svasdssvasds

ไทยก้าวกระโดด! ขึ้นอันดับ 7 ของโลก ต้นแบบความปลอดภัยทางไซเบอร์

ไทยก้าวกระโดด! ขึ้นอันดับ 7 ของโลก ต้นแบบความปลอดภัยทางไซเบอร์

รมว.ดีอี เผย ความปลอดภัยไซเบอร์ไทย พัฒนาก้าวกระโดด พุ่งอันดับ 7 ของโลก จากอันดับที่ 44 ในการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ GCI ในปี 2024 เป็นอันดับที่ 7 ของโลก จาก 194 ประเทศ โดย International Telecommunication Union (ITU) ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู้ประเทศชั้นนำใน Tier 1 Role Models ด้านไซเบอร์ของโลก

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยถึงความสำเร็จการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024 (GCI) โดย International Telecommunication Union (ITU) ในปี 2024 ซึ่งประเทศไทยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 7 จากผลการประเมินของ 194 ประเทศทั่วโลก ว่า จากนโยบายการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน “The Growth Engine of Thailand” หรือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน

  1.  การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness)
  2. การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security)
  3. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะพัฒนารัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และนโยบายรัฐบาลประการที่ห้าที่รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ควบคู่กับการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ไทยก้าวกระโดด! ขึ้นอันดับ 7 ของโลก ต้นแบบความปลอดภัยทางไซเบอร์

ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ GCI ในปี 2024 ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 99.22 คะแนน เป็นอันดับที่ 7 ของโลกจากจำนวน 194 ประเทศ ซึ่งก้าวกระโดดจากลำดับที่ 44 ในการจัดลำดับในครั้งที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำใน Tier 1 ซึ่งหมายถึงการเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็น role models ด้านไซเบอร์ของโลก จากรายงาน Global Cybersecurity Index (GCI) 2024 ของ ITU ที่วัดผลสัมฤทธิ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศต่าง ๆ ผ่าน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย (Legal) ด้านเทคนิค (Technical) ด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) ด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) และด้านความร่วมมือ Cooperation)

“ผลคะแนนในดัชนีนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาและเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยไซเบอร์ในหลาย ๆ ด้าน โดยผลคะแนนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ภาคส่วน และในระดับประเทศ ตลอดจนพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานอาจแสดงถึงจุดที่ประเทศไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Child Online Protection หรือการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคในการรับมือภัยคุกคามที่ทันสมัยขึ้นต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว