svasdssvasds

รู้จัก "นักสืบทุนเทา" ปราบสินค้าไร้มาตรฐาน นอมินีต่างชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย

รู้จัก "นักสืบทุนเทา" ปราบสินค้าไร้มาตรฐาน นอมินีต่างชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย

รู้จักโครงการ "นักสืบทุนเทา" กมธ.เศรษฐกิจ เปิดช่องทางร้องเรียน 6 เรื่อง Pain Point เช่น สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มี อย. ไม่มี มอก. รวมนอมินี หลังกลไกรัฐทำงานล่าช้า ผ่านระบบ Traffy Fondue

SHORT CUT

  • ปัญหาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงธุรกิจนอมินีของต่างชาติ เข้ามาสร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • โครงการนักสืบทุนเทา เปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าและธุรกิจผิดกฎหมาย ผ่านช่องทางไลน์ที่เป็นระบบ Traffy Fondue 
  • หลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.2567 มาถึงปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วกว่า 270 เรื่อง

รู้จักโครงการ "นักสืบทุนเทา" กมธ.เศรษฐกิจ เปิดช่องทางร้องเรียน 6 เรื่อง Pain Point เช่น สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มี อย. ไม่มี มอก. รวมนอมินี หลังกลไกรัฐทำงานล่าช้า ผ่านระบบ Traffy Fondue

ปัญหาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงธุรกิจนอมินีของบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาสร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆในหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามประกาศเป็นแผนระดับชาติที่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และสส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน กล่าวว่าปัญหาในเรื่องการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งธุรกิจนอมินีที่ทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจไทยจะเห็นได้จากข่าวที่มีคนและชาวบ้านเดือดร้อนจำนวนมากซึ่งทุกคนก็ตั้งความหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการในการแก้ไขออกมาให้เป็นรูปธรรม

หากดูในเรื่องของการทำงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจจับโดยตรงการทำงานนั้นอัตราความเร็วและจำนวนในการแก้ไขปัญหาตามที่ประชาชนไปร้องเรียนนั้นไม่ทันแน่ๆเพราะกำลังคนที่มีอยู่จำกัด จึงไม่สามารถจะไปดำเนินการแก้ไขให้ได้รวดเร็วตามความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน

นายสิทธิพลได้ยกตัวอย่างว่าในการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของสำนักงานมาตฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในปี 2566 สมอ.สามารถดำเนินคดียึดอายัดสินค้าได้เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น จากสินค้าที่ไม่ได้มาตฐานที่อยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก และเทียบกับมูลค่าสินค้า E-Commerce ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท

ขณะที่สถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) การดำเนินการกับสินค้าที่ไม่ได้มาตฐาน และไม่เป็นไปตามกฎหมาย สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดทั้งหมดแค่ 954 ราย แบ่งเป็นส่งเปรียบเทียบปรับ 767 ราย ส่งดำเนินคดี 31 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 156 ราย ซึ่งการที่ยังดำเนินคดีได้น้อยนั้นส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าจำนวนของเจ้าหน้าที่ที่จะลงไปตรวจสอบสินค้านั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับการตรวจจับและกวดขันกลุ่มธุรกิจนอมินีที่ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหากับการตรวจน้อย มีโทษเบา และคดีต่างๆมีความคืบหน้าไปช้ากว่าที่ควรจะเป็น

เห็นได้จากสถิติที่มีการตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่เข้าข่ายอาจเป็นนอมินีในปี 2566 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องตรวจสอบในกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 16,607 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด ซึ่งพบว่ามีผู้ที่คัดกรองแล้วเข้าข่ายเพียง 439 ราย พบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินี 8 รายเท่านั้นและส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปขยายผลดำเนินคดีได้ 2 ราย ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประชาชนคนไทยร้องเรียนว่าพบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีไม่ถูกต้องมีพฤติกรรมคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาในใบเสร็จ แต่ขอใบกำกับภาษีไม่ได้ เป็นต้น

รู้จัก "นักสืบทุนเทา" ปราบสินค้าไร้มาตรฐาน นอมินีต่างชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย

 

ทั้งนี้ยังไม่รวมธุรกิจนอมินีที่เป็นธุรกิจขนส่งที่มีการขยายตัวมากในปัจจุบัน โดยมีข้อมูลว่ามีบริษัทขนส่งที่เป็นนอมินีเข้ามาสวมหัวธุรกิจไทยมาให้บริการขนส่งแบบผิดกฎหมายนับหมื่นคัน และยังมีธุรกิจนอมินีที่เข้ามาทำธุรกิจเกษตรรับซื้อสินค้าและส่งออกมีรายได้จากการรับซื้อสินค้าเกษตรในบางจังหวัดกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งหากปล่อยให้ธุรกิจนอมินีเติบโตไปเรื่อยๆในไทยก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ และผุ้บริโภคคนไทยเสียเปรียบ และรัฐเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันกรรมาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ร่วมกับสมาคมาผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย จัดทำโครงการนักสืบทุนเทา เปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางไลน์ที่เป็นระบบ Traffy Fondue 

รู้จัก "นักสืบทุนเทา" ปราบสินค้าไร้มาตรฐาน นอมินีต่างชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย

โดยให้แจ้งเบาะแส 6 ประเด็นสำคัญที่เป็น Pain Point หลัก ได้แก่

  1. สินค้าไม่มี อย.
  2. สินค้าไม่มี มอก.
  3. ลิขสิทธิ์/เครื่องหมายการค้า
  4. การจ่ายเงินเข้าบัญชีต่างชาติโดยตรง
  5. ร้านค้าคิด VAT แต่ไม่ออกใบกำกับภาษี
  6. ปัญหาการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ

 

เรื่องร้องเรียนจะวิ่งตรงไปที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้ไปดำเนินการตรวจสอบ และเอาผิด ได้แก่

  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • สมอ.
  • การทรัพย์สินทางปัญญา
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • กรมสรรพากร
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

รู้จัก "นักสืบทุนเทา" ปราบสินค้าไร้มาตรฐาน นอมินีต่างชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย

ซึ่งการดำเนินการแบบนี้ช่วยให้ประชาชนสามารถชี้เป้าเบาะแสได้จากทั่วประเทศ กรรมาธิการสามารถติดตามต่อได้ และสามารถประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยภายหลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.2567 มาถึงปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วกว่า 270 เรื่องผ่านการคัดกรอง 202 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และเป็นอีกช่องทางหนึ่งจะทำให้เกิดการต่อสู้กับปัญหาขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆเหล่านี้

ปัญหาที่เข้ามาอาจเป็นเพียงเครื่องสะท้อน แต่ปัญหาที่คนไทยเจอในความเป็นจริงใหญ่และน่าหนักใจกว่านี้มาก โครงการนี้จึงไม่ใช่การตัดขาคู่แข่ง แต่คือการเตะตัดขาคนโกงเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆน้อยๆของไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้นเพราะเชื่อว่ากาวก้าวหนึ่งก้าวพร้อมกันของคนไทย จะเกิดแรงสั่นสะเทือนกว่าการก้าวแสนก้าวของหน่วยงานเดียว 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related