svasdssvasds

‘หมูเด้ง’ ขึ้นอันดับหนึ่ง ความสนใจโลกออนไลน์ หรือคนไทยเลิกสนใจ 'การเมือง' ?

‘หมูเด้ง’ ขึ้นอันดับหนึ่ง ความสนใจโลกออนไลน์ หรือคนไทยเลิกสนใจ 'การเมือง' ?

เดือน ก.ย. 2567 'หมูเด้ง' ลูกฮิปโปแคระ ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 1 ในโลกออนไลน์ไทยไปตามคาด สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ประเด็น 'การเมือง' ที่ถูกลดระดับความสนใจลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นหลายครั้ง ..คำถามคือทำไม?

2567 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สื่อสายการเมือง ‘ยุ่งที่สุด’ ครั้งหนึ่งในรอบปี เพราะมีสารพัดอีเว้นต์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ

  • พรรคก้าวไกลที่มี สส.อันดับหนึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ จากคดีเสนอแก้ไข ม.112 (7 ส.ค. 2567)
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองยอดนิยมถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี (7 ส.ค. 2567)
  • นายกรัฐมนตรีคนเดิมถูกถอดถอน ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศและคนที่ 4 จากสายตระกูลเดียวกัน (14-18 ส.ค. 2567)

แต่แม้จะมีเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบสำคัญทางการเมืองอย่างครบถ้วน (พรรคอันดับหนึ่งถูกยุบ, เปลี่ยนตัวนายกฯ, พิธาโดนตัดสิทธิ) จนน่าจะได้เอ็นเกจเม้นต์ถล่มทลายจากชาวเน็ตไทย

เชื่อหรือไม่ว่า หากเทียบกับข่าวอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ‘การก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของ ‘อุ๊งอิ๊งค์-นางสาวแพทองธาร ชินวัตร’ หรือ ‘พรรคก้าวไกลถูกยุบ เปิดตัวพรรคใหม่ พรรคประชาชน’ กลับไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่ผู้คนสนใจเป็นอันดับ 1 แต่ได้รับความสนใจมาเป็นอันดับที่ 4 (28,369,606 เอ็นเกจเม้นต์) และอันดับที่ 6 (24.787,182 เอ็นเกจเม้นต์) ตามลำดับ แพ้ให้กับมหกรรมโอลิมปิก, เทศกาลวันแม่ หรือกระทั่งความนิยมของละครพรชีวัน ที่อยู่ในละครชุดดวงใจเทวพรหม ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3

ขณะที่เดือน ก.ย. 2567 ที่เริ่มต้นการจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีผู้ได้รับผลประโยชน์มากถึง 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรไทยทั้งหมด แต่ประเด็นนี้กลับได้รับความสนใจอยู่ในลำดับที่ 11 ของเดือน (8,200,741 เอ็นเกจเม้นต์) ไม่ติดกระทั่ง TOP 10 แพ้ให้กับประเด็น ‘หมูเด้ง’ ลูกฮิปโปแคระ ซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ที่ได้ 86,830,577 เอ็นเกจเม้นต์ หรือได้รับความสนใจน้อยกว่านับสิบเท่า

หมูเด้ง

หากย้อนไปครึ่งแรกของปี 2567 ก็จะพบข้อมูลในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีประเด็นการเมือง แค่ 2 เรื่องเท่านั้น ที่ติด TOP 10 ในเดือนนั้น ๆ คือ 'การกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล' หลังพ้นผิดจากคดีถือหุ้น ITV โดยอยู่ในอันดับที่ 4 ของเดือน ม.ค.2567 (13,464,309 เอ็นเกจเม้นต์) และ 'ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา' ที่อยู่ในอันดับที่ 9 ของเดือน มิ.ย. 2567 (12,350,146 เอ็นเกจเม้นต์)

นั่นแปลว่า ระหว่าง ม.ค. - ก.ย. 2567 จากทั้งหมด 90 ประเด็นที่ติด TOP 10 ความสนใจของผู้คนในช่วง 9 เดือน มีประเด็นการเมืองติดอันดับเพียง 4 ครั้งเท่านั้น

อ่านข้อมูลจนถึงบรรทัดนี้ นึกย้อนกลับไปปี 2565 และปี 2566 หลายคนอาจต้องเกาศีรษะ เพราะถ้ายังจำกันได้ 2-3 ปีก่อน จะเต็มไปด้วย ‘ประเด็นการเมือง’ ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทั้งข่าวการเมืองในและการเมืองต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม., กระแสชัชชาติฟีเวอร์, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ไปจนถึงการเลือกตั้ง สส. ทั่วประเทศของไทย ที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอย่างสุดเซอร์ไพรส์ แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกขัดขวางจากกลไกที่คณะรัฐประหารวางเอาไว้ โดยเฉพาะเหล่า สว. แต่งตั้ง

เวลาผ่านมาไม่นาน เหตุใดประเด็นการเมืองจึงถูกลดระดับความสนใจในโลกออนไลน์อย่างน่าใจหาย

ทำไมคนไทยจึง ‘เลิกสนใจการเมือง’ มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

แพทองธาร ชินวัตร

คนไทยเคยสนใจการเมืองแค่ไหน

SpringNews ได้มาจากรายงานการศึกษาการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ของสังคมไทย โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ผู้ให้บริการรวบรวมข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ที่สำรวจเอ็นเกจเม้นต์ต่อประเด็นต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ที่เป็น TOP 10 ในแต่ละเดือน บนแพลตฟอร์มหลัก ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์(เอ็กซ์) อินสตาแกรม และติ๊กต๊อก ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน

‘เคยสนใจการเมือง’ มากแค่ไหน ?

หากเอาข้อมูลดิบมากาง

ปี 2565 ประเด็นการเมืองติด TOP 10 ทุกเดือน โดยเอ็นเกจเม้นต์รวมทั้งปี ข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (อันดับ 2 - 135,743,129 เอ็นเกจเม้นต์) ได้รับความสนใจมากกว่าข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลก (อันดับ 3 - 100,930,319 เอ็นเกจเม้นต์) แพ้ให้กับข่าวการเสียชีวิตของแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ ซึ่งเต็มไปด้วยปริศนา จนชาวเน็ตต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตั้งข้อสมมุติฐานและหาพยานหลักฐานกันเอง จากความไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐ (อันดับ 1 - 394,602,306 เอ็นเกจเม้นต์) เพียงข่าวเดียวเท่านั้น

ปี 2566 คนก็ยิ่งสนใจข่าวการเมือง โดยในเดือน พ.ค. ที่มีการเลือกตั้ง สส. ทั่วประเทศ มีการเมืองติด TOP 10 ถึง 9 ประเด็นข่าว !

ทว่านับแต่เดือน ต.ค. 2566 ลากยาวไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2567 สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อประเด็นการเมืองแค่ 2 เรื่อง ที่ติด TOP 10 ในช่วงเวลาดังกล่าว คือกรณีนายพิธากลับเข้าสภาฯ หลังสิ้นสุดคดี ITV และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ส่วนระหว่าง มิ.ย. ถึง ก.ย. 2567 ที่สถานการณ์การเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งจากการยุบพรรคการเมืองยอดนิยม, การเปลี่ยนตัวนายกฯ, การเริ่มต้นนโยบายที่จะมีคนได้รับประโยชน์หลักสิบล้านคน ประเด็นการเมืองก็กลับมาได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์แค่ ‘ในระดับหนึ่ง’ เท่านั้น

เหตุใดประเด็นการเมือง จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจนักในระยะหลัง และสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลเสียอย่างไร

‘หมูเด้ง’ ขึ้นอันดับหนึ่ง ความสนใจโลกออนไลน์ หรือคนไทยเลิกสนใจ \'การเมือง\' ?

ไม่สนใจ เพราะไร้ความหวัง

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อมวลชน และอดีตนักข่าวสายการเมือง มองว่า ปรากฎการณ์ที่คนไทยให้ความสนใจข่าวการเมืองน้อยลงเรื่อย ๆ นับแต่เลือกตั้ง สส. ทั่วไปในปี 2565 เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะความสนใจในข่าวการเมืองมักจะผูกโยงกับ ‘ความหวัง’ ที่จะได้สร้างความเปลี่ยนแปลง หลังจากการเมืองหยุดนิ่งมานาน นับแต่รัฐประหาร ปี 2557

แต่พอผลการเลือกตั้งออกมา ‘สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น’ กลับเป็นการ ‘ทำลายความหวัง’ ของผู้คน

“มีศัพท์ในเชิงรัฐศาสตร์อย่างหนึ่ง คือเรื่องของ Political Hopelessness หรือความไร้หวังทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกท้อถอยหรือเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ทางการเมือง คือขณะที่ตัวเองมีความหวังและโดนทุบทำลาย ก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ! แล้วเราจะติดตามไปทำไม ยิ่งเจอกับกระบวนการในเชิงตุลาการต่าง ๆ ด้วย จึงไม่แปลกที่ข่าวการเมืองจะลดทอนความสนใจของคนไทยไป

“แล้วพอในโลกออนไลน์ ความสนใจของคนไม่ได้อยู่แค่การเมือง คนก็เลยหันไปสนใจเรื่องอื่นที่เขารู้สึกว่ามันผ่อนคลายกว่า ทั้งเรื่องใกล้ตัวหรือเศรษฐกิจสังคมต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีศัพท์ทางการเมืองอีกอันหนึ่งก็เรียกว่า Political Apathy คือแยกการเมืองออกจากชีวิตของเขาเลย” ดร.มานะกล่าว

ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของ นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ที่กล่าวว่า หัวใจสำคัญเลยคือความหวัง ถ้ามีความหวัง คนจะคึกคัก จะสนใจการเมืองมากกว่านี้

“แต่ตอนนี้ คนมันไม่มีความหวัง”

อีกเหตุผลคือ ประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นระยะหลังเป็นสิ่งที่ ‘ไกลตัว’ เช่น จะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา แล้วมันเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนอย่างไร หรือความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองของ ‘ลุงบ้านป่า’ (หมายถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ที่สื่อสายการเมืองหรือคอการเมืองอาจจะสนใจ แต่คนทั่ว ๆ ไปจะรู้สึกว่า แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขา มันไม่ใช่ ‘การเมืองกินได้’ ที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของผู้คน

“โดยสรุปก็คือ 1.คนไม่มีความหวัง 2.ประเด็นมันไกลตัวคน ทำให้ความสนใจข่าวการเมืองลดลง” บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่นสรุป

‘หมูเด้ง’ ขึ้นอันดับหนึ่ง ความสนใจโลกออนไลน์ หรือคนไทยเลิกสนใจ \'การเมือง\' ?

ผลเสียของการ ‘ไม่สนใจการเมือง’ และทางออก

การที่คนไทยลดระดับความสนใจข่าวการเมือง จะส่ง ‘ผลเสีย’ อย่างไรต่อสังคมบ้าง ..อาจเป็นคำถามที่หลายคนสนใจ

นายวีระศักดิ์มองว่า มันเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจสอดไส้ทำอะไรก็ได้ เพราะบางเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก ๆ แต่อาจจะกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของเรื่องใหญ่ในอนาคต

“ถ้าคนสนใจเยอะ มันจะเก็บรายละเอียด คอยเกาะติดตามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าคนสนใจน้อยลงหรือไม่ใส่ใจรายละเอียด วันหนึ่งมันก็จะเกิดเป็นพายุใหญ่ข้างหน้า คือความสนใจก็เหมือนสปอตไลต์ เหมือนแสงสว่างไม่ให้พวกผีเข้ามาทำอะไร แต่พอคนไม่สนใจ สปอตไลต์น้อยลง จะทำอะไรก็ง่ายเลย”

ดร.มานะก็คิดถึงมุมการตรวจสอบการใช้อำนาจเหมือนกันว่า ยิ่งคนสนใจข่าวการเมืองน้อยลง โอกาสในการเกิดคอร์รัปชั่นก็ยิ่งง่ายขึ้น ทั้งในเชิงนโยบายหรือในเชิงปฏิบัติ ทั้งจากนักการเมืองไปจนถึงข้าราชการประจำ

แล้วสถานการณ์เช่นนี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงหรือไม่

นักวิชาการด้านสื่อรายนี้มองว่า มันต้องมีสถานการณ์ที่ทำให้คนรู้สึกว่ายังพอมีความหวังอยู่ คนถึงจะหันกลับมาสนใจข่าวการเมือง สิ่งเหล่านี้คนที่ยังหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นจะต้องช่วยกัน อาจจะทำเรื่องเล็กๆ ให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่เรื่องใหญ่ - “ต้องค่อย ๆ ก่อกองไฟเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายเป็นไฟกองใหญ่”

ส่วนตัว ดร.มานะมองว่า พลังจากโลกออนไลน์ยังช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อยู่ แต่ถึงขนาดจะสร้างกระแสเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2563-2564 คงจะเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก

ด้านนายวีระศักดิ์กล่าวในฐานะสื่อมวลชนว่า สื่อเองก็ต้องพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดี รายงานสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล และพยายามให้ความหวังกับผู้คน ในมุมที่ใกล้ตัวของพวกเขา - “เราต้องเป็นตัวกลางในการบอกสังคมนะว่า ในวิกฤตมันก็ยังมีความหวังอยู่ คนจะสนใจมากหรือน้อยก็เรื่องหนึ่ง แต่สื่อก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด”

เมื่อ ‘ความหวัง, ความใกล้ตัว’ เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดว่า คนจะสนใจข่าวการเมืองหรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบันที่คนสนใจประเด็นทางการเมืองน้อยลง จึงเป็นภาพสะท้อนที่ทั้งน่าสนใจและน่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน

เพราะยิ่งสปอตไลต์สาดแสงน้อยลง ผู้มีอำนาจก็มีโอกาสที่จะทำอะไรก็ได้โดยไร้การตรวจสอบมากขึ้น

related