svasdssvasds

ทำไม ‘ทองคำ’ มีค่าสำหรับมนุษย์ จากแร่โลหะ สู่สกุลเงินแห่งความโลภ

ทำไม ‘ทองคำ’ มีค่าสำหรับมนุษย์ จากแร่โลหะ สู่สกุลเงินแห่งความโลภ

เหตุใด ‘ทองคำ (Gold)’ มีค่าสำหรับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต จากแร่โลหะที่สวยงาม สู่สกุลเงินแห่งความโลภ สินทรัพย์สำคัญไม่แพ้ บ้าน ที่ดิน รถ ฯลฯ

SHORT CUT

  • 550 ปีก่อนคริสตกาล ‘พระเจ้าโครเอซัส (King Croesus) ’  ได้สั่งให้มีการขุดทองคำและอาณาจักรของพระองค์ ก็เป็นผู้ริเริ่มนำทองคำและเงินมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้า จนมีเมืองอื่นนำไปปฏิบัติตาม
  • ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทองคำและเงินกลายมาเป็นโลหะที่รัฐบาลต่าง ๆ เลือกใช้เพื่อสร้างสกุลเงินอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทองคำและเงินมีจุดหลอมเหลวต่ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนำไปผลิตเป็นเหรียญ
  • เพราะมนุษย์หลงใหลในทองคำมาหลายพันปี และมักทำทุกอย่างเพื่อครอบครองมัน ทองคำจึงถูกเชื่อมโยงกับความโลภในหลายวัฒนธรรม

เหตุใด ‘ทองคำ (Gold)’ มีค่าสำหรับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต จากแร่โลหะที่สวยงาม สู่สกุลเงินแห่งความโลภ สินทรัพย์สำคัญไม่แพ้ บ้าน ที่ดิน รถ ฯลฯ

เป็นที่รู้กันว่า ทองคำคือแร่ที่นิยมมาทำเป็นเครื่องประดับหรูหรา นอกจากนี้ สำหรับคนทั่วไป ทองคำคือหลักประกันในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อ เพราะราคาทองคำนั้นไม่ค่อยจะมีความสัมพันธ์กับการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นเท่าไรนัก

ปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยเลย มักซื้อ “ทองคำ” เก็บไว้ และมองว่ามันสำคัญไม่แพ้ทรัพย์สิน อย่าง บ้าน ที่ดิน ฯลฯ

แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมทองคำถึงมีค่ามหาศาลต่อมนุษย์มาทุกสมัย ทั้งที่ในอดีต ทองคำ ดูจะเป็นแร่ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับแร่ชนิดอื่น ทีม SPRiNGNEWS จึงชวนมาหาคำตอบที่มาที่ไปในประเด็นนี้กันว่า เหตุใดทุกวันนี้ ทองคำ ถึงสามารถสร้างความหลงใหลฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ได้ขนาดนี้?

ทำไม ‘ทองคำ’ มีค่าสำหรับมนุษย์ จากแร่โลหะ สู่สกุลเงินแห่งความโลภ

ประวัติศาสตร์ทองคำ (ฉบับย่อ)

กำเนิดแร่ทองคำ

ทองคำ (gold) เป็นธาตุโลหะที่มีความสวยงาม สีเหลืองทองมันวาว เนื้ออ่อนนุ่ม สามารถยืดและตีเป็นแผ่นได้ และไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่ พบได้ในหินต่างๆ เช่น หินแกรนิต หินบะซอลต์ และควอทซ์ ปัจจุบันในตารางธาตุ ทองคำ คือ ธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 79 และมีสัญลักษณ์คือ Au (มาจากภาษาละตินว่า aurum)

แต่ถึงจะพบได้ตามธรรมชาติบนโลก ทว่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ทองคำไม่ได้มีต้นกำเนิดบนพื้นโลก แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอวกาศ โดยทองคำเป็นผลมาจากการระเบิดของดวงดาว หรือเกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน แล้วติดมากับอุกกาบาตพุ่งเข้าสู่โลก ทำให้โลกของเรามีสายแร่ทองคําในที่สุด

ทำไม ‘ทองคำ’ มีค่าสำหรับมนุษย์ จากแร่โลหะ สู่สกุลเงินแห่งความโลภ

การใช้ทองคำในประวัติศาสตร์โลก

บรรดานักโบราณคดีเชื่อว่า มนุษย์สะสมทองคำครั้งแรกราว 40,000 ปีก่อน เพราะมีหลักฐาน “เกล็ดทอง” ภายในถ้ำของมนุษย์ยุคหินเก่า ซึ่งพวกเขาอาจเก็บมันไว้เพราะความแวววาว แต่สมัยนั้นยังไม่มีการใช้อย่างเป็นทางการ

จนกระทั่ง 550 ปีก่อนคริสตกาล ทองคำถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า เมื่อ ‘พระเจ้าโครเอซัส (King Croesus) ’ ในยุคกรีกโบราณ ได้สั่งให้มีการขุดทองคำกันอย่างกว้างขวาง จนพระองค์มีชื่อเสียงในเรื่องความมั่งคั่ง และอาณาจักร อาณาจักรลิเดียของพระองค์ ก็เป็นผู้ริเริ่มนำทองคำและเงินมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้าเป็นเมืองแรกๆ และมีเมืองอื่นนำไปปฏิบัติตาม

‘พระเจ้าโครเอซัส (King Croesus)’ ผู้สั่งให้มีการขุดทองคำมาใช้ คนแรกๆ  ของโลก  PHOTO Marco Prins

นับแต่นั้น ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของมนุษย์ และยังถูกนำมาใช้ พิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะในประเทศอียิปต์ ที่เต็มไปด้วยรูปปั้นทองคำ เพื่อเป็นสัญลักาณ์ของความมีอำนาจ และความเจริญรุ่งเรือง

ทำไมทองคำ ถึงมีค่ามาถึงปัจจุบัน ?

ทองคำมีสัมผัสที่อ่อนนุ่มและมีน้ำหนักพอเหมาะเมื่อถือ มีคุณสมบัติพิเศษบางประการเมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทนทานที่ไม่สามารถทำลายได้ เพราะทองคำไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมี หมายความว่า ซึ่งหมายความว่า ทองคำมีคุณสมบัติต้านการกัดกร่อนและทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพได้ยาวนานหลายพันปี

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทองคำและเงินกลายมาเป็นโลหะที่รัฐบาลต่าง ๆ เลือกใช้เพื่อสร้างสกุลเงินอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทองคำและเงินมีจุดหลอมเหลวต่ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนำไปผลิตเป็นเหรียญ ซึ่งสีและความแวววาวที่เป็นเอกลักษณ์ขมัน ประกอบกับจุดแข็งที่ว่า ‘ทองคำไม่หมอง’ ทำให้ทองคำมีความโดดเด่นเหนือโลหะอื่น ๆ และความหายากนี้ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าทองคำจะมีมูลค่าสูงไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการทำเหมืองทองเป็นเรื่องยาก จึงไม่มีใครลดมูลค่าของโลหะชนิดนี้ในฐานะสกุลเงินได้ ส่งผลให้ทองคำมีบทบาทในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและตลาดการเงินมาหลายทศวรรษ

PHOTO : hto2008

วิธีวัดความบริสุทธิ์ของทองคำ

เนื่องจากทองคำมีความอ่อนตัว จึงมักนำไปผสมกับโลหะที่มีความแข็งกว่า เช่น เงินหรือทองแดง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความบริสุทธิ์ของทองคำจะวัดเป็นกะรัต โดย 24 กะรัตจะเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 100% และทองคำ 18 กะรัตจะเท่ากับโลหะผสมที่มีเงินเป็นส่วนประกอบ 750 ส่วนต่อ 1,000 ส่วน

โลกนี้มีทองมากขนาดไหน

ทองคำบริสุทธิ์บนโลกมีอยู่แค่ราวๆ190,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณของสระว่ายน้ำโอลิมปิกเพียง 3 สระเท่านั้น

การใช้ประโยชน์จากทองคำในด้านอื่นๆ

เมื่อเทคโนโลยี ก้าวหน้าขึ้น จึงมีการนำทองคำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากซื้อขายทั่วไป เช่น ทองคำถูกใช้เป็นโลหะที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ใช้เป็นกระจกบนกล้องโทรทรรศน์อวกาศและทำชุดอวกาศ ไปจนใช้รักษาฟัน และอีกมากมาย

ทองคำดึงดูดความโลภของมนุษย์

เพราะมนุษย์หลงใหลในทองคำมาหลายพันปี และมักทำทุกอย่างเพื่อครอบครองมัน ทองคำจึงถูกเชื่อมโยงกับความโลภในหลายวัฒนธรรม เช่น นิทาน ‘กษัตริย์ไมดาส’ จากปกรณัมกรีก ที่ทรงร่ำรวยอยู่แล้ว แต่เพราะความโลภในจิตใจไม่สิ้นสุด จึงขอพรจากเทพ ไดโอนีซุส ให้ตัวเองจับอะไรก็เป็นเงินทอง และเมื่อได้พรตามนั้นก็ทำให้พระองค์ เสวยทั้งอาหารและน้ำใดๆ ไม่ได้อีกเลย และเป็นที่มาของสำนวน ‘The Midas Touch’ ที่หมายความว่า จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง แต่อาจแลกมาด้วยความเศร้า

ส่วนชาวอียิปต์โบราณมักจะฉาบรูปปั้นของตนด้วยทองปลอม แล้วเอาไปหลอกขายที่อื่นกันเป็นว่าเล่น จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้จะมี รูปปั้นอียิปต์โบราณปลอมจัดโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์มากมาย

‘ยุคตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย (California Gold Rush) ของสหรัฐฯ ปี 1848

ส่วนใน ‘ยุคตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย (California Gold Rush) ของสหรัฐฯ ปี 1848 ก็เป็นยุคแห่งความโลภของมนุษย์อย่างชัดเจน เนื่องจากการอพยพของคนขาวจำนวนมาก ทำให้ มีชาวอินเดียนแดงจำนวนนับแสนถูกขับไล่จากแคลิฟอร์เนียไปซานฟรานซิสโก แถมบรรดาคนที่ไปขุดทองหลายคนสุดท้ายก็ไม่ได้รวย เพราะเผชิญกับการฉ้อโกง และถูกหลอกขายทองคำปลอมกันจนหมดตัว ส่วนบรรดาพ่อค้าและนักธุรกิจชายเครื่องมือขุดทองคือกลุ่มที่รวยที่สุดในตอนจบ

แน่นอนว่าการหลอกลวงเกี่ยวกับทองคำ ไม่ได้จบลงแค่ในอดีต เพราะปัจจุบันในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ ผู้หลอกลวงใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อขายทองปลอมมากมาย โดยใช้ใบรับรองปลอมและกลวิธีการขายที่น่าดึงดูด เพื่อเล่นกับความโลภของมนุษย์

แม้ว่าวิธีการอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่การหลอกลวงที่สืบทอดกันมายาวนานก็ยังคงเหมือนเดิม เช่นเดียวกับทองที่ยังดึงดูดความโลภของมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, IG, History

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related