svasdssvasds

เช็กสิทธิกรณี "ว่างงาน" หากถูกเลิกจ้าง-ลาออก กรณีไหนได้รับเงินทดแทน

เช็กสิทธิกรณี "ว่างงาน" หากถูกเลิกจ้าง-ลาออก กรณีไหนได้รับเงินทดแทน

ผู้ประกันตน ม.33 เป็นลูกจ้างที่ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง 7 กรณี โดยเฉพาะในกรณีผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกรณีว่างงานต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (https://e-service.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน

ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้ ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

 

ผู้ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจาก 7 กรณี ดังนี้

  1. ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  3. ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
  4. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
  5. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  7. ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ดังต่อไปนี้

  • กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ส่วนกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกันตนยื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่หากผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

อย่างไรก็ตาม การยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนทุกกรณี ผู้ประกันตนจะต้องยื่นเรื่องขอรับเงินภายใน 2 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

ผู้ประกันตนสามารถยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) และหนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6-09) ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถรับเงินทดแทนได้สะดวกมากขึ้นด้วยการแจ้งบัญชีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตนได้ทุกธนาคาร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.sso.go.th และ Line@ssothai

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related