svasdssvasds

ทำความรู้จัก "วัดพระใหญ่" บนเขานาคเกิด เข้าข่ายรุกป่า ที่มาดินถล่มภูเก็ต?

ทำความรู้จัก "วัดพระใหญ่" บนเขานาคเกิด เข้าข่ายรุกป่า ที่มาดินถล่มภูเก็ต?

ทำความรู้จัก "วัดพระใหญ่" บนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี โดยชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อ Big Buddha หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแดนไข่มุกอันดามัน

SHORT CUT

  • ทำความรู้จัก "วัดพระใหญ่" บนเขานาคเกิด พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี ชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อ Big Buddha 
  • พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปแบบร่วมสมัย งบประมาณการจัดสร้างประมาณ 80 ล้านบาท โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต”
  • เกิดเหตุดินถล่มคร่า 13 ชีวิต ด้านหลังพบร่องน้ำธรรมชาติจำนวน 2 ร่อง ถูกการก่อสร้างและปรับพื้นที่ ปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ

ทำความรู้จัก "วัดพระใหญ่" บนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี โดยชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อ Big Buddha หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแดนไข่มุกอันดามัน

จากกรณีเกิดเหตุสลด ดินถล่มลงมาทับบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13 ราย ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุการณ์ดินถล่มดังกล่าว อาจเกิดจากการก่อสร้างบนวัดพระใหญ่ บนเขานาคเกิด

รู้จัก "วัดพระใหญ่" บนเขานาคเกิด

วัดพระใหญ่ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคาคีรี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปแบบร่วมสมัย งบประมาณการจัดสร้างประมาณ 80 ล้านบาท ตั้งอยู่บนยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมีความกว้าง : 25.45 เมตร ความสูง: 45 เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต”(สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อน หยกขาวประมาณ 135 ตัน หรือประมาณ 2,500 ตารางเมตร  

ความสำคัญในการก่อสร้าง พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรีนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสันติ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความหวัง โดยอาศัยการร่วมมือร่วมใจบริจาคของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย จนทำให้เกิดพระใหญ่ องค์นี้ขึ้นมา 

ทำความรู้จัก "วัดพระใหญ่"

ชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อ Big Buddha หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดภูเก็ต โดดเด่นด้วยหินอ่อนสีขาวสะดุดตาอยู่บนยอดเขา ที่ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงส่วนไหนของภูเก็ต ก็สามารถมองเห็นได้ไม่ยาก อีกทั้งยอดเขาแห่งนี้ยังสามารถมองเห็นวิวของจังหวัดได้ถึง 360 องศา 

เปิดสาเหตุดินสไลด์ ด้านหลังองค์พระ พบร่องน้ำธรรมชาติ 2 ร่อง

พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบพื้นที่เขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อหาสาเหตุการเกิดดินสไลด์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนบริเวณเชิงเขาเสียหายเป็นจำนวนมาก ว่า สภาพเขานาคเกิด เป็นเขาหินแปร ปกคลุมด้วยชั้นดิน บริเวณที่มีการก่อสร้างบนยอดเขา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางที่ 375 เมตร 

พบร่องน้ำธรรมชาติจำนวน 2 ร่อง ถูกการก่อสร้างและปรับพื้นที่ ปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ

จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าบริเวณดังกล่าวเริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2548 มีการปรับพื้นที่เพื่อเป็นที่ตั้งของพระใหญ่ รวมถึงปรับพื้นที่เป็นลานกว้างแต่ไม่พบหลักการปันน้ำ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมการก่อสร้างบนที่สูง ซึ่งตามธรรมชาติแล้วบริเวณสันเขาหรือภูเขาสูง จะมีการปันน้ำตามธรรมชาติ โดยเขานาคเกิด ที่ด้านหลังองค์พระ พบร่องน้ำธรรมชาติจำนวน 2 ร่อง แต่เมื่อมีการก่อสร้างและปรับพื้นที่ได้มีการปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ เมื่อเกิดฝนตกหนักและมีน้ำต้องระบายลงจากภูเขา

ทำให้มวลน้ำต้องการช่องทางเดิน ซึ่งจุดที่เกิดดินสไลด์และพังลงมา เป็นทางเดินน้ำที่ธรรมชาติต้องการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน ซึ่งหน้าผาที่เกิดดินสไลด์มีความลาดชันประมาณ 80 องศา มีต้นไม้ปกคลุมเพียงชั้นผิวดินเท่านั้น

ทั้งนี้จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาวิเคราะห์ พบว่ามีความเคลื่อนไหวของชั้นดินและฐานหิน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 

ขณะที่ พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4 รอง ผอ.รมน.ภาค4 กล่าวว่า การตรวจสอบสาเหตุในเบื้องต้น แน่ชัดแล้วว่าสาเหตุมาจากการ บุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และการก่อสร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางกองทัพภาคที่ 4 กำลังดำเนินการพยายามแก้ไขอยู่ในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะสมุย ภายใต้การบูรณาการตรวจสอบ สมุยโมเดล เพื่อนำไปปรับใช้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ในพื้นที่ภาค 4 แต่มาเกิดเหตุเสียก่อนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 จะได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางเข้าตรวจสอบในพื้นที่เสี่ยงจุดอื่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อน ส่วนความผิดทางกฎหมายนั้นก็ให้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะหาตัวผู้กระทำผิด มารับผิดชอบทางกฎหมายต่อไป 

เกาะภูเก็ตและ เกาะสมุย มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมือนกัน ทั้งในเรื่องของการก่อตัวของภูเขาหิน และความลาดชันของพื้นที่ ที่ปัจจุบันพบว่ามีการก่อสร้างอาคารวิลล่า หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆบนพื้น ลาดชันสูงหรือภูเขา บางส่วนก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต 

บางส่วนก่อสร้างผิดแบบ มีการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่เกาะภูเก็ต เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นภัยพิบัติ ที่ได้สร้างความสูญเสียทั้งในเรื่องของชีวิตทรัพย์สินรวมถึงภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related