svasdssvasds

รู้จัก"Negative Income Tax (NIT) "ระบบภาษีเงินได้ช่วยคนจน ผู้มีรายได้น้อย

รู้จัก"Negative Income Tax (NIT) "ระบบภาษีเงินได้ช่วยคนจน ผู้มีรายได้น้อย

'ทักษิณ' โชว์วิสัยทัศน์ Negative Income Tax (NIT) ระบบภาษีเงินได้ ชดเชยเงินให้ผู้มีรายได้น้อย ช่วยคนไม่มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ จูงใจดึงคนเข้าสู่ระบบภาษี

SHORT CUT

  • ระบบภาษีเงินได้ทุกวันนี้ คือ ใครมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก  ใครรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย ส่วนใครไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย 

  • Negative Income Tax (NIT) คือ คนที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล

  • จูงใจให้คนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี  ก็ต้องเข้าระบบภาษีและยื่นภาษีด้วย  เพื่อเป็นหลักฐานรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล 

'ทักษิณ' โชว์วิสัยทัศน์ Negative Income Tax (NIT) ระบบภาษีเงินได้ ชดเชยเงินให้ผู้มีรายได้น้อย ช่วยคนไม่มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ จูงใจดึงคนเข้าสู่ระบบภาษี

23 ส.ค. 67 จากการแสดงวิสัยทัศน์ ของดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 บนเวที ‘Dinner Talk : Vision for Thailand 2024’ ที่จัดขึ้นโดยเนชั่น กรุ๊ป  ถึงทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ  หนึ่งในนั้น คือ เรื่องของการขยายฐานภาษีให้มีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น  ด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ที่มีเงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ คือหากใครที่มีรายได้น้อย นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังได้เงินช่วยเหลือด้วย เพื่อจูงใจดึงคนเข้าสู่ระบบภาษี  

Negative Income Tax (NIT) : ภาษีเงินได้แบบติดลบ  เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 โดยศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แนวคิดของ Negative Income Tax (NIT) และเป็นเจ้าของประโยคที่โด่งดัง "โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ" หรือ "There's no such thing as a free lunch"

แนวคิดนี้ ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ฟรีดแมน มองว่าคนที่ทำงานแต่มีรายได้น้อยก็ควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐ  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทาง "รายได้" ในสังคมด้วยการให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้เลย แทนที่จะเก็บภาษีจากพวกเขา

เรื่องนี้ ด้าน ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์กฎหมายภาษีอากร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และ ผู้ก่อตั้ง iTAX ได้อธิบายถึงการทำงานของระบบ Negative Income Tax ไว้ว่า 

หลักการทำงานของระบบ Negative Income Tax 

กลไกของ Negative Income Tax ตามข้อเสนอของ Friedman มีองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่

1) เกณฑ์เงินได้ขันต่ำ (Income Threshold) และ

2) อัตราการชดเชย (Rate of Subsidy)

เช่น ถ้ารัฐบาลใช้เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีคือ ปีละ 150,000 บาท และอัตราการชดเชย 50% ผลลัพธ์เป็นไปได้ในกรณีต่างๆ อาจเป็นได้ดังนี้

ก) นายเอก ไม่มีรายได้เลย - นายเอกก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเป็นจำนวน 150,000 x 50% = 75,000 ต่อปี

ข) นายโท มีรายได้ 100,000 บาทต่อปี - นายโทก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลโดยคิดจากส่วนต่างของเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำกับรายได้ตัวเอง คือ 50,000 (เกณฑ์ขั้นต่ำ 150,000 - รายได้จริง 100,000) ดังนั้น นายโทจะได้เงินชดเชย 50,000 x 50% = 25,000 ต่อปี

ค) นายตรี มีรายได้ 150,000 บาทต่อปี ซึ่งเท่ากับเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำพอดี - นายตรีจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเลย

ง) นายจัตวา มีรายได้สูงกว่า 150,000 บาทต่อปี - นายจัตวาจะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดไว้

ข้อดีของ Negative Income Tax 

Negative Income Tax เป็นการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่สมควรได้รับได้ตรงกลุ่มและครอบคลุมที่สุดเพราะเป็นสวัสดิการแบบเจาะจง ช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการดำเนินโครงการสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่บางครั้งใช้งบประมาณสูงแต่อาจได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะงบประมาณถูกจัดสรรให้บุคคลที่ไม่ได้มีรายได้น้อยจริงๆ หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจริง 

ในระยะยาว Negative Income Tax สามารถเพิ่มจำนวนคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยก็มีแรงจูงใจให้เข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเพื่อรับเงินช่วยเหลือ ดังนั้น หากในอนาคตบุคคลเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันทีเพราะอยู่ในระบบภาษีแต่แรกอยู่แล้ว

 

ประเทศไหนใช้ระบบ Negative Income Tax บ้างรึยัง?

บางประเทศได้มีการดำเนินนโยบาย Negative Income Tax ไปแล้ว โดยมีรายละเอียดและใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น

- Earned Income Tax Credit (EITC) - สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เกาหลีใต้ และสวีเดน

- Family Tax Benefit (FTB) - ออสเตรเลีย

- Independent Earner Tax Credit (IETC) - นิวซีแลนด์

- Workfare Income Supplement (WIS) - สิงคโปร์

- Working Income Tax Benefit (WITB) - แคนาดา

- Working Tax Credit (WTC) - สหราชณาจักร

 

ความท้าทายของระบบ Negative Income Tax 

1) ต้นทุนการคัดกรองค่อนข้างสูง และสร้างภาระการยื่นภาษีเพิ่มให้ผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากบุคคลผู้มีรายได้น้อยที่จะรับเงินช่วยเหลือได้ต้องเข้าระบบภาษีด้วย ดังนั้น ในกรณีที่รัฐไม่มีข้อมูลรายได้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากเพียงพอ บุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ยื่นภาษีเพื่อให้มีข้อมูลในระบบด้วยแม้ว่าจะไม่มีรายได้เลยก็ตาม  ซึ่งอาจสร้างภาระให้ผู้มีรายได้น้อยรวมถึงผู้ไม่มีรายได้ต้องยื่นภาษีทุกปีด้วย ซึ่งต่างจากระบบปัจจุบันที่ผู้มีรายได้น้อยไม่เคยมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมาก่อน

2) ใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะการให้เงินช่วยเหลือจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาเพิ่มเติม ซึ่งประเด็นนี้อาจย้อนแย้งกับแนวทางที่กระทรวงการคลังกำลังวางแผนลดภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้งบประมาณยิ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลต้องวางแผนเรื่องแหล่งเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริงด้วย