svasdssvasds

ค่ากำเหน็จ "ทองรูปพรรณ" ค่าบล็อก "ทองคำแท่ง" ซื้อแพง-ขายขาดทุน จริงหรือไม่

ค่ากำเหน็จ "ทองรูปพรรณ" ค่าบล็อก "ทองคำแท่ง" ซื้อแพง-ขายขาดทุน จริงหรือไม่

รู้หรือไม่ การซื้อ “ทองรูปพรรณ” หรือ “ทองคำแท่ง” จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอย่าง “ค่ากำเหน็จ” หรือ “ค่าบล็อก” หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมถึงจ่ายแค่ค่าทองอย่างเดียวไม่ได้ แล้วการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร จ่ายแล้วจะขาดทุนหรือไม่

SHORT CUT

  • ค่ากำเหน็จ คือ ค่าแรงหรือค่าจ้างช่างฝีมือที่เปลี่ยนทองคำแท่งให้กลายเป็นทองรูปพรรณหรือ “เครื่องประดับทองคำ” รูปแบบต่างๆ
  • ค่าบล็อก คือ ค่าแรงสำหรับการนำทองคำมาหลอมละลาย แล้วเทไปในบล็อกให้ได้รูปร่างออกมาเป็น “แท่ง” อยู่ช่วงราคา 100-400 บาท ต่อทองคำหนัก 1 บาท
  • เวลาขายทองคืนร้านทอง ร้านทองจะให้ราคาตามน้ำหนักทองที่ชั่งได้เท่านั้น ไม่ได้บวกค่ากำเหน็จเหมือนเวลาเราซื้อจากร้านทอง

รู้หรือไม่ การซื้อ “ทองรูปพรรณ” หรือ “ทองคำแท่ง” จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอย่าง “ค่ากำเหน็จ” หรือ “ค่าบล็อก” หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมถึงจ่ายแค่ค่าทองอย่างเดียวไม่ได้ แล้วการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร จ่ายแล้วจะขาดทุนหรือไม่

จากกรณีดราม่า "แม่ตั๊ก" กรกนก สุวรรณบุตร "แม่ค้าทองออนไลน์" ชื่อดังบน TikTok ที่มีลูกค้าออกมาโวยหลัง เอาทองที่ซื้อมาจากแม่ตั๊กไปขายที่ร้านทอง แต่ปรากฏว่าทางร้านทองไม่รับซื้อ เพราะไม่มีเปอร์เซ็นต์ทอง และไม่มียี่ห้อ จนขณะนี้กลายเป็นประเด็นดราม่า ซึ่งภายหลังมีลูกค้าจำนวนมากแห่นำทองมาขายคืนจำนวนมาก 

สำหรับใครที่ใช้วิธีเก็บออมทรัพย์สินด้วยการซื้อทองคำ ไม่ว่าจะเป็น “ทองรูปพรรณ” หรือ “ทองคำแท่ง” อาจจะเกิดความสงสัยเมื่อไปซื้อทองที่ร้านแล้วพบว่านอกจากราคาทองที่ต้องจ่ายแล้ว จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอย่าง “ค่ากำเหน็จ” หรือ “ค่าบล็อก” อยู่เสมอ เชื่อว่าหลายคนไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คืออะไร มาจากไหน ทำไมถึงจ่ายแค่ค่าทองอย่างเดียวไม่ได้

 

ทำความรู้จัก “ค่ากำเหน็จ” ก่อนซื้อทองรูปพรรณ

“ค่ากำเหน็จ” หรือค่าแรง ค่าฝีมือของช่างทองในการผลิตทองรูปพรรณ ไม่ว่าจะเป็น สร้อย, แหวน, กำไล หรือต่างหู ล้วนผ่านกระบวนการหล่อทอง และแกะสลักจากทองแท่งสู่เครื่องประดับมูลค่าราคาสูง โดยค่ากำเหน็จมีความแตกต่างตามความยากง่ายในการผลิตทองรูปพรรณ ซึ่งราคาค่าแรงจะขึ้นอยู่กับกำหนดการของทางร้านทอง โดยประมาณที่ 600 -1,200 บาท ต่อน้ำหนักทอง 1 บาท

 

วิธีคิดค่ากำเหน็จทอง

สำหรับตัวอย่างวิธีคิดค่ากำเหน็จทองนั้น ยกตัวอย่าง ซื้อทองรูปพรรณน้ำหนัก 3 บาท โดยมีราคาทองบาทละ 32,000 บาท รวมเป็น 96,000 บาท ร้านทองมีค่ากำเหน็จบาทละ 800 บาท ผู้ซื้อต้องชำระ ค่ากำเหน็จอีก 2,400 บาท (ค่ากำเหน็จ x จำนวนทองรูปพรรณที่ซื้อ) รวมเป็นเงิน 98,400 บาท

 

 

 

 

3 ประเภททองรูปพรรณที่ควรรู้จัก

ทองรูปพรรณงานช่างทองโบราณ

ทองลงยาอยุธยา ทองสุโขทัย ช่างทองเมืองเพชรบุรี คือทองรูปพรรณงานช่างโบราณ ซึ่งงานประเภทนี้จะเป็นงานฝีมือ โดยช่างทองจะผลิตทองรูปพรรณทีละเส้น และมีการออกแบบลวดลายเฉพาะตัว เช่น การขึ้นรูปแบบโครงถัก, แกะลายเฉพาะ หรือกระดุมบัวสัตตบงกช เป็นต้น นอกจากนี้ ทองสุโขทัยเป็นหนึ่งในสกุลช่างรับผลิตทองรูปพรรณ โดยใช้ทองคำ 99.9% ในการทำทองรูปพรรณ จึงเป็นผลให้ค่ากำเหน็จสูงถึงบาทละ 3,000 บาท ในบางลวดลาย

ทองรูปพรรณแบบเข้าชุด

งานทองรูปพรรณเข้าชุด ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู กำไลข้อมือ แหวน หรือ เครื่องประดับอื่นที่สามารถจัดเข้าชุดกันได้ โดยเน้นความหรูหรา และดูเข้าชุดกันอย่างดี ซึ่งงานฝีมือแบบนี้ทำให้ราคาค่ากำเหน็จของทองคำแพงกว่าปกติ งานทองรูปพรรณแบบผสมขึ้นรูปจากชิ้นส่วนสำเร็จ เป็นงานทองคำ 96.5% ที่นำชิ้นส่วนบางส่วนที่ผลิตด้วยเครื่องจักรมาใช้เป็นส่วนประกอบของทองรูปพรรณนี้

ทองรูปพรรณที่ผลิตโดยเครื่องจักร

สำหรับทองรูปพรรณประเภทนี้เป็นงานทองคำ 96.5% ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นในการผลิตทองจากเครื่องทอสร้อย ดังนั้นสร้อยทอง หรือทองคำ ประเภทนี้จึงมักจะมีลายที่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีค่ากำเหน็จไม่มากนักอีกด้วย

 

ซื้อสร้อยทอง 1 เส้นต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง

  • ค่าตัวเนื้อทองคำ – น้ำหนักทองตามราคาขายทองรูปพรรณ
  • ค่ากำเหน็จ หรือค่าแรง

หากซื้อทองน้ำหนักน้อยกว่า 1 บาท เช่น 2 สลึง, 1 สลึง, ทองครึ่งสลึง หรือทอง 1 กรัม ค่าแรงต่อชิ้นก็ร้านห้างทองมักมักคิดค่ากำเหน็จเท่ากับทอง 1 บาท 

 

ทำไมขายทองรูปพรรณคืนร้านทองถึงได้ราคาน้อยลง? 

เวลาขายทองคืนร้านทอง ร้านทองจะให้ราคาตามน้ำหนักทองที่ชั่งได้เท่านั้น ไม่ได้บวกค่ากำเหน็จเหมือนเวลาเราซื้อจากร้านทอง 

ตัวอย่าง ทองรูปพรรณ 

  • ราคาขายออก บาทละ 33,000 บาท
  • ราคารับซื้อ บาทละ  32,000 บาท 
  • ร้านทองมีค่ากำเหน็จบาทละ 800 บาท 

ซื้อสร้อยทอง 1 บาท ราคาที่ต้องจ่ายเท่ากับ (33,000 x 1) + 800 = 33,800 บาท

หากไม่ชอบแล้ว ไปขายคืนร้าน ณ วันนั้นเลย ซึ่งราคาซื้อและขายยังไม่เปลี่ยนแปลง ห้างทองจะตรวจสอบสร้อยก่อนว่ายังเป็นทองคำแท้หรือไม่ เพราะอาจจะเอาไปสลับกับทองปลอมได้ เมื่อเช็กว่าเป็นทองคำแท้ถูกต้องก็จะชั่งน้ำหนักว่ายัง 1 บาทอยู่ไหม หากยังสมบูรณ์ 1 บาทอยู่ ทางร้านทองก็จะซื้อราคารับซื้อ บาทละ 32,000 บาท ไม่คำนวณค่าบำเหน็จเข้าไปเหมือนตอนขาย

 

"ค่าบล็อก" ทองคำแท่ง คืออะไร

ค่าบล็อก ค่ากำเหน็จของทองคำแท่ง เป็นค่าแรงในการหลอมทองคำให้ออกมาเป็นแท่งตามบล็อกสี่เหลี่ยม ซึ่งมักจะมีราคาถูกกว่าค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณ เนื่องจากสามารถผลิตได้ง่ายกว่า โดยในปัจจุบันค่าบล็อกจะอยู่ที่ประมาณ 100-400 บาท ต่อน้ำหนักทอง 1 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละร้านทองจะเป็นผู้กำหนด แต่อาจไม่ต้องจ่ายค่าบล็อกหากซื้อทองแท่งที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป

ค่าบล็อก คือ ค่าแรงสำหรับการนำทองคำมาหลอมละลาย แล้วเทไปในบล็อกให้ได้รูปร่างออกมาเป็น “แท่ง” ตามบล็อก ซึ่งก็ไม่ต่างจากค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ บางคนจึงเรียกว่า “ค่ากำเหน็จของทองคำแท่ง” แต่ด้วยการผลิตที่ง่ายกว่า ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่าค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ

 

วิธีคิดค่าบล็อก ทองคำแท่ง

ในการซื้อทองคำแท่ง ถ้าหากซื้อทองคำน้ำหนัก 2 สลึง โดยถ้าในขณะนั้นทองมีราคาอยู่ที่บาทละ 30,000 บาท ซึ่งหากร้านทองกำหนดค่าบล็อกไว้ที่ 200 บาท สำหรับทองน้ำหนัก 2 สลึง จะสามารถคิดราคาทองคำรวมค่ากำเหน็จได้ด้วยสูตรดังนี้

ราคาที่ต้องจ่าย = (ราคาทองคำ x น้ำหนักทองคำ) + ค่าบล็อก

ราคาทองคำรวมค่าบล็อกที่ต้องจ่ายเท่ากับ (30,000 ÷ 2) + 200 = 15,200 บาท

ถ้าหากทองคำแท่งนั้นมีความยากในการผลิต อย่างเช่นมีลวดลายหรือเป็นก้อนสวยงาม ร้านทองก็อาจคิดค่าบล็อกในราคาที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณเลยก็ได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทางร้านจะเป็นผู้กำหนด

เนื่องจากทองคำเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้เวลาขายทองคำทางร้านทองจะออกใบรับประกันสินค้าให้แก่ผู้ซื้อด้วย เพื่อเป็นการการันตีว่าทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณดังกล่าวซื้อมาจากร้านตนและมีน้ำหนักกี่กรัม ฉะนั้นก่อนนำทองคำไปเปลี่ยนเป็นเงินสด ควรนำใบรับประกันไปด้วย หากไม่มีอาจถูกตัดราคาได้

ที่มา : กรุงไทย , moneybuffalo 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related