดนแห่งนี้เลย 

เพลง "ด.ช. รามี่" โดย ปู พงษ์สิทธิ์

นั่นจึงเป็นที่มาของเพลง "ด.ช. รามี่" โดย ปู พงษ์สิทธิ์ ที่เขียนขึ้นจากความ เจ็บปวดและการต่อสู้ของเด็กชายชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง และเพลงนี้ได้กลายเป็นเสียงสะท้อนถึง ‘โศกนาฏกรรม’ จากความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง ที่ได้พรากชีวิตผู้คนที่ไม่สมควรต้องตายบนดินแดนแห่งนี้มานานหลายทศวรรษ

SPRiNG ขอพาไปดูเรื่องราวเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในทุกถ้อยคำและทุกท่วงทำนองของเพลง ‘เด็กชายรามี่’ นี้กัน แต่ไม่ใช่เพื่อชี้หน้าว่าใครเป็นผู้ร้ายในความขัดแย้งครั้งนี้ แต่คือการนำเสนอความจริงบนแผ่นดินที่ไฟแห่งสงครามไม่เคยดับ ผ่านสายตาของเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ไม่มีวันได้มีชีวิตปกติเหมือนพวกเรา

Pu Pongsit Official

ราวเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในเพลง 'เด็กชายรามี่'

“เด็กชายรามี่ เป็นเด็กชาวปาเลสไตน์

เกิดในแผ่นดินสงคราม และการทำลาย

ชีวิตวัยหนุ่ม ไม่ทันได้ใช้”

ท่อนแรกของเพลง เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงชีวิตที่ขมขื่นคนที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ เพราะตั้งแต่เด็ก พวกเขาอาจถูกผู้ใหญ่หัวรุนแรง ปลูกฝังอุดมการณ์แห่งความเกลียดชังและการก่อการร้าย และเมื่อเด็กต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง พวกเขามักประสบกับปัญหาทางจิตใจ และภาวะซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง จนไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป

“ศรัทธาแห่งศาสนา อยู่เหนือความตาย

แตกต่าง ไม่อาจร่วมแผ่นดินเดียวกันได้

จึงทำสงคราม แยกแผ่นดินปาเลสไตน์ (มายาวนาน) ”

ต่อมา เนื้อเพลงกล่าวถึงศาสนาและการแบ่งแยกดินแดน เพราะบริเวณนั้นนับเป็นแผ่นดินพันธสัญญา และนครเยรูซาเล็ม ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับทั้งสามศาสนา ได้แก่ ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม จึงมีความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับที่ไม่จบสิ้น

“**อิสราเอลมีเทมเพิ้ลเมาท์ อยู่เยรูซาเล็มฮารัม

อัล ชาริฟ อยู่เยรูซาเล็ม

ต่างอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ

ไม่อาจปรองดอง ต้องทำสงคราม”

ท่อนต่อมาเล่าถึงสถานที่สำคัญ ‘เทมเพิ้ลเมาท์ (Temple Mount) ’ หรือที่เรียกว่า ฮาราม อัล-ชาริฟ (Haram al-Sharif) ในภาษาอาหรับ ตั้งอยู่ในนครเยรูซาเล็ม และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยมีความสำคัญทางศาสนาต่อชาวยิวและชาวมุสลิม และต่างแย่งกันอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ

“***พลีชีวิตพิทักษ์แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์

สิ้นชีวิตได้ขึ้นสวรรค์แน่นอน

รบกับยิวเพื่อแยกแผ่นดินที่หมายปอง

สถาปนารัฐปาเลสไตน์”

ท่อนต่อมาเล่าถึง ‘การพลีชีพ’ โดยตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม ที่เล่าไว้ว่า ชาวมุสลิมทุกคนที่ต่อสู้ เพื่อปกป้องศาสนาและดินแดนที่ถูกยึดครองถือเป็นการกระทำที่มีคุณค่าและนำไปสู่การได้รับรางวัลในชีวิตหลังความตาย ซึ่งก็คือการขึ้นสวรรค์ ความเชื่อนี้มีรากฐานมาจากใน ‘คัมภีร์อัลกุรอาน’

 “เด็กชายรามี่ เป็นเด็กชาวปาเลสไตน์

อายุสิบสองได้ลองลิ้มรสความตาย

สังเวยสงคราม ศรัทธา ศาสนา”

ท่อนสุดท้ายของเพลงสะท้อนถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริง ความขัดแย้งหลายครั้งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กชาวปาเลสไตน์จำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะในปี 2014 เกิดเหตุการณ์ Operation Protective Edge ที่ทัพอากาศอิสราเอลทิ้งระเบิดใส่ฉนวนกาซาเพื่อโจมตีกลุ่มฮามาส แต่กลับทำให้เด็กชาวปาเลสไตน์ต้องเสียชีวิตถึง 500 คน ส่วนในความขัดแย้งครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2023 และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ซึ่งขณะนี้ องค์กร Save the Children อ้างว่ามีเด็กชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คนแล้ว

PHOTO AFP

โดยรวมแล้ว "ด.ช. รามี่" เป็นเพลงที่สะท้อนความสูญเสียที่สูญเปล่าบนแผ่นดีที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related