เวทีประชุมวิชาการสุรา ยื่น 6 ข้อเสนอ แก้ไข พ.ร.บ.เหล้า เพิ่มโทษขายให้เด็ก-คนเมา , พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขให้ทันกระแสสังคม...
ปิดฉากลงไปแล้ว สำหรับ การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
การประชุมครั้งนี้ มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ และนี่คือประเด็นสังคมที่มีหลายภาคส่วนให้ความสำคัญ
ที่ผ่านมานั้น , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทเป็นอย่างมาก ในการทำงานเชิงรุก ในการ รณรงค์งดเหล้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นโจทย์สำคัญเชื่อมโยงสู่มิติทางสุขภาพอื่น ๆ สามารถสร้างแนวทางป้องกันและลดการเจ็บป่วยจากปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ
หากวัดเป็นตัวเลข ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านไปแล้วนั้น มีผู้คนในสังคม ร่วมงดเหล้าเพิ่มเป็น 10.2 ล้านคน ในช่วงเข้าพรรษา และพบว่า 66.3% มีสุขภาพกาย-ใจดีขึ้น ประหยัดเงินค่าเหล้า 4.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ สสส. ยังเน้นหนักไปที่การรณรงค์ช่วงเทศกาล และถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในแง่มุมของการรับรู้ของสังคม
โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. มองว่าการ รณรงค์เรื่องงด เว้น แอลกอฮอล์ ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมได้
"สสส. พยายามหาคนที่คิดเหมือนกัน รวมพลังคนเหล่านั้น มาประสานการทำงานด้วยกัน
เพื่อให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของสังคม งานที่เราเคยเห็นมา สงกรานต์ที่เคยมีแอลกอฮอล์คู่ขนาน ตอนนี้ ไม่มีอีกแล้ว ในหลายๆพื้นที่ มันไม่ใช่การแค่การทำตามความต้องการเฉพาะคนในท้องถิ่น แต่มันทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มาเที่ยวได้ทุกปี เช่นที่ สีลม ถนนข้าวเหนียวที่ขอนแก่น
สิ่งเหล่านี้ยืนยันแล้วว่า คนไทยสามารถดูแลพื้นที่ ดูแลการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กับธุรกิจ ที่จะเติบโตในการท่องเที่ยวได้จริง" นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เผย
สำหรับ การประชุม วิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ที่จบลงไปนั้น หัวใจหลัก นั่นคือ เครือข่ายวิชาการ ได้ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง แก้ไข พ.ร.บ.เหล้า ฉบับใหม่ เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพ-มาตรการ กล่าวคือ
1. คนมีสิทธิชอบธรรมที่ปลอดภัยจากผลกระทบแอลกอฮอล์
2.ไม่ยินยอมให้มีการแทรกแซง-ชักนำจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. การขายให้เด็กหรือผู้ที่มีสภาพเมา หรือมีการละเมิดกฎหมายอย่างจงใจซ้ำ ควรเพิ่มโทษทางปกครอง
4. บูรณาการระหว่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพ.ร.บ.สรรพสามิต
5. ควรมีแผนแม่บทในการเพิ่มภาษีเป็นระยะ ๆ
6. การปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีทิศทางที่ลดการควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายและดื่ม รวมถึงการโฆษณา
โดยประเด็น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพ.ร.บ.สรรพสามิต , คนที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรงอย่าง ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษี สรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
(กมธ.สุราชุมชน) และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ความเห็นว่า การแก้ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นั้น ไม่ใช่การขยายการบริโภค แต่อย่างใด แต่เป็นความพยายามทำให้ สุราที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กลับขึ้นมาในระบบ และมีการควบคุมผลกระทบอย่างเคร่งครัด
" หาก พ.ร.บ. ผ่าน ไม่ว่ากระทรวงการคลัง หรือ กรมสรรพสามิต จะผ่อนคลายมาตรการเพื่อควบคุมผลกระทบไปพร้อมกัน คงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือให้การขออนุญาตเป็นไปอย่างเสรี แต่เป็นการลดข้อจำกัดลงเรื่อยๆ เพื่อเป็นการลดผลกระทบไปพร้อมกัน ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงใบอนุญาตได้อย่างถูกต้อง รัฐจะได้รายได้จากการจัดเก็บมากขึ้น แล้วก็ต้องควบคุมผลกระทบของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้ไม่มากไปกว่าเดิม ดังนั้นจุดสมดุลคือ ดูผลกระทบไปเรื่อยๆ หากมีเสียงสะท้อน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าสร้างผลกระทบทางสังคม รัฐก็จะกลับมาทบทวน และปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกัน"ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษี สรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. ....(กมธ.สุราชุมชน) เผย
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความพยายาม จากหลายๆ ภาคส่วน ที่ต้องการ ให้ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ถึงเวลาต้องแก้ไขให้ทันกระแสสังคม มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นกับสังคม และทุกหน่วยงาน อยากก้าวข้ามจุดบกพร่อง และ มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง