svasdssvasds

ทำไมเราถึงรักสัตว์อ้วนๆ แต่กลับเลือกปฏิบัติกับคนอ้วน?

ทำไมเราถึงรักสัตว์อ้วนๆ แต่กลับเลือกปฏิบัติกับคนอ้วน?

ทำไมมนุษย์ถึงรักสัตว์อ้วนน่ากอด แต่คนอ้วนที่เป็น 'เผ่าพันธุ์เดียวกัน' ถึงมองให้น่าดึงดูดยาก เรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่ ?

SHORT CUT

  • สุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ แมวน้ำ เพนกวิน หรือสัตว์เลี้ยงแบบไหนก็ตาม หากพวกมันมีความอ้วนจ้ำม่ำ ก็จะได้รับความรักจากคนเป็นพิเศษ
  • ในทางกลับกัน คนที่มีน้ำหนักเยอะ และอยู่ในสังคมร่วมกับเรากลับได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป หากเป็นคนอ้วน
  • เราอาจไม่ได้ชอบสัตว์อ้วน เพราะมันน่ารักอย่างเดียว แต่ในความชอบนั้นมีความตกใจที่ว่าทำไมมันอ้วนขนาดนี้แฝงอยู่ด้วย !

ทำไมมนุษย์ถึงรักสัตว์อ้วนน่ากอด แต่คนอ้วนที่เป็น 'เผ่าพันธุ์เดียวกัน' ถึงมองให้น่าดึงดูดยาก เรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่ ?

ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ แมวน้ำ เพนกวิน หรือสัตว์เลี้ยงแบบไหนก็ตาม หากพวกมันมีความอ้วนจ้ำม่ำ ก็จะได้รับความรักจากคนเป็นพิเศษ ซึ่งที่ดูได้ชัดที่สุดตอนนี้เห็นจะเป็นกระแส ลูกฮิปโปแคระเกิดใหม่อย่าง ‘หมูเด้ง’ ที่มีความน่ารัก ใครๆ ก็อยากจกพุงมันเล่นกันทั้งนั้น

แต่เคยสงสัยไหมว่า แล้วอะไรที่ทำให้คนในสังคมชอบดูสัตว์อ้วน แต่กลับเลือกปฏิบัติกับคนที่มีน้ำหนักเยอะซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับเรา?

ทำไมเราถึงรักสัตว์อ้วนๆ แต่กลับเลือกปฏิบัติกับคนอ้วน? PHOTO Tripp

ทำไมสัตว์อ้วนจึงน่ารัก ?

ก่อนอื่น อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมเราถึงหลงใหลในสัตว์น่ารัก โดยเฉพาะลูกสัตว์เพิ่งเกิด จนนั่งดูพวกมันผ่านจอได้ทั้งวัน ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า ‘ทฤษฎีทารก (Baby Schema) ’ ของ ‘คอนราด ลอเรนซ์ (Konrad Lorenz) ’ นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเยอรมัน ที่ระบุว่า ลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่พบได้ทั่วไปในทารก เช่น หัวโต ใบหน้ากลม แขนขาสั้น จะกระตุ้นให้คนที่เป็นผู้ใหญ่รู้สึกเอ็นดู จนอยากปกป้องดูแล เพราะทนความไร้เดียงสาไม่ไหว

ปฏิกิริยานี้ สามารถเกิดได้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็น ตัวการ์ตูนอ้วนกลมอย่างโดราเอมอน ตุ๊กตาขนาดหน้ากอด และลูกสัตว์แรกเกิด ต่างก็มีลักษณะน่าดึงดูด จนกระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกอยากดูแลได้เช่นกัน สิ่งนี้ฝังอยู่ในความรู้สึกจน มนุษย์ส่วนใหญ่นิยามคำว่า “น่ารัก” ไว้กับอะไรก็ตามที่ มีขนาดตัวกลมดิ๊ก ดวงตากลมโตแป๋ว ๆ แก้มป่อง ๆ ผิวอ่อนนุ่ม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ล้วนตรงกับโครงสร้างทางกายภาพของเด็กเล็ก

หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระแห่ง สวนสัตว์เขาเขียว

นั่นจึงทำให้มนุษย์หลงรักสัตว์อ้วนน่ากอดด้วย แม้ว่าพวกมันจะอยู่ในวัยโตเต็มที่แล้วก็ตาม ดูได้จากอินฟลูสายสัตว์เลี้ยงหลายคน ที่มักถ่ายโชว์วิดีโอสุนัขและแมวอ้วนจนสร้างยอดผู้ติดตามได้ถึงหลักแสนจนถึงหลักล้านคนก็มี

ทำไมเราเลือกปฏิบัติ กับคนอ้วน ?

แต่ในทางกลับกัน คนที่มีน้ำหนักเยอะ และอยู่ในสังคมร่วมกับเรากลับได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป หากเป็นคนอ้วน รูปร่างไม่ดี ก็จะเสียเปรียบในที่ทำงาน ถูกเลือกปฏิบัติจากคนด้วยกัน และที่แย่ที่สุดคือ ในบางครั้งถูกเชิญออกจากร้านอาหาร รถประจำทาง หรือลิฟต์ เพียงเพราะน้ำหนักของพวกเขาสร้างปัญหาให้คนปกติรอบข้างเท่านั้น

ประเด็นที่คนมองความอ้วนในสัตว์ และความอ้วนในมนุษย์ ขัดแย้งกัน ‘ซินเทีย เมดาลี (Cynthia Medalie) ’นักจิตบำบัดและผู้รักสุนัขในนิวยอร์กซิตี้ มองปรากฏการณ์นี้ว่า “ที่เรามักจะแสดงด้านที่ดีที่สุดของเราให้สัตว์เลี้ยงเห็น เพราะเรามองเห็นความรักและความดีในตัวพวกมัน เราจึงเต็มใจมอบความรักและความอ่อนโยน ที่เราไม่สามารถมอบให้คนอื่นได้”

ส่วนความอ้วนของ มนุษย์ ในอดีตมักเชื่อมโยงกับชนชั้นสูง ที่มีอันจะกินและมีอำนาจเพียบพร้อม แต่ในยุคปัจจุบันนั้นตรงกันข้าม เพราะเพียงคนมีฐานะเท่านั้นที่สามารถผอมและรักษารูปร่างให้ดูดีได้ตลอด ส่วนคนที่ไม่มีความมั่งคงเรื่องความเป็นอยู่ และทำงานหนัก มักบริโภคแต่อาหารไม่มีประโยชน์ จึงทำให้ร่างกายดูไม่ดี

PHOTO The Whale (2022) - IMDb

ส่วน ‘ลอร่า ที. คอฟฟีย์ (Laura T. Coffey)' บรรณาธิการ และโปรดิวเซอร์ของ TODAY นิยามเรื่องนี้ไว้ว่า ‘ความจริงสองประการ’ โดยประการแรก เราคิดว่าแมวอ้วนเป็นสัตว์ที่น่ารัก แต่ในทางกลับกัน เราก็เป็นกังวลว่าน้ำหนักเกินของพวกมันอาจเป็นอันตรายได้ และเราจึงมักมองหาคนที่ควรจะถูกตำหนิสำหรับการดูแลสัตว์อ้วนที่ไม่ดีพอ เหมือนกับที่เรามักจะตัดสินทางศีลธรรมเกี่ยวกับคนที่น้ำหนักมากเกินไป

สรุปง่ายๆ คือ เราไม่ได้ชอบสัตว์อ้วน เพราะมันน่ารักอย่างเดียว แต่ในความชอบนั้นมีความตกใจที่ว่าทำไมมันอ้วนขนาดนี้แฝงอยู่ด้วย ! ซึ่งเป็น 'Body shaming' ในรูปแบบหนึ่ง ทว่าความรู้สึกของมนุษย์มีได้หลายแบบ เราจึงเลือกมอบความน่าเอ็นดูให้กับสัตว์อ้วน แต่กลับมอบความอคติให้กับคนที่มีน้ำหนักเกินแทน  

ที่มา : nbcnews / realsimple

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related