svasdssvasds

ที่มา 'ชามตราไก่' ของดีเมืองลำปาง กำเนิดจากชาวจีนโพ้นทะเล วันนี้เหลือ 5 บาท

ที่มา 'ชามตราไก่' ของดีเมืองลำปาง กำเนิดจากชาวจีนโพ้นทะเล วันนี้เหลือ 5 บาท

ประวัติความเป็นมา 'ชามตราไก่' ธนบดีเซรามิค ตำนานของดีเมืองลำปาง กำเนิดจากชาวจีนโพ้นทะเล วันนี้ถูกจีนก๊อบปี้เหลือใบละ 5 บาท

SHORT CUT

  • ชามตราไก่ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดในปี พ.ศ.2498 จาก นายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ชาวจีนโพ้นทะเล ที่ค้นพบ 'แร่ดินขาว' ในลำปาง 
  • เริ่มมีการผลิตชามไก่ขึ้นในจังหวัดลำปางครั้งแรกเมื่อปี 2500 โรงงานแห่งแรกชื่อ ‘โรงงานสามัคคี’
  • ชามตราไก่ เป็นสินค้าสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบันนี้

ประวัติความเป็นมา 'ชามตราไก่' ธนบดีเซรามิค ตำนานของดีเมืองลำปาง กำเนิดจากชาวจีนโพ้นทะเล วันนี้ถูกจีนก๊อบปี้เหลือใบละ 5 บาท

เวลานี้ 'ชามตราไก่' ที่คุ้นตาของคนไทยและมีมาตั้งแต่โบราณ ถูกจีนก๊อบปี้ขายเหลือใบละ 5 บาทเท่านั้น และถูกสั่งออนไลน์เข้ามาขายในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งการตีตลาดแบบนี้ทำให้โรงงานในจังหวัดลำปางที่เป็นแหล่งผลิตชามตราไก่ต้องเดือดร้อนกันไปหมด

ประวัติชามตราไก่ มีต้นกำเนิดจากไหน?

ชามตราไก่ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดในปี พ.ศ.2498 จาก นายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ชาวจีนโพ้นทะเล ที่ค้นพบ 'แร่ดินขาว' ครั้งแรกที่บ้านปางค่าอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง จึงได้ร่วมก่อตั้งโรงงานทำชามไก่แห่งแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดลำปาง โดยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมจากจีน

เพราะชามตราไก่ มีในประเทศจีนมาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว โดยชาวจีนแคะ (ฮากกา) และชาวจีนแต้จิ๋ว โดยนิยมใส่ข้าวต้ม เพราะชามมีขนาดที่เหมาะกับการใช้ตะเกียบ ส่วนในไทยเหมาะกับการใช้กินก๋วยเตี๋ยว

เริ่มมีการผลิตชามไก่ขึ้นในจังหวัดลำปางคร้งแรกเมื่อปี 2500 โรงงานแห่งแรกชื่อ ‘โรงงานสามัคคี’ ต่อมาปี 2502-2505 กลุ่มชาวจีนเข้ามาก่อตั้งโรงงานมากขึ้น ทำให้เป็นจุดศูนย์กลางผลิตชามไก่ของประเทศไทย ต่อมาราวปี พ.ศ. 2505-2510 เป็นช่วงที่ยากลำบากของเซรามิกไทย เพราะมีการผลิตชามจำนวนมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และขายได้แค่ในท้องถิ่นเท่านั้น

ประวัติชามตราไก่ มีต้นกำเนิดจากไหน? ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี

ในปี พ.ศ. 2516 จึงมีการก่อตั้งชมรมเครื่องปั้นดินเผาลำปางขึ้น เพื่อมากู้วิกฤตนี้โดยเฉพาะ และหลังจากปรับปรุงและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่นใช้แก๊สแอลพีจีมาเป็นเชื้อเพลิงแทนใช้ไม้ฟืน ก็ทำให้สินค้ามีคุณภาพขึ้น และส่งออกไปขายในตลาดที่ใหญ่ขึ้น

ต่อมาในปี 2533 มีการก่อตั้งธนบดีอาร์ตเซรามิค จำกัด โดยนายพนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นที่ 2 ของนายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน เริ่มแรกผลิตสินค้าประเภทงาน เซรามิคอาร์ต แต่ประสบปัญหาผลิตสินค้าให้กับลูกค้าไม่ทัน เนื่องจากมีเพียงเจ้าของคนเดียวที่สามารถผลิตสินค้าได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นงานรูปลอกเซรามิคสีบนเคลือบ และเราถือเป็นเจ้าแรกของภาคเหนือในการผลิตรูปลอกเซรามิค ต่อมาเกิดคู่แข่งเกิดการตัดราคากัน จึงทำให้เราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้ง เป็นงานตกแต่งบ้านลอกเลียนแบบธรรมชาติ

ต่อมาปี  2546 มีการก่อตั้งบริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัดโดยเป็นการขยายฐานการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งออกไปยังกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยผลิตสินค้าที่มีดีไซน์ และใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบันนี้

ตำนาน ไก่ขาว แห่งลำปาง 

ตำนาน ไก่ขาว แห่งลำปาง 

ถึงจะมีการผลิตสินค้าเซรามิกหลายแบบ  และปัจจุบัน 'ชามไก่' จะไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าหลักของเซรามิกจังหวัดลำปางก็ตาม แต่ 'ชามไก่' ก็ยัง ถือเป็นต้นกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดลำปาง   และอยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้ผลิตเซรามิกจังหวัดลำปางรุ่นแรกๆ มาเสมอมา 

ส่วนเหตุผลที่ 'ไก่' เป็น สัญลักษณ์ ของเมืองลำปาง เพราะตามตำนานเมืองเล่าว่า “ไก่ขาว” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่มาจากกุกกุฏนครซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของลำปางแปลว่าเมืองไก่ขัน ชื่อนี้มีตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ เมืองลำปางพระอินทร์ทราบข่าวจึงแปลงเป็นไก่ขาวเพื่อขันปลุกพระพุทธองค์ให้ตื่นขึ้นมาปฏิบัติภารกิจ ทั้งยังเป็นห่วงว่าชาวเมืองลำปางจะตื่นขึ้นมาใส่บาตรพระพุทธองค์ไม่ทันจึงขันปลุกชาวบ้านให้ตื่นมาหุงหาอาหารเตรียมใส่บาตร 

วิธีทำชามตราไก่ ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี

วิธีผลิตชามไก่แบบโดั้งเดิม 

  • เริ่มจากการผสมดินใช้โดยย่ำด้วยเท้า  และใช้มือนวด
  • ตบดินเป็นแผ่นแล้วจึงอัดลงแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์หมุนเป็นวงกลมด้วยมือ  ปาดด้วยไก๊ (ไม้ปาดตัดเป็นรูปโค้ง)
  • ต่อขาทิ้งค้างไว้บนกระดานให้แห้งโดยธรรมชาติ  แล้วนำมาชุบเคลือบที่ทำจากขี้เถ้าแกลบปูนหอย  และดินขาว 
  • นำไปเรียงในเตามังกร  เผาด้วยฟืนในความร้อนเกือบ 1300 องศาเซลเซียส  ประมาณ 18-24 ชั่วโมง 
  • เมื่อเผาสุกแล้วนำออกมาเขียนสีบนเคลือบด้วยพู่กันเป็นลายไก่ ดอกไม้และต้นกล้วย 
  • เผาในเตาอบรูปกลมภายในเป็นถังดินขนาดใหญ่  ด้วยความร้อน 700 – 750 องศาเซลเซียส   ด้วยฟืนประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง รอจนเย็นแล้วก็นำมาใส่เข่งส่งจำหน่าย

หากสนใจและต้องการทราบประวัติศาสตร์ชามตราไก่เพิ่มเติม สามารถเรียนรู้ได้ที่ 'พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี'

ที่มา : พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดีIndra Outlet , เทคโนโลยีชาวบ้าน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related